การศึกษา/เจาะนโยบาย ‘ตรีนุช เทียนทอง’ แก้ปัญหาการศึกษาได้จริงหรือ??

การศึกษา

 

เจาะนโยบาย ‘ตรีนุช เทียนทอง’

แก้ปัญหาการศึกษาได้จริงหรือ??

 

การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของ “ครูเหน่ง” หรือ “ตรีนุช เทียนทอง” ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะไม่มีประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษา

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม แต่ครูเหน่งก็พร้อมทำงานทันที และเดินหน้าประกาศนโยบายการจัดการศึกษา 12 ข้อ ดังนี้

  1. การปรับปรุงหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ให้ทันสมัย และทันการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21
  2. การพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพครูและอาจารย์ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะทางภาษา และดิจิตอล
  3. การปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยดิจิตอลผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแห่งชาติ (NDLP) และการส่งเสริมการฝึกทักษะดิจิตอลในชีวิตประจำวัน
  4. การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารและการจัดการศึกษา โดยการส่งเสริมสนับสนุนสถานศึกษาให้มีความเป็นอิสระ และคล่องตัว การกระจายอำนาจการบริหาร และการจัดการศึกษาโดยใช้จังหวัดเป็นฐาน
  5. การปรับระบบการประเมินผลการศึกษา และการประกันคุณภาพ พร้อมจัดทดสอบวัดความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาทั้งสายวิชาการ และสายวิชาชีพ
  6. การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย
  7. นำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน สู่การปฏิบัติ
  8. การพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ได้รับการดูแล และพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาให้สมกับวัย
  9. การศึกษาเพื่ออาชีพ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
  10. พลิกโฉมระบบการศึกษาไทยด้วยการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการจัดการศึกษาทุกระดับการศึกษา
  11. เพิ่มโอกาส และการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา และผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

และ 12. การจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยยึดหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ ยังมี 7 วาระเร่งด่วน ดังนี้

  1. เรื่องความปลอดภัยของผู้เรียน
  2. หลักสูตรฐานสมรรถนะ
  3. Big Data
  4. ขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา หรือ Excellent Center
  5. พัฒนาทักษะทางอาชีพ
  6. การจัดเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพ และมาตรฐาน

และ 7. การจัดการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ

 

หลังประกาศนโยบายออกไป นักวิชาการ และคนในวงการศึกษา ต่างวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเสมา 1 อย่างมาก ซึ่งมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

ฟากฝั่งผู้ที่ไม่เห็นด้วย เริ่มจาก “นายสมพงษ์ จิตระดับ” นักวิชาการด้านการศึกษา ระบุว่า จากนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เป็นนโยบายที่ข้าราชการนำการเมือง เพราะ น.ส.ตรีนุชอาจจะไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษามาก

โดยมากกว่า 50% ของนโยบาย มองเรื่องของการสร้างพลเมืองยุคใหม่ นำสังคมดิจิตอลมาพัฒนาการศึกษา

แต่ไม่เห็นนโยบายที่จะปฏิรูประบบราชการ และไม่เห็นนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขปัญหาหมักหมกที่มีอยู่มากมายใน ศธ.แม้แต่น้อย

“นโยบายของ น.ส.ตรีนุชดูดี ครบถ้วน ครอบคลุมทุกประเด็นของปัญหาการศึกษา แต่ไม่ติดดิน ไม่ติดปัญหา ไม่ติดการปฏิรูปการศึกษา

เป็นนโยบายที่ลอยตัวจากปัญหา มองเห็นแต่อนาคต และถ้าขาดยุทธศาสตร์ การลงมือปฏิบัติ ก็จะทำให้นโยบายต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จ”

นายสมพงษ์ระบุ

 

ด้าน “นายวีรบูล เสมาทอง” ประธานสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) มองว่า นโยบายของ น.ส.ตรีนุช ไม่มีอะไรแปลกใหม่ องค์กรหลักของ ศธ.น่าจะช่วยกันร่างนโยบายนี้ให้ ทั้งนี้ ส.ค.ท.ขอเวลา 3 เดือนเพื่อดูการทำงานของ น.ส.ตรีนุช ซึ่งจะดูว่าเมื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติแล้ว จะเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่

