เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์/ ประชุมพรให้ชุมพร

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ประชุมพรให้ชุมพร

ชื่อสถานที่โดยทั่วไปจะมีสามลักษณะ ดังเรียกภูมินาม มงคลนาม และนิมิตนาม ภูมินามคือตั้งตามสิ่งที่มีอยู่

เช่น หนองบัว เพราะมีหนองน้ำที่มีบัวในหนองน้ำนั้น เป็นต้น

มงคลนาม เช่น กรุงเทพฯ เพราะเป็นดั่งเมืองเทวดา เป็นต้น

นิมิตนาม เช่น เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นต้น คือตั้งขึ้นเพื่อเทิดทูนบุคคลเป็นสำคัญ

มีเพียงชื่อจังหวัดชุมพรนี่กระมังที่ครบความหมายทั้งสามลักษณนาม

 

ชุมพรที่เป็นภูมินามคือตั้งขึ้นตามที่ตั้งเมืองเดิมที่อยู่ทางฝั่งขวาของคลองชุมพร มีต้น “มะเดื่อชุมพร” เรียกคลองชุมพรตามชื่อต้นมะเดื่อนั้น

ชุมพรที่เป็นมงคลนามเพราะเป็นเมืองหน้าด่านประตูสู่ใต้ เป็นที่พักพลพรรคทัพจึงเป็นที่ทั้ง “ชุมพล” และชุมนุมเพื่อรับพรหรือประชุมพร คือ “ชุมพร”

ชุมพรเป็นนิมิตนามด้วยผสานกับพระนามของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “หมอพร” ของชาวชุมพรนั้น

 

ชื่อชุมพรดูจะเป็นชื่อที่รวมความหมาย ตามลักษณะของนามนี้จริง ดังคณะกลุ่ม ส.ว.พบประชาชนภาคใต้ได้ไปเยี่ยมเยียนชาวชุมพรระหว่างวันที่ 1-2 เมษายนที่ผ่านมา

แม้จะแค่สองอำเภอคือหลังสวนและละแม แต่เหมือนรวมชุมพรไว้ทั้งหมด ซึ่งชุมพรมีแปดอำเภอไล่เรียงลงไปจากเหนือลงใต้ คือ ท่าแซะ ปะทิว อ.เมือง สวี ทุ่งตะโก หลังสวน ละแม พะโต๊ะ รวมประชากรชุมพรกว่าห้าแสนคน

พรแผ่นดินชุมพรนอกจากฝั่งทะเลตะวันออกโดยตลอด และฝั่งตะวันตกติดทะเลที่ อ.ท่าแซะแล้ว ชุมพรยังอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชผลเกษตรที่สำคัญประเภทผลไม้เมืองร้อน

เช่น นึกถึงหลังสวนก็นึกถึงสะตอ เป็นต้น ยังทุเรียน มังคุด กาแฟ จนชาวละแมท่านหนึ่งนิยามว่าชุมพรเป็น “มหานครแห่งผลไม้เมืองร้อน”

เราเองมาหลังสวน นอกจาก “สะตอหลังสวน” แล้วก็นึกถึงนักเขียนเอกสองท่านพี่น้องกัน คือพี่สุวัฒน์ วรดิลก และพี่ทวีป วรดิลก พี่สุวัฒน์นามปากกาคือ “รพีพร” พี่ทวีปนามปากกาคือ “ทวีปวร”

ฝากชาวหลังสวนช่วยเชิดชูสองท่านด้วย เพราะงานวรรณกรรมของทั้งสองท่านมีคุณูปการแก่สังคมทั้งการเมือง สร้างสรรค์ และวรรณกรรมให้แรงบันดาลใจแห่งยุคสมัยอย่างมีพลังยิ่ง

 

วันแรกได้พบปะรับฟังปัญหาสารพันเกี่ยวกับที่ดินและการจัดการน้ำอันเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของการเกษตร

นี่เป็นเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจของหลังสวนโดยเฉพาะ

ชื่อหลังสวนเป็นทั้งภูมินามและมงคลนามสมศักดิ์ศรีความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินโดยแท้

