หลังเลนส์ในดงลึก : เสือโคร่งกับโลก

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

29 กรกฎาคม

วันนี้คือวัน “เสือโคร่งโลก”

หลักจากทุกๆ วันมีวันโน่นวันนี่ วันนี้คนจะได้รับรู้ว่าเป็นวันเสือโคร่ง

จะได้รู้จักมากขึ้นว่าเสือโคร่งมีความสำคัญอย่างไร เมื่อพวกมันอยู่ในป่า และได้ใช้ชีวิตตามวิถี

เสือโคร่ง หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “เสือลายพาดกลอน” จัดอยู่ในสัตว์ประเภทแมวที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ในบรรดาสัตว์จำพวกแมวทั้งหมด

ลำตัวมีสีเทาแถบเหลืองหรือน้ำตาลอมเหลือง แต่ละตัวจะมีลายแถบปรากฏบนหลังและด้านข้างของลำตัว แตกต่างกัน

ลวดลายนี้ เปรียบได้กับลายมือของคน คือจะไม่มีเสือตัวใดเหมือนกัน ความแตกต่างของลายนี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถแยกเสือแต่ละตัวได้

ขนใต้ท้อง คาง และคอ เป็นสีขาว ขนเหนือตาสีขาว และมีแถบสีดำ หางมีแถบดำเป็นบั้งๆ ตั้งแต่โคนถึงปลายหาง

เสือโคร่งตัวผู้ขนาดใหญ่ อาจมีน้ำหนักมากกว่า 300 กิโลกรัม

เสือโคร่งได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างเหมาะสมกับการเป็นนักล่า

พวกมันมีประสาทการได้ยินและการมองเห็นดี สัตว์จำพวกแมว เช่น เสือ จะมองเห็นภาพต่างๆ เป็นภาพสีเช่นเดียวกับคน ซึ่งแตกต่างจากสัตว์กินเนื้อประเภทอื่นที่มองเห็นเป็นภาพขาวดำ ส่วนประสาทการดมกลิ่นของเสือโคร่ง ว่าตามจริง ค่อนข้างด้อยเมื่อเปรียบเทียบกับอวัยวะรับสัมผัสอย่างอื่น

เสือโคร่งมีการกระจายพันธุ์กว้างขวาง ทำให้มีผลต่อลักษณะของเสือโคร่งในแต่ละท้องถิ่นตามสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ นักสัตวศาสตร์ได้จำแนกเสือโคร่งออกเป็นสายพันธุ์ หรือชนิดย่อยต่างๆ ตามลักษณะและถิ่นที่อยู่ออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย

ดังนี้

1. เสือโคร่งบาหลี
2. เสือโคร่งชวา
3. เสือโคร่งแคสเปียน
4. เสือโคร่งอินโด-ไชนีส
5. เสือโคร่งเบงกอล
6. เสือโคร่งไซบีเรีย
7. เสือโคร่งเซาธ์ไชน่า และ
8. เสือโคร่งสุมาตรา

เสือโคร่งทั้ง 8 สายพันธุ์มีความแตกต่างกันที่ขนาด สี และลักษณะลาย เสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เสือโคร่งไซบีเรีย ขนาดเล็กที่สุดคือเสือโคร่งบาหลี

เสือโคร่งซึ่งอยู่ค่อนไปทางซีกโลกเหนือมีขนสีอ่อนกว่าชนิดซึ่งอยู่ทางซีกโลกใต้

เสือโคร่งไซบีเรียมีสีขนอ่อนที่สุด และเสือโคร่งบาหลีมีสีขนเข้มที่สุด

เสือโคร่งบางสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วคือ เสือโคร่งแคสเปียน, เสือโคร่งชวา และเสือโคร่งบาหลี

เสือที่แพร่พันธุ์อยู่ในประเทศไทยคือ เสือโคร่งอินโด-ไชนีส

 

ในป่า สัตว์ที่พบเห็นได้ยากมากคือเสือ

ดังนั้น สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้หัวใจผมเต้นแรงและต้องหยุดนั่งลงเพื่อบันทึกภาพทุกครั้งที่พบคือ รอยตีนเสือ