ขณะที่ “นายศุภเสฏฐ์ คณากูล” นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) ระบุว่า นโยบายเร่งด่วน 7 ข้อ ถือเป็นนโยบายที่ดี และครอบคลุมปัญหาการศึกษาในปัจจุบัน ที่สำคัญต้องเร่งแก้ปัญหาธรรมาภิบาลภายใน ศธ.และเร่งสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้งรัฐและเอกชน และควรหาวิธีจัดสรรงบประมาณที่จะให้งบฯ ส่วนกลางลงไปพื้นที่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด ซึ่งการจัดสรรงบฯ จะต้องมีธรรมาภิบาลด้วย คือต้องไม่มีการเรียกกินเรียกเก็บ

“นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี” ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายของ น.ส.ตรีนุชไม่แปลกใหม่ แต่ต้องจับตาดูว่าการลงมือปฏิบัติ จะทำได้จริงหรือไม่ โดยนโยบายต่างๆ ต้องมีโรดแม็ปที่ชัดเจน มีทีมงาน ทีมที่ปรึกษา มีประสบการณ์ มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพเชื่อถือได้

“ในส่วนการพัฒนาอาชีวะก็ไม่ชัดเจน เท่าที่เห็นคือเน้นให้มีงานทำ มีรายได้ แต่ในความจริงแล้ว ปัญหาอาชีวะที่ควรได้รับการพัฒนา เช่น การพัฒนาครู นำครุภัณฑ์ที่ทันสมัยมาสอน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ควรเร่งแก้ปัญหาธรรมาภิบาล และการแต่งตั้งที่ไม่เป็นธรรมใน ศธ.ด้วย เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.กี่คน ก็แก้ไขไม่ได้”

นายเศรษฐศิษฏ์กล่าว

 

ฟากฝั่งคนที่เห็นด้วยกับการประกาศนโยบายของ น.ส.ตรีนุช คือ “นายวิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล ศธ.ออกตัวชมเสมา 1 คนใหม่ ว่านโยบาย 12 ข้อ และ 7 วาระเร่งด่วน ของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ถือว่าครอบคลุมเพียงพอ และสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร และนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

พร้อมกับเอ่ยปากชื่นชมว่ารัฐมนตรีว่าการ ศธ.เข้ามาทำงานเพียง 7 วัน ก็พิสูจน์ตัวเองได้ดีระดับหนึ่ง นั่นคือการเปิดใจกว้างรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มนักเรียน

ทั้งนี้ รองนายกฯ วิษณุยังได้ฝากงานให้รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ป้ายแดง ขับเคลื่อนอีกหลายเรื่อง เช่น ศธ.ต้องเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …

การกำกับดูแลมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม ของครูที่ปฏิบัติต่อนักเรียน ทั้งการล่วงละเมิดทางเพศ และการใช้ความรุนแรง

ปรับปรุงหลักสูตรและส่งเสริมการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาหน้าที่พลเมือง เน้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมไม่ใช่ท่องจำแบบเดิม ส่งเสริมการเรียนอาชีวศึกษา เพื่อให้คนเข้ามาเรียนมากขึ้น

พร้อมกับย้ำให้ปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่ เพราะ ศธ.เป็นกระทรวงที่ใหญ่ มีหลายแท่งมีข้าราชการระดับสูง ระดับ (ซี) 11 ถึง 4 ราย ทำให้การประสานงานอาจจะทำได้ไม่เต็มที่ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

เรียกได้ว่ามั่นใจความสามารถของเสมา 1 เต็มร้อย ว่าจะแก้ไขปัญหาการศึกษาได้ ถึงเข้ามาให้กำลังใจถึงที่

ซึ่งอาจเป็นการยืนยันว่า น.ส.ตรีนุชไม่ใช่รัฐมนตรีที่เข้ามาขัดตาทัพ หรือมาจากการแบ่งโควต้าทางการเมืองเพียงอย่างเดียว

แต่เป็นคนที่มีความสามารถ ทำให้กลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมให้เบาบางลง!!

ต้องจับตาดูต่อไปว่า ศธ.ภายใต้การนำของ “ตรีนุช เทียนทอง” จะมีทิศทางอย่างไร

สามารถฝ่าทุกวิกฤตปัญหาการศึกษาที่จะถาโถมเข้ามาได้หรือไม่!!