เหลียวหลังแลหน้าทีละ 20 ปี : เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

พอคอลัมน์นี้ตีพิมพ์ (16 มิถุนายน 2560) เข้าใจว่าร่างพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2560-2579) คงกำลังเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อผ่านเป็นกฎหมายในที่สุด

เว็บไซต์ https://ilaw.or.th/ ของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) อันเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 เพื่อมุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิรูปกฎหมายอันจะนำไปสู่ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพและระบบยุติธรรมที่ดีขึ้น ได้จ่าหัวเว็บเพจประมวลข้อมูลเรื่องนี้ว่า :

“ร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คสช. เตรียมเขียนข้อผูกพันรัฐยาวนาน 20 ปี และเตรียมลักไก่ ไม่ต้องมีส่วนร่วมอีก” (https://ilaw.or.th/node/4484)

โดยเน้น 3 เรื่องสำคัญที่สังคมควรรู้เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. นี้คือ :-

1) การจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติให้ถือว่าทำไปแล้ว

2) รัฐบาลชุดต่อไปต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ

3) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ผบ.เหล่าทัพมาครบ

สรุปได้ว่าระบบอำนาจยุทธศาสตร์ชาตินี้คือหนึ่งในกลไกแห่งความสุขที่ คสช. ไม่เพียงแต่จะคืนให้ประชาชนตามสัญญา หากยังจะฝากฝังเอาไว้ให้เกาะติดครอบกุมยึดเหนี่ยวรัฐบาลและประเทศไทยไม่ยอมปล่อยไปข้างหน้าอีก 20 ปีด้วย

ความพยายามทั้งชุดนี้ เมื่อผมมาคิดๆ ดูแล้ว ก็มีทั้งที่น่าวิตก น่ารำคาญและน่าขำ

น่าวิตกตรงที่ผู้ยึดและควบคุมอำนาจบ้านเราซึ่งอายุโดยเฉลี่ยอยู่ในวัยเกษียณราชการ กำลังวางแผนตายตัวที่จะผูกมัดทิศทางบ้านเมืองไปอีกถึงสองทศวรรษ โดยไม่มีทางล่วงรู้แน่ชัดเลยว่าในระยะเวลาอันทอดยาวไปข้างหน้าจนบรรดา ฯพณฯ ถ้าไม่เกยฝั่งก็คงจะใกล้เกยฝั่งแล้วนั้น จะเกิดอะไรขึ้นในโลกและในเมืองไทยนอกเหนือจากการคาดเดาของตนบ้าง? แล้วแผนที่วางผูกมัดคนรุ่นหลังไว้ตายตัวถึงแก่ถ้าไม่ทำตามแผนก็จะมีโทษผิดนั้น มันจะเข้าท่าสอดรับหรือไม่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนั้น?

น่ารำคาญตรงที่ถึงไงแผนที่วางไว้เอาเข้าจริงก็คงยากจะทำสำเร็จลุล่วง วางไปก็ไลฟ์บอย

และน่าขำตรงที่ในที่สุดแล้วมันก็อาจเป็นแค่การออกกายบริหารเสียเปล่า (an exercise in futility) เท่านั้นเอง

ในฐานะนักค้นคว้าวิจัยและครูสอนวิชาการเมืองการปกครองไทยระดับมหาวิทยาลัยต่อกันมาร่วม 30 ปี ทำให้ปกติผมพอมีภาพร่างเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของการเมืองการปกครองไทยและโลกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่อยู่ในห้วงคิดบ้างจึงอยากจะทดลองสาธิตคร่าวๆ เป็นน้ำจิ้มแบบจินตนาการทวนกระแสความจริง (counterfactual thinking) ว่า…

สมมุติผู้นำไทยย้อนยุคตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน เกิดดำริจะวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีขึ้นมาบ้างแล้ว พวกเขาจะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่อันใดใน 20 ปีถัดมาที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายตอนวางแผนบ้าง?

