กระบวนการยื้อประชามติ??? แท็กติก ‘โควิด-19’ ทำสภาล่มไม่เป็นท่า รอลุ้นใหม่สมัยประชุมหน้า /บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

กระบวนการยื้อประชามติ???

แท็กติก ‘โควิด-19’ ทำสภาล่มไม่เป็นท่า

รอลุ้นใหม่สมัยประชุมหน้า

 

กว่าจะได้เห็นหน้าตาของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง กระบวนการได้มานั้นสุดจะลำบาก

ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. ต้องออกแรงขับแรงยื้อกันอยู่นาน จนเกิดอาการล้มลุกคลุกคลานและขลุกขลักอยู่หลายหน

เริ่มตั้งแต่การถกเถียงกันในห้องประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ความเห็นไม่ค่อยจะตรงกันสักที

มาจนถึงการขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญครั้งแรก เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติวาระที่ 2 เรื่องที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นอีกเมื่อจู่ๆ กมธ.เสียงข้างน้อยเกิดชนะโหวตในสภา ทำให้เนื้อหาในมาตรา 9 ของร่าง พ.ร.บ.ประชามติเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

นั่นคือการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อขอให้มีการออกเสียงทำประชามติได้ และให้อำนาจรัฐสภาในกรณีที่รัฐสภาได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงและได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ

ตรงนี้ทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติต้องสะดุดเป็นครั้งแรก เพราะความเปลี่ยนแปลงของมาตรา 9 นี้กระทบกับมาตราอื่นที่ตามมาด้วยอย่างน้อย 4 มาตรา คือ มาตรา 10, 11, 14 และ 15

ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาต้องหยุดการพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้ไว้กลางคัน เพื่อให้เวลากับทางกฤษฎีกาไปแก้ไขเนื้อหาในมาตราที่ได้รับผลกระทบ

จากนั้นจึงนำเข้า กมธ.พิจารณาหลังจากที่กฤษฎีกาแก้ไขเนื้อหามาอีกครั้ง

ซึ่งระหว่างนี้มีข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่า เนื้อหาในมาตรา 9 ที่เปลี่ยนไปนั้นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 166 หรือไม่

แต่จากการพูดคุยกันในชั้น กมธ. ทาง กมธ.ต่างเห็นตรงกันว่า ต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้ผ่าน จึงหาวิธีที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ประชามตินี้ขัดรัฐธรรมนูญให้น้อยที่สุด

ซึ่งทางกฤษฎีกาก็ได้ปรับแก้เนื้อหาได้อย่างรอบคอบรัดกุมด้วย

การขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติวาระ 2 จึงเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้กัน

 

ช่วงขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติวาระ 2 นี้ เริ่มพิจารณาต่อตั้งแต่มาตรา 10 เจอภาวะที่สภาเกือบล่ม เพราะ ส.ส.ในสภาหลายคนมาประชุมไม่ได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการติดโควิด-19 เคสทองหล่อ

โดยเฉพาะ ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยและ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่งที่ไปร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย จน ‘ฝ่ายค้าน’ ส.ว. ต้องแบกการประชุมตลอด 2 วัน

ขณะที่การพิจารณามาตรา 50 เรื่องการนับคะแนนเสียงประชามติ เมื่อมีการขอให้สมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุมก่อนลงมติ ปรากฏว่า มีสมาชิกเหลืออยู่แค่ 372 คน เกินองค์ประชุม 366 คน มาแค่ 6 คนเท่านั้น

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเองถึงกับต้องขอให้สมาชิกอยู่ในห้องประชุม ให้อดทนช่วยกันทำหน้าที่ แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น

จนกระทั่งมาถึงการพิจารณามาตรา 50/1 เรื่องการนับคะแนนเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร นายชวนกดออดให้สมาชิกแสดงตนเป็นองค์ประชุม

แต่ก็มีสมาชิกอยู่กันอย่างบางตา นายชวนต้องกดออดเรียกถึง 3 รอบ สมาชิกก็ยังไม่ยอมแสดงตน จนฝ่ายค้านต้องขอให้รับผิดชอบร่วมกัน นายชวนจึงกดออดเรียก ส.ส.ให้มาแสดงตนเป็นองค์ประชุมอีกเป็นครั้งที่ 4 มีสมาชิกมาแสดงตน 377 คน เกินองค์ประชุมมา 11 เสียง

ต่อมาเมื่อพิจารณามาถึงมาตรา 51 เรื่องการประกาศผลการออกเสียงประชามติ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. เสนอขอนับองค์ประชุม โดยการขานชื่อเรียงคน

แต่นายชวนขอร้องไม่ให้นับองค์ประชุม ทำให้ขณะนั้น ‘ฝ่ายค้าน’ เพียงไม่กี่คนที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านอยู่ ต้องรีบสั่งเบรกการประชุมพรรคร่วมไว้กลางคัน แล้ววิ่งลงมานั่งเป็นองค์ประชุม ซึ่งนายชวนเองก็รีบตัดบทเข้าสู่การประชุมต่อ

