โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงปู่แจ้ง ปุณณจันโท วัดประดู่ อำเภออัมพวา

(ซ้าย) หลวงปู่แจ้ง ปุณณจันโท (ขวา) เหรียญหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ รุ่นแรก

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

หลวงปู่แจ้ง ปุณณจันโท

วัดประดู่ อำเภออัมพวา

 

“หลวงปู่แจ้ง ปุณณจันโท” อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 4 ของวัดประดู่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระเถราจารย์ยุคเก่า ผู้มีพุทธาคมเข้มขลัง มีตบะบารมีแก่กล้า

เล่ากันว่า หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เคยธุดงค์มาต่อวิชาด้วย ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันถึงพุทธาคมของหลวงพ่อเป็นอย่างดี

เท่าที่ทราบกันดี มีแต่เครื่องรางเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเชือกคาดเอว (ตะขาบไฟไส้หนุมาน) มีดหมอ พระเนื้อดิน และน้ำมนต์

สำหรับเหรียญรุ่นแรก สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2500 รุ่นนี้นับเป็นเหรียญรุ่นแรก เพราะช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ยังไม่เคยมีการจัดสร้างแต่อย่างใด แต่ได้พระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้นร่วมปลุกเสกมากมาย

สร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือน ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เขียนว่า “หลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ “นะโม พุทธายะ อะระหัง” บนสุดมีอุณาโลม

หลังจัดสร้างแล้วเสร็จ ปรากฏว่าได้รับความนิยม ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังมรณภาพไปแล้วก็ตาม

ปัจจุบันเริ่มหายาก ส่วนใหญ่ถูกตามเก็บเข้ากรุ

เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีการจดบันทึกประวัติไว้อย่างชัดเจน มีแต่เพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น

 

วัดประดู่เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าคงสร้างในราวปลายกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ.2320 จากการค้นคว้าทางวิชาการ พอจะถือได้ว่าวัดประดู่เป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งในย่านจังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติวัดประดู่ อดีตเจ้าอาวาสที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นมาที่วัดคือหลวงปู่แจ้ง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส มีผู้รู้ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า

ในหลวงรัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสต้นทางน้ำ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2447 โดยเรือพระที่นั่งผ่านคลองหน้าวัดประดู่ และทรงแวะทำครัวเสวยและพระกระยาหารเช้า พระองค์ทรงนึกแปลกใจว่า เพราะเหตุใดชาวบ้านจึงได้มาชุมนุมกัน ณ ที่ศาลาท่าน้ำกันมาก จึงตรัสให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพไปสอบถามพวกชาวบ้านที่มาชุมนุมกัน

จึงได้ความว่า หลวงปู่แจ้ง เจ้าอาวาสวัดนี้ เป็นพระที่มีวิชาอาคมสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ และที่เลื่องชื่อที่สุดก็คือน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ บุคคลใดที่โดนผีเข้าหรือโดนคุณไสย ถ้าได้มารับน้ำมนต์แล้วจะได้ผลทุกรายไป ผีตัวใดก็ไม่อาจทนอยู่ได้

ส่วนยาศักดิ์สิทธิ์นั้นก็เช่นกัน ทำขึ้นจากใบมะกาใช้คู่กับน้ำมนต์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว ท่านก็เสด็จออกจากวัดประดู่

จากนั้นมาไม่นาน หลวงปู่แจ้งก็ได้รับนิมนต์เข้าไปในพระราชวัง เพื่อรักษาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นภูธเรศดำรงค์ศักดิ์

เมื่อหลวงปู่แจ้งถวายการรักษาเสร็จจนมีพระอาการดีขึ้น ทำให้ทรงเลื่อมใสในความสามารถ ก่อนจะลากลับจึงพระราชทานเครื่องอัฏฐบริขาร เตียงบรรทม เก๋งเรือ ปิ่นโต ฯลฯ ให้เป็นที่ระลึก

พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มายังวัดประดู่ตามประวัติศาสตร์นั้น พระองค์ได้ทรงถวายเครื่องราชศรัทธาที่น่าสนใจไว้แก่วัดอีกหลายชิ้นด้วยกัน

ทางวัดประดู่จึงได้รวบรวมสิ่งของที่ได้รับพระราชทานเหล่านั้นจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา รัชกาลที่ 5 เพื่อเก็บดูแลรักษาสิ่งของเหล่านี้ให้ทรงคุณค่าอยู่ตราบนานเท่านาน และเพื่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ชม ได้ศึกษา รวมถึงร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่กับชาววัดประดู่ตลอดไป

 

ตามประวัติเล่ากันว่า หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ได้เรียนทางแพทย์แผนโบราณ มีดหมอปราบภูตผีปีศาจ ทางมหาประสาน เชือกคาดชื่อตะขาบไฟหรือไส้หนุมาน มาจากหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่นี่เอง

หลวงปู่แจ้งรักษาคนด้วยตัวยาสมุนไพรเพียงไม่กี่ชนิดคือ ใบมะกากับข่าพร้อมคาถาเสก ถ้าคนที่มารักษายังไม่หมดอายุ ท่านจะรับรักษาและต้มยาให้กินแล้วโรคก็จะหาย นอกเสียจากท่านตรวจดูแล้วรู้ว่าคนคนนั้นหมดอายุ ท่านก็จะไม่รักษาให้

นอกจากยาใบมะกากับข่าเสกแล้ว สิ่งที่ขึ้นชื่อเมื่อเอ่ยถึงหลวงปู่แจ้งอีกอย่างหนึ่งก็คือ “น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์”

น้ำมนต์หลวงปู่แจ้ง เล่ากันว่า เมื่อรดใครแล้วหายจากโรคทุกคน ไม่ว่าจะถูกคุณไสย ลมเพลมพัด เป็นบ้าเสียสติอย่างไร เมื่อมารดน้ำมนต์ที่วัดประดู่กลับไปแล้วหายทุกคน เรียกว่าเข้มขลังและศักดิ์สิทธิ์มาก

มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งหลวงปู่แจ้งรับอาราธนาเข้าไปในวัง ท่านเดินเข้าไปถึงที่ประตูวัง ประกอบกับท่านห่มจีวรเก่าๆ ทำให้ทหารยามที่ยืนเฝ้าปากประตูไม่ยอมให้ท่านเข้า จึงบอกว่าในหลวงรัชกาลที่ 5 นิมนต์ จะเข้าไปสวดมนต์ ท่านว่า “ในหลวงนิมนต์ฉันมา ฉันจะเข้าไปสวดมนต์ ดูสิฉันยังเตรียมพัดมาด้วยเลย” พร้อมทั้งเปิดพัดให้ดู ทหารยามถึงกับตกตะลึง เพราะตาลปัตรที่หลวงปู่ถือเป็นตาลปัตรมีตราประจำพระองค์ (พัดปักดิ้นทองตราพระนารายณ์ทรงครุฑ) ทหารยามคนนั้นจึงต้องรีบนำหลวงปู่ไปส่งถึงด้านใน

เมื่อไปถึง หลวงปู่แจ้งสำนึกตัวเป็นพระผู้น้อย จึงขึ้นนั่งบนอาสนะหลังสุด ประกอบกับไปถึงก่อน สังฆการีเห็นเข้าก็กราบบังคมทูล ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปนั่งอันดับสองรองจากสมเด็จพระสังฆราช แต่นั่งหน้าสมเด็จพระราชาคณะหลายรูป

มรณภาพลงในช่วงปี พ.ศ.2465-2472 สำหรับอัฐินั้น วัดประดู่ยังเก็บรักษามาจนถึงทุกวันนี้