มีรอยตีน คือ หลักฐานยืนยันว่า ตัวตนเจ้าของรอยมีอยู่จริง

รอยตีนที่พบ บ้างมีขนาดย่อมๆ บ้างเล็ก หลายครั้งผมพบรอยขนาดใหญ่ อุ้งกว้างกว่า 8 เซนติเมตร นั่นหมายถึงรอยตีนเสือตัวผู้

เสือตัวผู้ซึ่งมักเดินตรวจตราอาณาเขตของมันตลอด ในอาณาเขตของมันจะมีตัวเมีย หรือเรียกง่ายๆ ว่า “เมีย” ของมันอยู่ 3 ถึง 4 ตัว

ช่วงเวลาที่ผมเริ่มทำงานใหม่ๆ รอยตีนที่พบ ผมพบว่าเป็นรอยเสือที่เดินอยู่เพียงลำพังเสมอ

กระทั่งเมื่อมีโอกาสได้ร่วมอยู่ในทีมศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

ผมก็เข้าใจมากขึ้นว่า นี่คือวิถีปกติของเสือโคร่ง

พวกมันจะอยู่กับแม่จนถึงอายุราวๆ 2 ปี จึงจะแยกตัวออกไปอยู่ลำพังแสวงหาพื้นที่ของตัวเอง

นั่นหมายถึงว่า ต้อง “แกร่ง” พอที่จะเบียดเจ้าของพื้นที่เดิมออกไป

วิถีชีวิตของพวกมันคล้ายจะมีความยากลำบากอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรก หลังจากแยกจากแม่เพื่อแสวงหาพื้นที่ต้องไปอยู่ในที่ไม่สมบูรณ์ จนกระทั่งแข็งแรงพอ

ช่วงที่สอง คือ เมื่อโดน “เบียด” ออกจากพื้นที่เพราะเริ่มอ่อนล้า

2 ช่วงเวลานี้สำหรับเสือคือความลำบาก

และพวกมันต้องผ่านพ้นไปให้ได้

ผ่านไปไม่พ้น หมายถึงชีวิตที่จบสิ้น

 

ภายในอาณาเขตซึ่งเสือตัวหนึ่งครอบครอง

ดูคล้ายจะเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับเสือตัวอื่นๆ ไม่มีการล้ำแดน

เจ้าของพื้นที่จะสื่อสารไว้ด้วยรอยคุ้ย รอยตะกุย และสเปรย์ หรือพ่นฉี่เอาไว้

ไม่มีการล้ำแดน ถ้ารู้ตัวว่ายังไม่เข้มแข็งพอ

“เสือ” จริงๆ นั้นจะหลีกเลี่ยงการต่อสู้ เพราะการต่อสู้ทำให้เกิดแผลเพียงเล็กๆ ก็อาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการล่า

แผลเล็กๆ ที่แมลงวันเข้ารุมตอม เลียไม่ถึง เกิดหนอนลุกลามไปใหญ่

หากล่าไม่ได้ หมายถึงชีวิตเสือย่อมถึงจุดจบ

ไม่เพียงแต่จะคุ้นชินอยู่ในอาณาเขตของตนเพียงลำพัง เสือมีชีวิตที่รักสงบ แต่ขณะลงมือล่า ด้วยทักษะอันเป็นเลิศ ท่าทีรักสงบจะเปลี่ยนแปลงเป็นท่วงท่าอันสุดอันตรายสำหรับเหยื่อ

สีขนและลวดลายตามลำตัว ดูเผินๆ จะเห็นได้ชัดเจน แต่นี่คือลวดลายที่ “พราง” ได้แนบเนียนมาก

