คุยกับทูต : อาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด วันปากีสถาน มิตรภาพ ความร่วมมือ (ตอนจบ) “ความทรงจำที่ดีต่อไทย”

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าอาหารไทย คือแรงกระตุ้นสำคัญให้ชาวต่างชาติอยากมาเที่ยวเมืองไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก เนื่องจากรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และความอร่อยที่ไม่แพ้อาหารของชาติใดในโลก

“ผมคิดว่าอาหารไทยเข้ากันได้ดีกับรสนิยมของเรา คนปากีสถานจึงชอบอาหารไทยมาก อาหารไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยม เช่น ส้มตำ ต้มยำ รวมทั้งแกงกะทิต่างๆ นั้น เป็นอาหารจานโปรดของผม เพราะส่วนประกอบในการปรุงอาหารที่เรานิยมใช้ ก็มีแพร่หลายในอาหารไทยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นมะพร้าว สับปะรด มะนาว มะขาม ซึ่งผมชอบเป็นพิเศษ และเราก็คุ้นเคยกับอาหารรสจัด จึงสามารถปรับให้เข้ากับอาหารไทยได้เป็นอย่างดี” ท่านทูตอาซิม อาหมัด กล่าวถึงอาหารไทย

อาหารไทยเป็นที่รู้จักแพร่หลายและยังได้รับการยอมรับในระดับสากลมากขึ้นด้วย เป็นการผสมผสานระหว่างรสนิยมและคุณสมบัติทางยาอย่างกลมกลืน เนื่องจากส่วนผสมส่วนใหญ่เป็นผักและสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ข่า โหระพา และกระเทียม

ยิ่งไปกว่านั้น คุณภาพพิเศษของอาหารไทยคือความสามารถในการสะท้อนคุณค่าหลัก 3 ประการ ได้แก่ คุณค่าทางโภชนาการ วัฒนธรรม และการแพทย์ ด้วยการใช้วัตถุดิบสดใหม่ ความสามารถทางธรรมชาติที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีในวิธีการปรุงอาหาร และเทคนิคการนำเสนอ มีการใช้สมุนไพรและเครื่องเทศอย่างเต็มที่ อาหารไทยจึงเป็นอาหารที่น่าสนใจทางตา จมูก และเพดานปาก เพราะคนไทยใส่ใจในรายละเอียดในการเตรียมอาหารแต่ละขั้นตอน

การปรุงอาหารไทยจึงจัดได้ว่าเป็นศิลปะและเป็นส่วนสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันร้านอาหารไทยและอาหารไทยมีอยู่เกือบทั่วโลกโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเมนูเด็ด คือต้มยำกุ้ง มักอยู่ในอันดับต้นๆ ของรายการแน่นอน

 

ทูตอาซิม อาหมัด บอกอีกว่า “สำหรับสถานที่ท่องเที่ยว เราเคยไปสถานที่ดังๆ ในกรุงเทพฯ มาแล้วเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ พระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์ วัดอรุณ เรามีความสุขมากที่ได้ไปเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า เรายังชอบนั่งเรือไปตามแม่น้ำเพราะได้เห็นทิวทัศน์ที่สวยงาม”

“ภริยาของผมสนใจการตกแต่งบ้านและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์แต่ราคาไม่แพง เราจึงไปตลาดนัดจตุจักรกันบ่อยและเดินเตร็ดเตร่ไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ นับเป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่ง”

“นอกจากเดินทางเป็นวันเดย์ทริปรอบๆ กรุงเทพฯ หลายครั้งแล้ว เรายังเดินทางไปต่างจังหวัดและมีความสุขกับการเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ได้ความรู้เกี่ยวกับระดับการพัฒนา กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์พิเศษ สถานที่ท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของพื้นที่เหล่านั้น โดยมีโครงสร้างพื้นฐานและบริการเป็นที่น่าประทับใจ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก”

“ผมยังได้พบว่า การบริหารราชการส่วนภูมิภาคมีประสิทธิภาพมากทีเดียว ทุกสถานที่มีบางสิ่งที่เป็นพิเศษเกี่ยวกับสถานที่นั้น เราเคยไปอยุธยา เชียงใหม่ เชียงราย แม่สอด พิษณุโลก บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต พัทยา ระยอง เป็นต้น ส่วนที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ก็คือหัวหิน ซึ่งเราชอบ และโดยเฉพาะที่เขาใหญ่มีอากาศดี”

