ศูนย์ปราบฟอกเงินตำรวจ กฎหมายไม่ทันเหลี่ยมโจร เด็ดปีกคนร้ายยุคไฮเทคยาก / โล่เงิน

พล.ต.ท.สุรพล อยู่นุช ผช.ผบ.ตร

โล่เงิน

 

ศูนย์ปราบฟอกเงินตำรวจ

กฎหมายไม่ทันเหลี่ยมโจร

เด็ดปีกคนร้ายยุคไฮเทคยาก

ขึ้นชื่อว่าองค์กรอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการทำผิดกฎหมายในรูปแบบใด ล้วนแล้วมีเส้นบรรจบกับการฟอกเงิน

สารพัดวิธีเล่นแร่แปรธาตุ ซักเงินร้อนฟอกให้ขาว ทั้งจ้างเปิดบัญชี ใช้บัญชีเครือญาติ ใช้ตัวแทนเป็นผู้รับ-โอนเงิน ตั้งบริษัทบังหน้า ลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนที่แฝงมาในธุรกิจ หรือทรัพย์สินมีค่าต่างๆ แม้กระทั่งเปลี่ยนเป็นเงินดิจิตอลที่ได้รับความนิยมสูง ทั้งหมดก็เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบที่มาที่ไปไม่ได้

ย้อนไปเมื่อปี 2558 เกิดคดีมหากาพย์ทุจริตเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ฟอกเงินกว่า 600 ล้านบาท ที่มีอดีต ผอ.ส่วนการคลัง สจล., อดีตผู้จัดการธนาคาร และอดีตอธิการบดี สจล. ยักยอกเงินของสถาบันโดยปลอมเอกสารต่างๆ และนำเงินที่ได้ไปหมุนเวียนอยู่ในพวกพ้องตัวเองเพื่อปกปิดความผิด

ถัดมาเมื่อต้นปีนี้ ชุดปฏิบัติการพิเศษหนุมาน กองปราบปราม ผนึกกำลังร่วมตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) บุกทลายรังเสี่ยโป้ โป้อานนท์ จับกุมคาบ้านพักย่านเพชรเกษมพร้อมพรรคพวกในคดีร่วมจัดให้มีการเล่นพนัน ผ่านเว็บไซต์กาแล็กซี่ออนไลน์

โยงใยไปถึงคดีบ่อนอาร์เจ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง บ่อนอรุโณทัย ใน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ของนายสมชาย จุติกิติ์เดชา หรือหลงจู๊ เจ้าพ่อบ่อนภาคตะวันออก ที่เพิ่งถูกจับกุมเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตำรวจได้ยึดอายัดทรัพย์สินจำนวนมาก มีทั้งเรือยอชต์หรูไปจนถึงโครงการหมู่บ้านจัดสรรเดอะแคปิตอลทั้ง 5 แห่ง

ขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แถลงข่าวการยึดอายัดทรัพย์สินจากการฟอกเงินในคดีสำคัญ ห้วงเวลาตั้งแต่ปี 2559 จนตอนนี้เป็นเวลา 5 ปี มูลค่ากว่า 4.7 หมื่นล้านบาท

เฉพาะของกลางคดีหลงจู๊กับเสี่ยโป้ ก็ปาเข้าไป 1.2 พันล้านบาทแล้ว

นับได้ว่าการฟอกเงินเป็นขั้นตอนที่มีความสลับซับซ้อน มีผู้ร่วมขบวนการเยอะ มีคอนเน็กชั่นกว้างขวาง ประกอบกับเม็ดเงินมหาศาล นำมาซึ่งการจ้างวานผู้มีความรู้ทางกฎหมายคอยให้การช่วยเหลือทางคดี ทำให้ยากต่อการเอาผิดชนิดที่ดิ้นไม่หลุด

 

การนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ลงนามหนังสือคำสั่ง ตร. 137/2564 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2564 ตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปปง.ตร.) เพื่อให้การดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านความมั่นคงจากภัยคุกคามอาชญากรรมเกี่ยวกับการฟอกเงิน ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน คอยควบคุมดูแลการสืบสวนสอบสวนและติดตามตรวจสอบพร้อมประเมินผลการยึดอายัดทรัพย์สินและการดำเนินคดีอาญา รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัด ตร. โดยแต่งตั้งให้ พล.ต.ท.สุรพล อยู่นุช ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นผู้อำนวยการศูนย์

ส่วนความแตกต่างระหว่างการทำงานของ ปปง.ตร. กับ ปปง. จะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบทางกฎหมายอย่างชัดเจน โดย ปปง.ตร.จะรับผิดชอบคดีอาญา ทำหน้าที่สืบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำผิด

ส่วน ปปง.จะดำเนินการตามกฎหมายแพ่ง ทำหน้าที่ยึดอายัดทรัพย์สินขบวนการ

พล.ต.ท.สุรพล อยู่นุช ผช.ผบ.ตร

พล.ต.ท.สุรพลเปิดเผยว่า เหล่าอาชญากรได้พัฒนารูปแบบการฟอกเงินให้มีความหลากหลาย และสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้ยากต่อการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการดำเนินคดีฟอกเงิน ปัจจุบันยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากลักษณะคดีมีความพิเศษ ต้องใช้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะ ต้องใช้ระยะเวลาในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นเวลานาน เพราะผู้กระทำความผิดเป็นองค์กรอาชญากรรมที่มีความรู้หรือมีฐานะในสังคม

ทั้งยังขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เป็นเหตุให้การดำเนินคดีล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และขาดความเป็นเอกภาพของคดีทั้งในทางแพ่งและทางอาญา

รูปแบบการฟอกเงินด้วยวิธีแปลกๆ ที่เจ้าหน้าที่สืบพบมีมากมาย หนึ่งในนั้นคือการนำเงินที่ได้จากการกระทำผิดไปซื้อล็อตเตอรี่รางวัลประเภทต่างๆ เพื่อไปขึ้นเป็นเงินที่ถูกกฎหมาย สังเกตได้ตามสื่อว่าบางครั้งมีผู้ที่ถูกรางวัลปีหนึ่ง 1-2 ครั้ง ซึ่งเป็นไปแทบจะไม่ได้เลย บางส่วนถึงขั้นเปิดแผงรับซื้อรางวัลเลยก็มี

อีกวิธีพบจากคดีการจับกุมเครือข่ายแอพพ์ปล่อยเงินกู้นอกระบบ พบว่ามีการใช้เงินชำระค่าอาหารทะเลที่สั่งจากไทย แล้วส่งออกไปประเทศจีน แล้วแปรสกุลเงินหยวนจีนเพื่อโอนกลับเข้าขบวนการในไทย ไม่เข้ารัฐ ทำให้ตรวจสอบไม่ได้

และยังนับเป็นการสูญเสียรายได้ ถือเป็นอุปสรรคในการปราบปรามของเจ้าหน้าที่

 

มีเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติงานยังบอกด้วยว่า เล่ห์เหลี่ยมกลโกงของมิจฉาชีพปรับตัวไปอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ยังวิ่งตามหลังมาตลอด ต้องปรับตัวตามให้ทัน

อีกทั้งตัวบทกฎหมายยังมีความล้าหลังอยู่มาก แต่มีข่าวว่า กำลังจะมีการปรับแก้กฎหมายบางตัวเพื่อให้เข้ามูลฐานความผิดของการฟอกเงินที่ทำให้เจ้าหน้าที่ยึดอายัดทรัพย์สินคนร้ายได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด

เป็นคำถามว่า แท้จริงแล้วการตั้งศูนย์ทำงานเฉพาะทางขึ้นมานั้นจะสกัดปราบปรามการฟอกเงินได้ทันอาชญากรยุคไฮเทคหรือไม่