เมื่อเสือหมอบ หรือนั่งนิ่งๆ

แม้อยู่ใกล้ๆ ก็ยากที่จะมองเห็น

หากเหยื่อรู้ตัว หลายครั้งที่เสือจะทำเป็นไม่สนใจ เดินเลี่ยงๆ ห่างไป

มีเพียงสายตาที่จะมองอยู่ตลอดเวลา

เรื่องหนึ่งที่ผมจำได้เสมอในชีวิตของการทำงาน

คือเหตุการณ์เย็นๆ วันหนึ่งขณะสายฝนพรำๆ ควายป่าฝูงหนึ่งที่อยู่ตรงหน้าซุ้มบังไพร ตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ ต่างลุกขึ้นเงยหน้าสูดกลิ่น ลูกควายตัวเล็กๆ ถูกแม่และพี่เลี้ยงเอาตัวเข้ามายืนตรงกลาง ตัวอื่นยืนเรียงเป็นแถว ป้องกันไว้อีกชั้นหนึ่ง

ราวครึ่งชั่วโมงจากนั้น เสือโคร่งตัวหนึ่งโผล่ออกมาจากชายป่า หลังจากซุ่มดูอยู่นาน

มันรู้ว่า ควายป่าฝูงนี้รู้ตัว และเตรียมการป้องกันไว้อย่างเข้มแข็งแล้ว

การเดินเลี่ยงๆ ออกไป คือสิ่งที่เสือตัวนั้นเลือก

“สมถะ” นี่เป็นคำใช้เรียกเสือได้เหมาะสม

ในป่า โดยศักดิ์ศรี เสือคือนักล่าหมายเลขหนึ่ง แต่การล่าของเสือเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

เมื่อได้เหยื่อมันจะใช้ซากอย่างคุ้มค่า

 

ผมทำงานในป่ามาระยะเวลานานพอสมควร

หนทางเดินในป่าหลายเส้นทางรกทึบ บางครั้งไต่ขึ้นเขาสูงมุดลงหุบและไต่ขึ้นไปใหม่

บางครั้งเส้นทางเดินสบายเป็นที่ราบ บางครั้งเมื่อเดินไปบนพื้นโคลนหรือทรายแม้จะเป็นพื้นที่ราบเรียบแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยกเท้าขึ้นเพื่อก้าวต่อไป

หลายครั้งมีมือเพื่อนร่วมทางเข้ามาช่วยพยุง

ทุกเส้นทางในป่ามีรอยตีนเสือให้เห็นอยู่เสมอๆ

ผมเคยพบเสือดาวซึ่งเป็นนักล่าอีกชนิด เสือดาวอาศัยอยู่ร่วมพื้นที่เดียวกับเสือโคร่งได้ เพราะเหยื่อของพวกมันต่างกัน

เสือดาวตัวนั้นนอนเงยหน้า อ้าปากไล่งับผีเสื้อตัวเล็กๆ เปิดโอกาสให้ผมนั่งดูอยู่นาน

ไม่เพียงได้เห็นความเป็นชีวิตแท้ๆ ของนักล่าตัวหนึ่งที่ไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาทำงานเท่านั้น

แต่เสือดาวตัวนั้นคล้ายจะสอนให้รู้ว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะก้าวออกมาให้พันจาก “กรง” ที่ขังเราไว้ออกมา

ประตูทางออกย่อมไม่ใช่ที่ลี้ลับ

เพราะเป็น “กรง” ที่เราสร้างมันขึ้นมาเอง

ผมบันทึกภาพมามาก เป็นภาพเสือดาวที่ดี เสือดาวเงยหน้า อวดเขี้ยวแหลมอยู่ลำพัง

กรอบของภาพแคบเกินกว่าจะเห็นว่าจุดหมายของสายตาที่เสือมองคือ ผีเสื้อ

คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

“ภาพ” ของเสือก็เป็นเช่นนี้


ไม่ว่าคนจะรู้จักเสืออย่างไร

เป็น สัตว์ดุร้าย อันตราย

เป็น นักล่าซึ่งอยู่บนสุด

เป็น ซากที่มีค่าชิ้นส่วนอวัยวะราคาแพง

ไม่ว่า “โลก” จะรู้จักหรือเข้าใจเสืออย่างไร

ไม่ว่า วันพรุ่งนี้จะเปลี่ยนเป็นวันอะไรก็ตาม

แต่ “โลก” จำเป็นต้องมีเสือ