เอาทีละ 20 ปีเริ่มตั้งแต่ 2480 -> 2500 -> 2520 -> 2540 จนบรรจบกับปัจจุบัน

2480 สมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา 2499

– ในระดับโลก : 2482-2488 สงครามโลกครั้งที่สอง; 2488 เริ่มยุคสงครามเย็นตามนิยามอเมริกัน, ไทยเข้าข้างค่ายทุนนิยมเสรีใต้การนำอเมริกาต่อต้านค่ายคอมมิวนิสต์; 2492 ฝ่ายคอมมิวนิสต์จีนรบชนะสงครามกลางเมือง ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน; 2493 สงครามเกาหลี ไทยส่งทหารไปร่วมสมทบกองกำลังสหประชาชาติรบกับเกาหลีเหนือและจีน; 2496 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม (เวียดนามเหนือ); 2497 ก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ. หรือ ซีโต้) เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก; 2498 เริ่มต้นสงครามเวียดนามระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดกงกับเวียดนามใต้

– ในประเทศไทย : 2483-2484 สงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส; 2484-2488 ญี่ปุ่นบุกไทย, ไทยประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองฝ่ายญี่ปุ่น, ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น, ญี่ปุ่นแพ้สงคราม, ไทยกลับลำถือว่าประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ; 2487 รัฐบาลพิบูลสงครามหมดอำนาจ; 2489-2490 รัฐบาลปรีดี-เสรีไทยขึ้นกุมอำนาจ ยกเลิกกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์; 2489 กรณีสวรรคตในหลวงรัชกาลที่ 8 และเปลี่ยนรัชกาล; 2490 รัฐประหารยุติอำนาจคณะราษฎรปีกพลเรือน ปรีดีลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ; 2491 จอมพล ป. คืนสู่อำนาจ; 2495 ฟื้นกฎหมายต่อต้านคอมมิวนิสต์; ช่วงพุทธทศวรรษ 2490 มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง, กบฏอย่างน้อย 7 ครั้ง, และสังหารทางการเมืองกว่า 20 คน

หากรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีผูกมัดตายตัว ใครไม่ทำตามจะถูกลงโทษไว้เมื่อปี 2480 ผ่านความเปลี่ยนแปลงมหาศาลที่เกินคาดการณ์ในโลกและในประเทศถึงปี 2499 ยังจะมีอะไรในแผนเหลือหรือ?

2500 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ -> 2519

– ในระดับโลก : 2507-2518 สงครามเวียดนามไต่ระดับลุกลามขยายตัวเป็นสงครามอินโดจีนกับอเมริกาโดยไทยเข้าร่วมฝ่ายอเมริกาเต็มที่ จนอเมริกาพ่ายแพ้ถอนตัวจากภูมิภาค และ 3 ประเทศอินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์; 2515 อเมริกาคืนดีกับจีนคอมมิวนิสต์ท่ามกลางความงุนงงของผู้นำทหารไทย; 2516 วิกฤตราคาน้ำมันพุ่งสูง

– ในประเทศไทย : 2500 & 2501 รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกโค่น หนึ่งปีต่อมาคณะปฏิวัติใต้การนำของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ ตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์ กวาดล้างจับกุมขังลืมและประหารผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์และฝ่ายค้านทางการเมืองด้วยอำนาจปฏิวัติและมาตรา 17 ล้างมรดกระบบรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร; 2504 เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1

2506 จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรม หนึ่งปีต่อมา นายกฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ใช้อำนาจ ม.17 ยึดทรัพย์ที่ร่ำรวยผิดปกติของจอมพลสฤษดิ์กว่า 600 ล้านบาท; 2508 พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มทำสงครามประชาชนในชนบททั่วประเทศกับรัฐบาลยืดเยื้อร่วม 20 ปี; 2511 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่และจัดเลือกตั้ง

2514 นายกฯ จอมพลถนอมปฏิวัติตัวเองและปกครองโดยรัฐบาลทหาร; 2514-2516 ปรากฏข่าวทุจริตอื้อฉาวฉวยใช้อำนาจโดยมิชอบของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และบุคคลในรัฐบาลหลายกรณี เกิดสภาพข้าวขาดแคลน ต้องเข้าคิวซื้อข้าว แผนพัฒนาเศรษฐกิจเริ่มส่งผลกระทบสร้างความเหลื่อมล้ำและปัญหาเศรษฐกิจสังคมรวมทั้งการเมืองต่างๆ สั่งสมพอกพูน นักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวประท้วงเรียกร้องในประเด็นเหล่านี้รวมทั้งเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่

2516 นักศึกษาและประชาชนเดินขบวนลุกฮือโค่นรัฐบาลถนอม-ประภาส-ณรงค์ นำไปสู่ระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบเปิด นักศึกษาประชาชนกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวทางการเมืองและวัฒนธรรมอย่างคึกคักกว้างขวางเปิดกว้างเสรีอย่างไม่เคยมีมาก่อน นายกฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ ใช้อำนาจ ม.17 ยึดทรัพย์ที่ร่ำรวยผิดปกติของจอมพลถนอม-ประภาส-ณรงค์กว่า 470 ล้านบาท