 

ความทรงจำพิเศษช่วงเวลาที่อยู่ในประเทศไทย

“เรามีความสุขตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย เป็นความยินดียิ่งที่ได้มาประจำที่นี่ และเราจะเก็บรักษาความทรงจำที่สวยงามนี้ไว้ ขณะที่มิตรภาพก็ยังคงดำเนินต่อไป”

“แม้งานจำนวนมากได้รับผลกระทบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่ผมก็พึงพอใจกับสิ่งที่เราประสบความสำเร็จในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เรามาถึงประเทศไทยในช่วงเวลาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีความสำคัญสำหรับประชาชน โดยเป็นช่วงแห่งการถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เราได้เห็นการแสดงออกถึงความรัก ความเคารพและความชื่นชมพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เคารพสูงสุดของประชาชนชาวไทยนับล้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าประทับใจอย่างแท้จริง และเรายังรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 สิ่งเหล่านี้จะเป็นความทรงจำอันงดงามที่สุดพิเศษเสมอ”

“ผมขอใช้โอกาสนี้เน้นย้ำถึงการมีส่วนร่วมอันสำคัญที่ชุมชนไทย-ปากีสถานนำมาสู่การสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศและประชาชนของเรา เมื่อคนปากีสถานรุ่นก่อนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยและได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี จนมีความเจริญรุ่งเรืองและมีบทบาทในการพัฒนาและความก้าวหน้าของประเทศไทย พวกเขาเหล่านั้นมีชื่อเสียงในด้านต่างๆ กันได้แก่ เกชา เปลี่ยนวิถี นักแสดงภาพยนตร์ไทย เป็นชาวไทยมุสลิมเชื้อสายปาทานที่หล่อเหลา แพท ณปภา เป็นนักแสดงและพิธีกรสาวชาวไทย ที่มีเชื้อสายปากีสถาน และอีกหลายคนที่โดดเด่นในแวดวงธุรกิจ และการเมืองระดับชาติ บางคนเป็นวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเราภูมิใจในตัวพวกเขามาก”

ท้ายสุด ท่านทูตอาซิม อาหมัด กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันว่า

“ในโอกาสวันปากีสถานของสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานเมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า มิตรภาพและความร่วมมือที่มีอยู่ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน จะเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งสองประเทศ”

 

ประวัติ
นายอาซิม อิฟติกาห์ อาหมัด
เกิด : วันที่ 27 พฤศจิกายน 1966 ที่เมืองละฮอร์ (Lahore)การศึกษา1991 : สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (University of Engineering and Technology, Lahore) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (เหรียญทอง)1988 : สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปัญจาบ (University of the Punjab, Lahore) (เหรียญทอง)ประสบการณ์การทำงาน

2017 : เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำราชอาณาจักรไทย และผู้แทนถาวรประจำคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP)

2014-2017 : อธิบดี (สหประชาชาติ) กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

2012-2014 : ผู้ประสานงานทางการเมืองของปากีสถานในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

2010-2011 : ผู้อำนวยการ (สภาความมั่นคงและสิทธิมนุษยชน) แผนกสหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

2009-2010 : ผู้ช่วยเลขานุการของประธานการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 64 สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

2009 : ผู้อำนวยการกระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

2003-2009 : ที่ปรึกษาคณะผู้แทนถาวรของปากีสถานประจำสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก

2002 : เจ้าหน้าที่ส่วนงานสหประชาชาติ กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

2000-2002 : เจ้าหน้าที่ส่วนงานบุคคล กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

1997-2000 : เลขานุการโท / Cd”A a.i สถานเอกอัครราชทูตปากีสถาน เมืองนีอาเม (Niamey) ประเทศไนเจอร์ (Niger)

1996-1997 : เจ้าหน้าที่ส่วนงานแอฟริกา กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

1995-1996 : เจ้าหน้าที่ส่วนงานยุโรป กระทรวงต่างประเทศ กรุงอิสลามาบัด

สถานภาพ : สมรสกับนางแอสมา (Mrs. Asma) มีธิดาสามคน

กีฬา : กอล์ฟ เทนนิส สนุ้กเกอร์ และคริกเก็ต