อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ร้านหนังสือ “Wild Dog” หมาขบถจากสตูลสู่ขอนแก่น

อนุสรณ์ ติปยานนท์ / [email protected]

 

In Books We Trust (7)

 

ตาม Wild Dog ไปไกลสุดหล้า

 

ขอนแก่น-2561 หัวมุมถนนชีท่าขอนตัดกับถนนหลังเมือง

ร้านหนังสืออยู่ตรงนั้น มืดทึบเมื่อมองจากด้านนอก

แม้ว่าจะอยู่ตรงหัวมุมถนน ทว่ารถราทั้งหลายที่วิ่งผ่านไปมาในเมืองก็ดูจะแล่นผ่านร้านดังกล่าวไปอย่างไม่ไยดี

ในเวลากลางวัน การจอดรถดูเป็นเรื่องยากที่จะไม่ผิดการจราจร ผู้คนจึงดูแล่นผ่านมันไป

แต่ในเวลากลางคืนเล่า มีรถราจอดบ้างหรือไม่ นั่นคือคำถามในใจของผม

แต่ก็นั่นเอง ร้านหนังสือย่อมไม่ใช่ร้านอาหารที่ต้องมีความกังวลในเรื่องของที่จอดรถ

คุณไม่จำเป็นต้องมาเยือนร้านหนังสือในยามเที่ยงหรือยามเย็น

คุณมาร้านหนังสือเฉพาะในยามที่คุณต้องการ “อ่านหนังสือ”

 

เดินเข้ามาภายในร้าน บรรยากาศภายในร้านดูเป็นห้องคูหาเดียวทั้งที่เป็นห้องสามคูหา

หนังสือทั้งหลายอยู่บนชั้นที่วางติดกับฝาผนังด้านหนึ่ง

ถัดมาไม่ไกลนักเป็นโต๊ะและเก้าอี้ของผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสือ มีแจกันใส่ดอกไม้วางอยู่บนโต๊ะ บ่งบอกว่าผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสือมีความละเอียดอ่อนและใช้โต๊ะตัวนั้นอย่างจริงจังไม่ใช่เพียงแค่การวางมันไว้ประดับห้อง

ด้านหลังของโต๊ะหนังสือมีกำแพงที่เจาะช่องให้เราเดินเข้าไปด้านหลังได้ ด้านหลังนั้นว่างโล่ง ตรงกลางร้านมีที่นั่งและโต๊ะพอให้เรานั่งเงียบๆ กับหนังสือเล่มโปรดได้

เรามองไปรอบๆ อาจคาดหวังให้มีเครื่องดื่มกาแฟแบบที่ร้านหนังสือทั่วไป

แต่ที่นี่มีเพียงชาซองบริการ เครื่องดื่มที่พึ่งพาเพียงน้ำร้อนและความใส่ใจ

ผมไปร้านหนังสือ Wild Dog เป็นครั้งแรกเมื่อสามปีก่อน

ช่วงเวลาตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ร้านหนังสือแห่งนี้เตรียมตัวอำลาพื้นที่เดิมของมัน เจ้าของร้านคือ บุรินทร์ฑร ตันตระกูล หรืออ๊บ บอกกับผมในวันนั้น ใบหน้าของเขาที่เต็มไปด้วยหนวดเครา ผมที่ยาวสลวย ทำให้เขาแลดูเหมือนเจ้าของบาร์เครื่องดื่มมึนเมามากกว่าร้านหนังสือ

แต่เมื่อเริ่มต้นพูดคุยกันถึงหนังสือที่มีอยู่ภายในร้านของเขา ความรู้สึกดังกล่าวก็หมดไป

ความรู้สึกรักและหลงใหลในหนังสือของเขาปรากฏขึ้นท่ามกลางการสนทนา

ผมออกจากร้านพร้อมกับหนังสือที่ว่าด้วยตำนานสินไซหรือสังข์สินชัย หนังสือภายในร้านของเขานอกจากหนังสือทั่วไปยังมีหนังสือที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นโดยเฉพาะวัฒนธรรมอีสานอีกหลายต่อหลายเล่ม

ในตอนนั้น ผมยังไม่คุ้นเคยกับเขา

 

-กันยายน 2561 ช่วงเวลาแห่งการจากพื้นที่เดิม-

ช่วงต้นปี 2562 ผมกลับไปขอนแก่นอีกครั้ง แต่ในครานี้เมื่อไปเยือนร้าน Wild Dog อีกครั้ง ร้านดังกล่าวหลงเหลือเพียงแต่ความเงียบ ประตูร้านถูกปิด แสงไฟหน้าร้านมืดสนิท

ใครบางคนที่เป็นเพื่อนร่วมทางในวันนั้นบอกผมว่าผู้เป็นเจ้าของร้านบอกเลิกสัญญาเพราะค่าเช่าที่ชวนให้หนักใจและเขากำลังหาร้านใหม่อย่างจริงจัง