2518 ขบวนการขวาจัดและอันธพาลการเมืองภายใต้อุปถัมภ์ของหน่วยงานความมั่นคงเริ่มเคลื่อนไหวตอบโต้นักศึกษาประชาชน นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงและการลอบสังหารทางการเมืองหลายสิบราย

2519 การปิดล้อมปราบปรามสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่ธรรมศาสตร์และรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นักศึกษาปัญญาชนและประชาชนหลายพันคนเดินทางเข้าสู่ชนบทป่าเขาร่วมต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์

จอมพลสฤษดิ์เจ้าของแผนถึงแก่กรรมไปตั้งแต่ปี 2506 ไหนเลยจะคาดการณ์ได้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ตนผลักดันทำขึ้นและส่งลูกทอดทอยออกไปให้ผูกมัดรัฐบาลชั้นหลังๆ ทีละ 5 ปีนับแต่ 2504 นั้น จะเผชิญกับสงครามใหญ่ทั้งในและนอกประเทศ การปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธ การลุกฮือของมวลชน ความเหลื่อมล้ำเสียดุลทางเศรษฐกิจสังคม และการขัดแย้งประท้วงต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อแย่งชิงทรัพยากรอันเป็นผลกระทบสืบเนื่องที่ไม่ตั้งใจ/คาดคิดไม่ถึง (unintended consequences) ของยุทธศาสตร์การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่สมดุล (unbalanced growth strategy) ตามแผน?

2520 สมัยรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ -> 2539

ในระดับโลก : 2521-2535 สงครามอินโดจีนครั้งที่สามระหว่างกัมพูชากับเวียดนาม, จีนกับเวียดนาม, การปะทะบริเวณชายแดนไทย/กัมพูชาระหว่างไทยกับเวียดนาม, การปะทะบริเวณชายแดนไทย/ลาวระหว่างไทยกับลาว, ไทยหนุนช่วยเขมรสามฝ่ายในสงครามกลางเมืองในกัมพูชากับรัฐบาล เฮง สัมริน-ฮุนเซนที่เวียดนามหนุนหลัง

2521 จีนใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิงปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศค้าขายลงทุนกับโลกทุนนิยม

2534 สิ้นสุดสงครามเย็น ค่ายคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียตล่มสลาย ค่ายทุนนิยมเสรีชนะ; หลังสิ้นสุดสงครามเย็น กระแสโลกาภิวัตน์ทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่รวมทั้งการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศ-คอมพิวเตอร์ ดาวเทียม โทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต เคเบิลทีวี ฯลฯ – แพร่สะพัดครอบโลกรวมทั้งไทย

ในประเทศไทย : 2520 แผนปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 12 ปีล้มเลิกไปในชั่วปีเดียวหลังรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกโค่น

2521 เริ่มระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่และรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (พ.ศ.2523-2531) ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพและได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย ผ่านพ้นความพยายามรัฐประหารโดยกลุ่มต่างๆ มาได้

2524 เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเข้าสู่ยุคโชติช่วงชัชวาล

2525 เริ่มโครงการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดสอดรับกับการปรับเปลี่ยนแนวทางพัฒนาจากอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า (import substitution) เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (export orientation)

2527 วิกฤตการเงินการคลังนำไปสู่การปรับลดค่าเงินบาท

2528 ป่าแตกเพราะความขัดแย้งภายในขบวนการปฏิวัติระหว่างสหายแกนนำเก่าชาวพรรคคอมมิวนิสต์กับนักศึกษาปัญญาชนที่เข้าป่าไปภายหลัง สงครามประชาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ยุติลงโดยพื้นฐาน ขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธใต้การนำของพรรคล่มสลาย นักศึกษาประชาชนในชนบทป่าเขาวางอาวุธกลับบ้านคืนเมืองในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”

20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

2531 ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

2534 รัฐประหารโดย รสช.

2535 ม็อบมือถือของคนชั้นกลางและประชาชนชั้นล่างลุกฮือโค่นรัฐบาลทหารในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ในปีเดียวกัน รัฐบาล ชวน หลีกภัย เปิดเสรีบัญชีทุนพาไทยเข้าสู่โลกาภิวัตน์ทางการเงิน เศรษฐกิจไทยเติบโตด้วยอัตราสูงสุดในโลกเฉลี่ยราว 7-8% ต่อปีต่อเนื่องกันราวหนึ่งทศวรรษ (พ.ศ.2530-2539)

