ไทยกับอาเซียน กับปัญหาวิกฤตเมียนมา / เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ไทยกับอาเซียน

กับปัญหาวิกฤตเมียนมา

 

บทวิเคราะห์ของรอยเตอร์สเมื่อ 2 เมษายน ซึ่งเขียนโดยเคย์ จอห์นสัน กับพนารัตน์ เทพกำปนาท สะท้อนถึงปัญหาในการกำหนดท่าทีของประเทศไทยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาอย่างยิ่ง

ความยุ่งยากที่ว่านี้ รอยเตอร์สบอกว่า ในทางหนึ่ง ทำให้ไทยถูกมองว่า “แปลกแยก” ออกไปจากท่าทีของเพื่อนชาติสมาชิกอาเซียนอย่างมาเลเซีย, อินโดนีเซีย หรือสิงคโปร์ ที่ “แข็งกร้าว” อยู่ประมาณหนึ่ง ต่อรัฐบาลทหารของเมียนมาและต่อวิธีการที่รัฐบาลทหารชุดนี้ใช้ในการรับมือกับการชุมนุมประท้วงของประชาชนของตนเอง ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) องค์กรเอกชนในเมียนมาระบุว่า จนถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ไปแล้วอย่างน้อย 581 ราย ถูกจับกุมไปอีกกว่า 3,500 คน ส่วนใหญ่คืออย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ถูกขังยาวเรื่อยมาจนถึงขณะนี้

แต่ในอีกทางหนึ่ง การแสดงท่าทีที่ประนีประนอมมากกว่าของทางการไทย ก็ทำให้เป็นไปได้มากกว่าที่ไทยจะทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” หย่าศึกระหว่างทหารกับประชาชนเมียนมาในครั้งนี้

 

บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ชี้ให้เห็นด้วยว่า กองทัพเมียนมากับกองทัพไทยนั้น ใกล้ชิดกันอย่างยิ่ง เห็นได้ชัดเจนจากการที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ผู้นำในการก่อรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ถึงกับร้องขอให้นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา “สนับสนุนประชาธิปไตย” ในเมียนมา หลังก่อรัฐประหารได้ไม่กี่วัน

มิน อ่อง ลาย ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) จากสำนักพระราชวังของไทยเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ในฐานะเป็นผู้ที่ทรงคุณประโยชน์ “ในการให้การสนับสนุนต่อกองทัพไทย” อีกด้วย

ลลิตา หิงคานนท์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ระหว่างกองทัพไทยกับเมียนมา “ความเป็นพี่น้องซึ่งกันและกันสำคัญมากอย่างยิ่ง”

“การลุกลามขยายตัวของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยให้เปิดรับผู้ลี้ภัยมากขึ้น ฉันคิดว่า รัฐบาลแค่ต้องการเป็นมิตรกับเมียนมามากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้นเอง”

 

เหตุผลหนึ่งซึ่งทำให้ไทยต้องระมัดระวังเป็นเพราะ “มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากสถานการณ์ในเมียนมามากกว่าเพื่อนสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เพราะเมียนมากับไทยมีพรมแดนติดต่อกันมากถึง 2,400 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยาวที่สุดของเมียนมา”

นอกเหนือจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์แล้ว ไทยยังมี “ธรรมเนียมทางการทูตแบบรอบคอบระวังตัว เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การแสดงท่าทีต่อการรัฐประหารในเมียนมาของไทยเป็นไปแบบระมัดระวัง เพิ่งจะยกระดับกร้าวมากขึ้นเล็กน้อยเมื่อยอดเสียชีวิตทะลุผ่านหลัก 500 รายเมื่อเร็วๆ นี้”

ความเสี่ยงตามแนวชายแดนถูกขับเน้นให้เห็นชัดเจนกันมากขึ้น เมื่อมีผู้หลบหนีการสู้รบในเมียนมาทะลักเข้ามาสู่ฝั่งไทยหลายพันคน หลังจากกองทัพเมียนมาเปิดฉากถล่มที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยงที่ทำให้หลายคนนึกถึง ผู้อพยพเมียนมาเป็นเรือนแสนที่หลบเข้ามาพักพิงในฝั่งไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน

รัฐบาลไทยปฏิเสธอย่างเป็นทางการว่า ไม่ได้พยายามผลักดันคนเหล่านี้กลับเข้าไปในเมียนมา แต่ผู้ที่หลบหนีเข้ามาบอกกับรอยเตอร์สว่า ถูกเจ้าหน้าที่ตามแนวชายแดนของไทยสกัดกั้น

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ทางการในท้องถิ่นบอกที่ประชุมในเรื่องนี้ด้วยว่า นโยบายของทางการก็คือการ “ห้ามคนเหล่านี้เข้าประเทศมา”

 

ในขณะเดียวกัน รอยเตอร์สชี้ให้เห็นด้วยว่า ธุรกิจของไทยเข้าไปลงทุนโดยตรงในเมียนมามากไม่ใช่น้อย ถือเป็นชาติที่ไปลงทุนโดยตรงที่นั่นสูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากจีน และสิงคโปร์ ด้วยเม็ดเงินลงทุน 11,000 ล้านดอลลาร์

มูลค่าการค้าผ่านชายแดนระหว่างกันอีกมหาศาล เฉพาะในปี 2019 ที่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ การค้าชายแดนไทย-เมียนมามีมูลค่าสูงถึง 9,000 ล้านดอลลาร์ นี่ยังไม่นับว่าธุรกิจไทยอีกไม่น้อยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานชาวเมียนมาที่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ 1.6 ล้านคน ที่ไม่เป็นทางการอีกไม่รู้เท่าไหร่

ไทยยังเป็นคู่ค้าสำคัญของเมียนมา นำเข้าสินค้าของเพื่อนบ้านทางด้านตะวันตกสูงถึงเกือบ 25 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกของเมียนมาทั้งหมด

 

ปิติ ศรีแสงนาม นักวิชาการจากศูนย์เอเชียศึกษา ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า อย่างดีที่สุดที่ไทยจะทำได้ก็คือใช้ “การทูตเงียบ” อยู่หลังฉาก พยายามกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลทหารเมียนมาจำกัดการใช้ความรุนแรง และหาทางเปิดการเจรจากับนักการเมืองพลเรือนที่ถูกรัฐประหาร

ปิติอุปมาให้เห็นว่า การที่เพื่อนของเรารายหนึ่งกลายเป็นฆาตกร ก็ไม่ใช่ว่าคนนั้นไม่ใช่เพื่อนของเราอีกต่อไป

“ก็ยังคงเป็นเพื่อนกันต่อไป แต่ที่ดีที่สุดที่ทำได้ก็คือพูดจากประสาเพื่อนกันเพื่อให้ตระหนักว่าที่เขาทำลงไปนั้น ผิดมหันต์” เท่านั้นเอง