จนกระทั่งเข้าสู่การพิจารณามาตรา 53 เมื่อมีการแสดงตนเป็นองค์ประชุม มีสมาชิกอยู่แสดงตนแค่ 374 เสียง ทำให้นายชวนตัดสินใจพักการประชุม 10 นาที เพื่อเรียกผู้คุมเสียงจากทั้ง 3 ฝ่ายมาหารือกันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องจำนวนสมาชิกในห้องประชุม

แต่สุดท้ายแล้วองค์ประชุมก็ล่ม

 

ทําให้ ‘ฝ่ายค้าน’ ออกมาแฉว่า ก่อนหน้านี้องค์ประชุมก็ครบมาตลอด มาตราที่พิจารณากันก่อนหน้าตอนที่ให้แสดงตนองค์ประชุมก็ครบ

แต่เมื่อประธานรัฐสภาเรียกวิป 3 ฝ่ายออกไปหารือ ทาง ส.ว.มีท่าทีบ่ายเบี่ยง แม้ประธานจะขอให้ประชุมต่อแล้วถ้าไม่ไหวค่อยเลิก พอเข้าห้องประชุม ส.ว.ก็เลิกจริงๆ โดยที่ไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุม ทั้งที่เห็นๆ กันอยู่ว่ามี ส.ว.จำนวนหนึ่งทั้งที่นั่งอยู่บริเวณหน้าห้องประชุมและในห้องประชุมไม่กดแสดงตน

ส.ส.ฝ่ายค้านที่รีบวิ่งลงจากห้องประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านลงไปเป็นองค์ประชุมเดินกลับขึ้นห้องประชุมพรรคร่วมต่อ พร้อมกับแสดงความรู้สึกผิดหวังออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน

เพราะกว่าจะได้ พ.ร.บ.ประชามติออกมาใช้ ต้องรอนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในสมัยสามัญซึ่งต้องรออีกร่วม 2 เดือน กว่าจะได้พิจารณากันต่อ และแน่นอนว่ามีผลต่อการผลักดันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญด้วย

‘นายสุทิน คลังแสง’ ประธานวิปฝ่ายค้าน ถึงขนาดเอ่ยออกมาว่า “แสดงให้เห็นว่าเขากลัวการถามประชาชนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เลยพยายามหนี ซึ่งทางเดียวที่หนีได้ก็คือการพยายามทำให้ พ.ร.บ.ประชามติช้าออกไปให้ได้มากที่สุด ถ้าทำให้กฎหมายตกไปได้ก็คงทำไปแล้ว”

นอกจากนี้ ‘ฝ่ายค้าน’ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายปฏิรูปที่เสนอโดยรัฐบาล ทั้งการเปิดประชุมสมัยวิสามัญนี้รัฐบาลเป็นผู้ขอให้มีการร่าง พ.ร.ฎ.ขอเปิดประชุม ผู้รับสนองพระบรมราชโองการคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกหาก พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้ไม่ผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ด้วย

 

วันนี้สิ่งที่ประชาชนได้แน่ๆ แล้วจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติวาระ 2 ที่ผ่านมา คงเป็นอย่างที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะ กมธ.บอกว่า

“เราได้ขยายขอบเขตการทำประชามติให้กว้างออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ตัวแทนของประชาชนหรือรัฐสภาสามารถริเริ่มทำประชามติได้ และให้ประชาชนสามารถริเริ่มทำประชามติได้ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เราคิดว่าเป็นเรื่องที่เราผลักดันกันจนเป็นผลสำเร็จ เป็นประชาธิปไตยทางตรง แม้จะไม่ได้เต็มที่ 100% เพราะที่ได้มาคือต้องใช้ประชาชนเข้าชื่อถึง 50,000 คน และแม้รัฐสภาจะมีมติก็ต้องให้ ครม.เห็นสมควรด้วย แต่ก็ถือเป็นมิติใหม่ที่เป็นการเปิดทางให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง นอกจากนี้ สิ่งที่ได้อีกคือการทำประชามติที่เปิดกว้างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งการเปิดโอกาสให้มีการออกเสียงนอกเขต นอกราชอาณาจักร หรือออกเสียงโดยวิธีการอื่น เช่น ทางไปรษณีย์ ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทางสื่อสารสนเทศต่างๆ ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากกว่าเดิม”

ถึงแม้จะมีกระบวนการยื้ออย่างเห็นได้ชัด แต่หากร่าง พ.ร.บ.ประชามตินี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 ในการประชุมสมัยสามัญอีก 2 เดือนข้างหน้า ประชาชนคนไทยจะได้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่ให้อำนาจประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนมาใช้

ซึ่งถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญต่อการแก้รัฐธรรมนูญ และความเป็นประชาธิปไตยที่จะฝังรากลึกไปในอนาคต

แต่ก็คงต้องลุ้นกันเหนื่อยว่าจะเผชิญแท็กติกอะไรเพื่อถ่วงเวลาอีก!