มองย้อนกลับไป ณ พ.ศ.2520 ไม่มีผู้นำไทยคนใดจะคาดเล็งความเปลี่ยนแปลงพลิกผันทางการเมือง (มวลชนลุกฮือโค่นรัฐบาลทหารอีกรอบนำไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ) ทางความมั่นคง (สิ้นสุดสงครามต่อสู้ด้วยอาวุธของคอมมิวนิสต์ในประเทศ สิ้นสุดสงครามเย็นในระดับโลกและภูมิภาค) และทางเศรษฐกิจ (จากวิกฤตการเงินการคลังไปสู่ภาวะเศรษฐกิจไทยโตเร็วที่สุดในโลกร่วมทศวรรษ) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในยี่สิบปีข้างหน้าได้เลย แผนที่วางไว้ยกเลิก ไปไม่ทันได้ทำ ที่ทำจริงมักไม่ได้อยู่ในแผน อาจกล่าวได้ว่าเป็น 20 ปีที่ชาติไทยโชคดี บุญวาสนาหล่นทับหลายซับหลายซ้อนโดยไม่ได้วางแผนไว้เลย

2540 สมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

ชวน หลีกภัย -> 2559

– ในระดับโลก : 2544 เกิดเหตุก่อการร้าย 9/11 ที่อเมริกาและสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนำโดยอเมริกาที่ลุกลามไปทั่วเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นหลังจากนั้น

2550 วิกฤตซับไพรม์ในอเมริกาที่ลุกลามขยายตัวไปเป็นเศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก

2553 การลุกฮืออาหรับสปริงในหลายประเทศอาหรับของแอฟริกาและตะวันออกกลาง

2559 ประชามติเบร็กซิทในอังกฤษและการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในอเมริกา – หรือในทางกลับกันตั้งแต่ก่อนหน้านี้ที่ปรากฏกระแสคลื่นสีชมพูเอียงซ้ายต่อต้านเสรีนิยมใหม่ของนานาประเทศในลาตินอเมริกา ขบวนการยึดครองวอลล์สตรีตและกระแสนิยมผู้สมัครประธานาธิบดี เบอร์นี แซนเดอร์ส ในอเมริกา ชัยชนะของพรรคซีริซาในกรีซและคะแนนนิยมของโพเดโมสในสเปน ฯลฯ สะท้อนว่ากระแสโลกาภิวัตน์ทุนนิยม-เสรีนิยมใหม่กำลังเผชิญการต่อต้านจากกระแสทวนโต้กลับในรูปการเคลื่อนไหวชาตินิยม-ประชานิยมทั้งปีกซ้ายและปีกขวา ท่ามกลางปัญหาโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติของโลกสิ้นเปลืองร่อยหรอ การแข่งขันตึงเครียดรอบใหม่ระหว่างมหาอำนาจและภัยสงครามนิวเคลียร์ที่กำลังร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ

ในประเทศไทย : 2540 วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งอันร้ายแรงที่สุดของไทยลุกลามไปทั่วเอเชียตะวันออก ขณะเดียวกันการปฏิรูปการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็นำไปสู่รัฐบาลทักษิณของกลุ่มทุนใหญ่จากการเลือกตั้งใน พ.ศ.2544 และวิกฤตการเมืองสืบเนื่องจากการเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณกับพรรคพวก ซึ่งประกอบไปด้วยการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ (นับแต่ 2547) รัฐประหารโดยกองทัพ 2 ครั้ง (2549, พ.ศ.2557) การลุกฮือต้านรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามของมวลชนต่างสีเสื้อสลับกันไปมาหลายระลอก (2549-2557) การปราบปรามสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อปี 2553 และการยกร่างและประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญใหม่หลายฉบับ (2549, 2550, 2557) จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตและเปลี่ยนรัชกาลเมื่อปลายปี 2559

เมื่อมองย้อนไปอย่างคนฉลาดหลังเหตุการณ์ ไม่มีทางที่แผนยุทธศาสตร์ใดๆ ที่รัฐบาลชวลิตหรือรัฐบาลชวนวางไว้เมื่อปี 2540 จะคาดถึงหรือรับมือความพลิกเปลี่ยนผันผวนทางเศรษฐกิจการเมืองของโลกและของไทยที่กล่าวมาในสองทศวรรษนี้ได้อย่างแน่นอน รัฐบาลชั้นหลังๆ มาจึงได้แต่ด้นแก้สถานการณ์กันสดๆ จากวิกฤตหนึ่งไปสู่อีกวิกฤตหนึ่ง โดยไม่อาจยึดติดกับแผนระยะยาวใดๆ

2560 สมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา -> 2579

…………?!?!