หลังเลนส์ในดงลึก : ลวงตา

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ด้วยวิถีของการทำงาน ทำให้ผมเห็นว่า

สิ่งหนึ่งซึ่งอยู่เบื้องหลังของเหล่า “ผู้ชาย” ที่ดำเนินชีวิตไปตามวิถีในป่า นั่นคือ “ผู้หญิง”

ชีวิตที่ผมหมายถึงไม่ได้อยู่ในสถานภาพของคน

แต่หมายถึงชีวิตในป่า

ในความเป็นชีวิต เมื่อนึกถึง “นกอีแจว” อาจเปรียบได้ว่าเป็นเพศหญิงเพราะชื่อของนกไม่ได้ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ไอ้”

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง นกอีแจวตัวที่คนมักเห็นเดินอยู่ตามบึงน้ำ ขายาวๆ หางยาวๆ สีสันสวยงาม ไม่ก็เห็นว่ากำลังกกไข่ หรือพาลูกเล็กๆ เดินหาอาหารไปตามกอแหน กอจอก นั่นเป็นผู้ชาย

เพราะนกอีแจวตัวผู้มีหน้าที่ถูกเลือกให้เป็นพ่อของลูก และเลี้ยงลูกไปเพียงลำพัง

ส่วนตัวเมียถูกเรียกว่า อีแจว เพราะหลังจากเลือกตัวผู้มาทำหน้าที่พ่อและวางไข่ไว้บนรังที่ทำง่ายๆ บนผิวน้ำแล้วก็จะผละ หรือ “แจว” ไปหาตัวผู้ใหม่

จากงานวิจัยของ คุณศิริพร ทองอารีย์ ผู้เฝ้าศึกษานิเวศวิทยาของนกอีแจว ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า บึงบอระเพ็ด พบว่า ในหนึ่งฤดูกาลแห่งความรัก เธอจะมีตัวผู้ถึง 4 ตัวทีเดียว

ในกรณีนี้ดูเหมือนว่าตัวผู้จะได้รับความเห็นใจ ก้มหน้าก้มตาเลี้ยงลูกไปอย่างเต็มความสามารถ

เรียกได้ว่ายอมตายแทน เช่น แกล้งทำท่าต่างๆ นานา เวลาเห็นเหยี่ยว หรือศัตรูชนิดอื่นๆ เข้ามาใกล้ๆ

กระโดดขึ้นกระโดดลง ดิ้นพราดๆ ทำอาการเช่นนี้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจให้ผู้ล่ามาสนใจตัวเองแทน ไม่เข้าไปหาลูกน้อยที่อยู่ใกล้ๆ

อาการเหล่านี้ย่อมได้รับความชื่นชมจากผู้พบเห็นสำหรับตัวเมีย อาจมีเพียงเสียงต่อว่าไล่หลัง สาเหตุเพราะทิ้งลูกไว้กับพ่อลำพัง ขณะตัวเอง “แจว” ไปหาตัวผู้ใหม่

แต่หากลองมาดูอีกมุม หน้าที่ในการเร่งขยายเผ่าพันธุ์ตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นไม่ใช่งานเบาๆ

อีแจว รวมทั้งนกน้ำชนิดอื่นๆ มีหน้าที่ควบคุมปริมาณของสัตว์น้ำเล็กๆ รวมถึงแมลงต่างๆ ซึ่งหลายอย่างเป็น “ศัตรู” พืชที่คนปลูก

จะปวดร้าวเพียงใดเมื่อต้องทิ้งลูกเพื่อไปทำหน้าที่ ความปวดร้าวนี้ดูเหมือนความสามารถของ “ตัวผู้” จะน้อยเกินไปที่จะรับไหว

หรืออาจยากเกินกว่าจะเข้าใจ

 

นกยูงเช่นกัน

หลายคนเปรียบหญิงสาวผู้สง่างามมีท่าทีระหง ราวกับนกยูง

อีกนั่นแหละ นกยูงที่ดูสวยงามรำแพนหางเป็นวงกลม อวดสีสันงดงามมหัศจรรย์ นั่นเป็นนกยูงตัวผู้