วันต่อมาได้พบปะกับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีชุมพรของชุมชนชาวอำเภอละแม พิเศษคือชุมชนนี้มีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ซึ่งเป็นสาขามหาวิทยาลัยเดียวกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่เชียงใหม่ จึงมีนักศึกษามาร่วมกับชาวชุมชนเพื่อผลิตผลเกษตรอินทรีย์เป็นสำคัญ พร้อมบริหารจัดการด้วยวิถีวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคม อันเป็นวิถีใหม่ที่ถือประโยชน์ของชุมชนและสังคมเป็นหลัก

ปัญหาเกี่ยวกับการผลิตที่ตัวแทนกลุ่มเกษตรนำเสนอล้วนเป็นปัญหาร่วมทั้งที่หลังสวนและที่ละแม โดยรวมก็คือ

กฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ซึ่งเป็นอุปสรรคการผลิตของประชาชน

การจัดการน้ำกับป่าต้นน้ำ ซึ่งขาดแผนแม่บทชัดเจน

ปัญหาที่ดินหลุดมือ ตกเป็นของนายทุน

ปัญหาผังเมืองรวมซึ่งประชาชนไม่มีส่วนร่วมกำหนด

 

มีประโยคหนึ่งจากชาวชุมชนที่กล่าวถึงความสำคัญของป่าชุมชนว่า

“ป่าชุมชนนั้นให้น้ำ-ให้หน่อ”

คือให้ความอุดมทั้งทรัพยากรน้ำ และผลผลิตคือหน่อแห่งพืชพันธุ์ ด้วยการเป็นอยู่อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวระหว่างชุมชนกับป่านั่นเอง

เหล่านี้คือปัญหาพื้นฐานการผลิตภาคเกษตรของชุมพรที่ภาครัฐทั้งระดับจังหวัดและส่วนกลางต้องร่วมขจัดอุปสรรคด้วยการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ

ดังคำกล่าวย้อนแย้งกันอยู่คือ

รัฐบาลนั้น ที่มักจริงจังแต่ไม่จริงใจ

ประชาชนนั้น ที่มักจริงใจแต่ไม่จริงจัง

ที่ประชุมวันนั้นมีผลผลิตเกษตรอินทรีย์มาแสดงด้วยหลากหลาย ยิ่งให้ตระหนักความเป็นชุมพรว่าจะเป็น “มหานครแห่งเกษตรอินทรีย์” ได้จริงด้วยคุณสมบัติที่มีคือ

ทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์

พลังการผลิตที่พัฒนา

ปัญหาร่วมซึ่งมักมีในทุกที่คือ

การจัดการปัญหาพื้นฐานทั้งทรัพยากรและพลังการผลิต

การประสานงานการผลิตแบบครบวงจรคือจากผู้ผลิตถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างสัมฤทธิผลด้วยความเป็นธรรม

 

ที่จริงไม่เฉพาะชุมพรเท่านั้น แต่ทั้งประเทศไทยเรานี่แหละที่อุดมด้วยทรัพยากรแผ่นดินและพลังการผลิต ยังขาดอยู่ที่การบริหารจัดการดังกล่าวนี้เท่านั้น

ฝากกลอนไว้กับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีชุมพรด้วย

กลุ่มเกษตรอินทรีย์ศรีละแม

แผ่นดินแม่ร่วมพิทักษ์ศักดิ์สิทธิ์ศรี

สร้างเกษตรสร้างกุศลสร้างคนดี

เทิดวิถีชุมชนคนชุมพร

 

อ่าวชุมพร

 

รอบเวิ้งอ่าวเว้าอ้อมล้อมภูเขา

ล้วนเกาะแก่งแหล่งเก่าเฝ้ารักษา

สมบัติทิพย์ทะเลทองผ่องเภตรา

ทั้งกุ้งหอยปูปลาปะการัง

 

อ่าวสะพลีมีบ้านร้านเรือนรุ่ง

ชายหาดทุ่งวัวแล่นแผ่นดินขลัง

พนังตักพักเพียงอยู่เวียงวัง

เหมือนได้นั่งตักนางแนบนางใน

 

ถิ่นปากน้ำนามท่าตะเภาที่

หาดทรายรีที่พระองค์ทรงอาศัย

ศาลอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ฤทธิไกร

ประชุมชัยประชุมขวัญนิรันดร

 

กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

สิงหนามจำหลักศักดิ์นุสรณ์

ศักดิ์พระนามแห่งพระองค์อาภากร

จึงได้ชื่อ ชุมพร นครงาม ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์