ปลายปี 2562 ผมเดินทางไปขอนแก่นอีกครั้งเพื่อเข้าชมงานแสดงศิลปะที่มีชื่อว่า “ขอนแก่น manifesto” ซึ่งจัดขึ้นโดยอาจารย์ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะและครูด้านศิลปะที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในหมู่คนรักศิลปะ

หลังงานผมมีโอกาสได้พบกับ “อ๊บ” อีกครั้งผ่านทางการนัดหมายโดย “เพตรา วิเศษรังสี” นักเขียนสาวรุ่นใหม่

“อ๊บ” ในวันนี้ยังอยู่ภายใต้หนวดเคราและเส้นผมยาวสลวยเหมือนเดิม

ที่แตกต่างออกไปคือเขาเปิดร้านหนังสือ Wild Dog อีกครั้งหนึ่ง ครานี้มันอยู่ในสถานที่ที่เงียบสงบในซอยศรีจันทร์ 10/1 ด้านหน้าซอยเป็นเรือนจำกลางของจังหวัดขอนแก่น

ไม่ไกลนักเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ทำให้ติดกับร้านเป็นที่จอดรถขนาดใหญ่ ไม่มีความกังวลเรื่องที่จอดรถอีกต่อไปหากคุณจะไปที่นั่นเพื่อ “ค้นหาหนังสือ”

คืนนั้นเองเป็นคืนที่ผมมีบทสนทนากับ “อ๊บ” อย่างมากมาย ผมได้ทราบว่าเขาเป็นชาวสตูลโดยกำเนิด ดังนั้น การเปิดร้านหนังสือที่ขอนแก่นจึงดูมีที่มาที่ไปอย่างน่าสนใจมาก

 

“คุณเป็นคนสตูลทำไมถึงมาเปิดร้านไกลถึงที่นี่?”

“ผมตั้งโจทย์ง่ายๆ ว่าจะไม่อยู่ที่ภาคใต้ซึ่งเป็นที่เกิดของผมหรือกรุงเทพฯ ที่ผมเรียนและทำงานประจำมาระยะหนึ่ง ถ้าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็อยากหาสถานที่ใหม่ไปเลย ผมคิดแบบมูซาชิซึ่งเป็นนักดาบพเนจรว่าถ้าเราจะออกผจญภัยก็ต้องไปให้ไกลจากที่เราคุ้นชิน ผมลองไปมาแล้วทางภาคเหนือก็พบว่าที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองใหญ่มีร้านหนังสืออยู่มากพอควรแล้ว เลยลองเบนมาทางอีสาน พอมาขอนแก่นก็ชอบ ก็เลยคิดว่าเอาที่นี่แหละ”

“การไม่ใช่คนในพื้นที่มีผลไหมต่อการหาที่เปิดร้านหนังสือสักร้าน?”

“ยากมาก ผมใช้วิธีเดิน เดินอย่างเดียว เดินไปในเมืองขอนแก่น เข้าตรอกนั้น ออกซอยนี้ จดไว้ว่าตรงนั้นพอเข้าเค้า ดูไว้ว่าตรงนั้นพอใช้การได้ แต่ละวันนี่ผมเดินนับเป็นสิบกิโลทีเดียว”

“ในที่สุดก็ได้ที่เปิดร้านครั้งแรกตรงหัวมุมถนนชีท่าขอน?”

“ใช่ครับ ผมคิดว่าที่มันสวย อยู่ตรงหัวมุม ใครผ่านไปผ่านมาก็เห็น ไม่นับว่ามีโรงเรียนแถวนั้น เด็กหรือผู้ปกครองก็น่าจะเข้าร้านหนังสือบ้าง”

 

“ตั้งใจที่จะใช้ชื่อ Wild Dog แต่แรกไหม และหมายความว่าอะไร?”

“ตั้งใจแต่แรก คำนี้มันมาจากการคิดของผมที่ว่าคำว่า Dog ซึ่งแปลว่าหมาเป็นคำที่ทุกคนรู้จักกันดี ส่วนคำว่า Wild นี่ผมคิดถึงความเป็นขบถ เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ คือจงใจว่าจะไม่เอาคำในวรรณกรรมหรือคำที่ข้องเกี่ยวกับร้านหนังสือ ต้องการให้เป็นคำที่กลางที่สุด ก็เลือกคำนี้ มีคนถามตลอดว่าแปลว่าหมาป่าไหม หมานั้นหมานี่ไหม จริงๆ ถ้าแปลก็คือหมาขบถ”

“หมาขบถ?”

“ใช่ครับ”

“แต่ก็อยู่ที่นั่นได้ไม่นานใช่ไหม เพราะอะไร?”