แต่ก็เพื่อเหตุผลเดียว เพื่อโน้มน้าวให้ตัวเมียสนใจ ตลอดช่วงฤดูหนาวนกยูงตัวผู้ต้องหาทำเลเหมาะๆ จับจองเป็นเจ้าของไว้เป็นที่รำแพน อวดความแข็งแรงให้ตัวเมียเลือก

นกยูงกับนกอีแจว เหมือนๆ กัน คือต้องเร่งขยายเผ่าพันธุ์ แต่นกยูงตัวผู้จะรับหน้าที่นี้

โดยจะมีสิทธิ์จับคู่ได้หลายครั้งในหนึ่งฤดูกาล แต่กระนั้นก็เถอะ ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะนกยูงตัวเมียมีสิทธิที่จะเลือกเฉพาะตัวผู้ซึ่งเธอเห็นว่าแข็งแรง และเหมาะสมพอจะเป็นพ่อของลูกเท่านั้น

มีบ่อยๆ จนกระทั่งแทบเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะเห็นนกยูงตัวผู้ ตั้งหน้าตั้งตารำแพนอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ตั้งแต่เช้ามืดจนพลบค่ำ

โดยไม่มีตัวเมียตัวใดให้ความสนใจ

มาถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

สัตว์ป่าซึ่งต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูง เป็นสังคม เกือบทุกชนิดมี “ผู้หญิง” เป็นผู้นำ

ในฝูงช้าง ผู้อาวุโสอย่างคุณยายคือผู้วางแผนและนำลูกฝูงไปตามแหล่งอาหารอันเหมาะสมตามฤดูกาล

ฝูงช้างจะไม่พลาด รู้ดีเสมอว่าช่วงแล้งจะไปที่ใด ช่วงฝนต้องอยู่ที่ไหน

ความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษในฝูงจะยึดถือระเบียบอย่างเคร่งครัด ขณะเดินทางลูกตัวน้อยๆ จะถูกขนาบด้วยช้างโตๆ ซึ่งทำหน้าที่พี่เลี้ยง

ช้างหนุ่มดื้อๆ เกเร จะถูกขับออกไปจากฝูง พวกนี้จะเดินตามมาห่างๆ ขี้หงุดหงิด แสดงท่าทางก้าวร้าวใส่ผู้อื่นบ่อยๆ

วัวแดง และกระทิงเช่นกัน

ลูกฝูงตัวเมียมีระเบียบวินัย ผู้นำฝูงเธอจะขับไล่ลูกฝูงเกเรออกไปห่างๆ

วัวแดง หรือกระทิงรุ่นๆ พวกนี้มีบ้างที่ไปรวมตัวอยู่ด้วยกัน

“ผู้ชาย” ของสัตว์ป่าเหล่านี้ถูกคนเรียกว่า “สัตว์โทน”

เมื่อเริ่มเติบโตเต็มวัย ร่างกายแข็งแรง ย่อมถึงเวลาที่จะออกจากฝูงเพื่อไปใช้ชีวิตลำพัง หรือหากลังเลก็ต้องถูกขับออกไป

ตัวผู้จำเป็นต้องไปหาฝูงใหม่ เมื่อไปติดเนื้อต้องใจ “ผู้หญิง” ในฝูงใหม่ก็ต้องออกแรงหรือแสดงความสามารถ พูดง่ายๆ ว่า สู้กับผู้ชายในฝูงนั้นให้ได้

นี่คือกลวิธีซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว

ในกลุ่มมีตัวผู้อยู่ ความสัมพันธ์กันเองระหว่างพี่-น้อง ลูกหลานที่เกิดมาย่อมมีลักษณะด้อยไม่แข็งแรง ผู้ที่จะเข้ามาใหม่ จำเป็นต้องแข็งแรง หากพ่ายแพ้ก็ออกไปเร่ร่อนใช้ชีวิตลำพัง

ถึงวันนี้เมื่อแหล่งอาศัย หรือพื้นที่ป่า ถูกตัดซอยแบ่งแยกขาดจากกัน เปรียบเสมือนเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย

วิถีชีวิตดั้งเดิมของเหล่าสัตว์ป่าเปลี่ยนไป

สัตว์ป่าถูกจำกัดพื้นที่อยู่ พวกมันผสมพันธุ์กันเองภายในกลุ่ม

เส้นทางเดินหากินถูกตัดขาด

เหล่านี้คือความเป็นจริงที่พวกมันกำลังเผชิญ

 

กล่าวถึงเสือ

ผู้อยู่ในตำแหน่งบนสุดของความเป็นนักล่า

เสือ เป็นชีวิตที่ไม่มีสังคม ไม่มีสัตว์ชนิดใดช่วยเหลือในการล่า ชีวิตจะอยู่ได้ด้วยการล่าที่ประสบผล

เมื่อใดที่ตัวเมียยังไม่พร้อมต้อนรับ ตัวผู้ก็ไม่มีสิทธิ์เข้าใกล้

ต่อเมื่อเธอส่งสัญญาณความพร้อมไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องคำราม ร่องรอยการตะกุย หรือกลิ่นฉี่

ตัวผู้จะเข้ามาได้

ในกรณีที่มีตัวผู้มากกว่าหนึ่งตัว รับทราบสัญญาณแน่นอนว่า อาจมีการเผชิญหน้า

แม้ว่าโดยปกติ เสือโคร่งตัวผู้ที่ครอบครองพื้นที่นั้นในอาณาเขตของมันจะมี “ผู้หญิง” อาศัยอยู่ในนั้นราว 3 ถึง 4 ตัว

หากผู้ครอบครองอาณาเขตอยู่ในช่วงเวลาที่เริ่มอ่อนล้า

มันก็ต้องเตรียมใจที่จะถูกเบียดออกไปให้ตัวผู้ซึ่งเข้มแข็งกว่าเข้าครอบครองพื้นที่รวมทั้งผู้หญิงของมัน

การปะทะอาจเกิดขึ้น แต่ถึงที่สุดจะมีการยอมรับจากตัวใดตัวหนึ่ง ยอมหลีกทาง เพราะรู้ถึงความด้อยกว่า

เสือในป่า หลีกเลี่ยงการปะทะ

เพราะพวกมันรู้ดีว่า บาดแผลเล็กๆ ที่เกิดขึ้น หากลุกลามนั่นคืออุปสวรรคในการดำเนินชีวิต

ผู้หลีกไปย่อมรู้ว่าอีกฝ่ายเหนือกว่า

นั่นหมายความว่า เสือตัวเมียจะได้พ่อของลูกซึ่งแข็งแรงเหมาะสม

สังคมในป่า “ผู้ชาย” ดูกล้าแกร่งแข็งแรง ต่างล้วนดำเนินวิถีไปตามกลวิธีของ “ผู้หญิง”

 

มีความจริงอยู่ในประโยคที่หลายคนพูด

“เมื่อสายตาเริ่มแย่ลงเพราะวัย

แต่ดูคล้ายจะ “เห็น” โลกได้ชัดเจนมากขึ้น”

หลายสิ่งที่ได้พบได้รู้จัก ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ “เห็น”

หลายสิ่งหลายอย่างเป็นเพียงภาพ “ลวงตา”

ความยากลำบากของสัตว์โทน ที่ถูกขับออกจากฝูง

หรืออ่อนล้ากระทั่งถูกเบียดออกจากพื้นที่ของตนเอง

อาจไม่ใช่เพราะการดำรงชีวิตที่ยุ่งยากขึ้น

ความชัดเจนที่เห็นในภาพลวงตา

นั่นคือ สิ่งอันทำให้ อ่อนล้า อย่างแท้จริง