“ราวสองปี ปิดร้านนี่จำได้แม่น เป็นช่วงเดือนกันยายน 2561 ที่ปิดเพราะราคาค่าเช่ามันเอาการอยู่ และที่คาดว่าอยู่ใกล้โรงเรียนจะมีคนมาเข้าอะไรนี่ไม่มีเลย พอขายหรือทำยอดไม่ได้ ก็ท้อ บางทีก็ปิดร้านไปนั่งเงียบๆ ว่าจะเอาอย่างไรดี จนในที่สุดก็คิดว่าพอ หาที่ใหม่ที่ราคาค่าเช่าเบากว่านี้ ก็ปิดร้านไปเกือบเก้าเดือนก่อนที่จะเปิดร้านใหม่อีกครั้งช่วงมิถุนายน 2562”

“ครานี้ได้ที่ในซอย เป็นซอยศรีจันทร์ 10/1”

 

ผมไปเยือนร้าน Wild Dog ในซอยศรีจันทร์ 10/1 ในวันรุ่งขึ้น ขนาดของร้านไม่ได้กว้างขวางกว่าเดิม หากแต่ภายในร้านแลดูสว่างไสวด้วยผนังกระจกสองด้าน หนังสือถูกจัดเป็นระเบียบ มีที่นั่งด้านหน้าเป็นร้านอาหารตามสั่งเล็กๆ หนึ่งร้าน อากาศภายนอกร้านโปร่งสบาย ไม่นับต้นจามจุรีหรือต้นก้ามปูขนาดใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านอยู่เบื้องนอก ผมสนทนาต่อกับ “อ๊บ” ที่ร้านใหม่หลังเห็นชั้นหนังสือที่อุทิศให้กับงานหนังสือของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล

“คุณมีหลักในการเลือกหนังสืออย่างไร?”

“ผมเอาความสนใจของตนเองเป็นหลัก ผมถามตนเองในฐานะคนอ่านว่าผมอยากอ่านอะไร อย่างผมชอบวรรณกรรมที่ใช้ความคิด ในร้านก็จะมีงานของเฮอร์มันน์ เฮสเส ของฟิตเจอรัลด์ อย่างการเมือง สังคม ผมชอบความคิดของอาจารย์วรเจตน์ อาจารย์ธงชัย ก็จะมีหนังสือเหล่านี้ในร้าน”

“สนใจความต้องการของผู้อ่านด้วยไหม?”

“สนใจ ตรงนี้ก็เลยต้องพยายามสร้างจุดสมดุลให้เกิดขึ้น เอาความต้องการของเรา ของคนอ่านมาเจอกันให้ได้ ผมพยายามสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการหนังสือเพื่อเอาปรับใช้กับร้านของเรา”

“อย่างปรากฏการณ์ ‘จินยองอ่าน’ ที่มาจากนักร้องเกาหลี ทำให้ผมได้เห็นรายชื่อหนังสือแบบที่เราไม่เคยสนใจ ก็สั่งหนังสือแนวนั้นมาที่ร้าน เป็นการปรับตัวตามคนอื่นที่ดีมากอันหนึ่งเลย”

 

“กลับมาเปิดร้านหนังสือครั้งใหม่นี่ เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการหนังสือบ้าง?”

“กลับมาเปิดร้านครานี้ ผมพบว่าหนังสือแนวเศรษฐกิจ การเมือง สังคมเป็นที่สนใจมากๆ อย่างหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มีเด็กนักเรียนมาซื้อเอาไปอ่านกันอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขอนแก่นมีกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เยาวชนในขอนแก่นมีการตื่นตัว ซึ่งน่าสนใจมากๆ เอาง่ายๆ หนังสือเล่มไหนที่มีข่าวทางรัฐหรือทางเจ้าหน้าที่จับตา วันรุ่งขึ้นจะมีคนมาถามหาแล้ว”

“และกลุ่มคนจากทางรัฐมาซื้อที่นี่ไหม?

“ไม่ ผมพบว่าถ้าดูลักษณะภายนอก เจ้าหน้าที่จะไปซื้อตามงานกิจกรรมมากกว่า อย่างครั้งหนึ่งผมไปออกร้านในงานกิจกรรมการเมือง หนังสืออย่าง ‘ราษฎรกำแหงหรือเมื่อฉันถูกเรียกปรับทัศนคติ’ คนซื้อนี่มองออกจากทรงผมเลยว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแน่ๆ”

ผมจบคำถามว่าการเป็นร้านหนังสือเชิงความคิดตามที่เขาตั้งใจนั้น ร้านหนังสือจะประสบความสำเร็จได้ยากไหมในระยะยาว

“อ๊บ” บอกผมว่า ที่เขาห่วงกลับไม่ใช่เรื่องนั้น เขาห่วงว่าร้านของเขายังสร้างความเชื่อมโยงกับชุมชนได้ไม่มากพอ นอกจากคนต่างถิ่นที่เข้ามาซื้อหนังสือและกลุ่มเยาวชนแล้ว ผู้คนในพื้นที่แทบไม่มีใครเข้ามาในร้านหนังสือของเขาเลย

ผมบอกลาเขาในบ่ายวันนั้นโดยหลงลืมคำถามสำคัญไป

อันได้แก่คำถามที่ว่า “เพราะอะไรเขาจึงคิดทำร้านหนังสือ?”