แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เกมซ่อนกล (2) / บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

เกมซ่อนกล (2)

 

ข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ของพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคร่วมรัฐบาลอีกสามพรรค กลับมีลักษณะแยกกันเดิน รวมกันตี อย่างชัดเจนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

แม้ต่างฝ่ายต่างเสนอ แต่ก็มีรายละเอียดที่เหมือนกันจนยากจะเชื่อได้ว่าไม่มีการนัดหมายกันมาก่อน

โดยข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมที่พ้องกัน คือการเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งแบบใบเดียว มาเป็นบัตรสองใบ และการเปลี่ยนสัดส่วนของ ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จาก 350 : 150 คน มาเป็น 400 : 100 คน

เท่ากับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งกระทบกับรัฐธรรมนูญในส่วนที่ 2 ของหมวด 7 หลายมาตรา และยังต้องเป็นการไปยกร่างใหม่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 อีกพอสมควรด้วย มิฉะนั้น จะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งตามสิ่งที่แก้ไขในรัฐธรรมนูญได้

อะไรคือเหตุผลความจำเป็น อะไรคือเกมซ่อนกลที่แฝงอยู่ในความปรารถนาเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์

กติกานี้เพื่อเรา กำลังกลับมาทำร้ายเรา

 

การออกแบบระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว แล้วนำมาคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมี ก่อนไปคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคได้รับ หรือที่เรียกกันให้ยุ่งยากสับสนว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” นั้นเป็นนวัตกรรมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคิดค้นขึ้นมาด้วยเหตุผลว่าให้ทุกคะแนนเสียงของการเลือกตั้งมีความหมาย ไม่มีคะแนนเสียงตกน้ำไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะทุกคะแนนไม่ว่าแพ้หรือชนะจะถูกนำไปคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีของพรรคนั้นๆ

ด้วยการออกแบบดังกล่าว ได้มีการจำลองสถานการณ์ (Simulation) โดยใช้ข้อมูลการเลือกตั้งครั้งก่อนแล้วเห็นค่อนข้างแน่ชัดว่า ผลเสียส่วนใหญ่จะตกอยู่กับพรรคขนาดใหญ่ที่มี ส.ส.เขตในพื้นที่เข้มแข็ง เมื่อได้ ส.ส.เขตเกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงจะมี แปลว่า จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะกลายเป็นศูนย์

นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย

แต่ในวันนี้ พรรคพลังประชารัฐกลับกลายมาเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่คาดการณ์ว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะมีผู้ชนะการเลือกตั้งในระดับเขตได้อย่างมากมาย

กติกาที่ออกแบบมาเพื่อเรา กำลังจะกลับมาทำร้ายตัวเอง

ความจำเป็นที่ต้องแก้ไขกติกาเพื่อให้กลับไปมีรูปแบบการเลือกตั้งที่พรรคใหญ่มีความได้เปรียบจึงต้องเกิดขึ้น

เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้น้อยลง

 

ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดสัดส่วนจำนวน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 350 คน : 150 คน โดยในข้อเสนอของพรรครัฐบาลทั้งหมด เห็นสมควรเปลี่ยนสัดส่วนเป็น 400 คน : 100 คน

จำนวนสัดส่วนดังกล่าว ดูคล้ายเป็นการปรับเปลี่ยนไปมาหาข้อลงตัวไม่ได้ จากเดิมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กำหนดสัดส่วนเป็น 400 : 100 พอเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็เปลี่ยนเป็น 400 : 80 และมาแก้ไขเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2554 ให้เป็น 375 : 125 พอมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ก็กำหนดเป็น 350 : 150

พอวันนี้ ก็จะขอเปลี่ยนมาเป็น 400 : 100 อีก

มองถึงเหตุผลการเปลี่ยนน่าจะเข้าใจได้ในเรื่องการมีจำนวน ส.ส.เขตที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้เขตเลือกตั้งมีขนาดลดลง ส.ส.สามารถดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงมากขึ้น แต่เหตุผลที่ลึกกว่านั้นใช่ไม่ใช่ไม่ทราบ คืออาจเกรงว่าจะมีพรรคการเมืองบางพรรคได้อานิสงส์มี ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวหรือเปลี่ยนเป็นสองใบก็ตาม

และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคดังกล่าว ดูจะมีบทบาทในสภาไม่เป็นที่ถูกใจของผู้มีอำนาจนัก

กำหนดขั้นต่ำ เพื่อกีดกันพรรคเล็ก

 

ในข้อเสนอการแก้ไขของพรรคพลังประชารัฐ ยังกำหนดเงื่อนไขการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 2 ประการ คือ ประการแรก พรรคที่จะส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ต้องมีการส่ง ส.ส.เขตไม่ต่ำกว่า 100 เขต และประการที่สอง การนำคะแนนที่ได้จากผู้ลงคะแนนเสียงมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะต้องมีคะแนนขั้นต่ำร้อยละ 1 ของคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ

เงื่อนไขสองประการนี้ คือเงื่อนตายสำหรับพรรคเล็กและพรรคจิ๋วโดยแท้

การส่งผู้สมัครอย่างน้อยหนึ่งร้อยเขต ย่อมเป็นภาระต่อพรรคการเมืองขนาดเล็กในการจัดหาผู้สมัครอย่างน้อยหนึ่งร้อยคน มีค่าสมัครเบื้องต้นคนละหนึ่งหมื่นบาท เป็นเงินอย่างน้อย 1 ล้านบาท

การต้องได้คะแนนพรรคอย่างน้อยร้อยละหนึ่งของคะแนนเสียงทั้งประเทศ หากคำนวณจากผู้มีสิทธิออกเสียง 50 ล้านคน มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงร้อยละ 70 คือ 35 ล้านคน คะแนนที่คิดเป็นร้อยละหนึ่ง ที่เป็นคุณสมบัติขั้นต้นของการผ่านไปสู่การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ 350,000 คะแนน

ด้วยคะแนนจำนวนนี้ หากใช้ผลการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 เป็นตัวบ่งชี้ จะมีพรรคการเมืองที่ผ่านเพียง 11 พรรคการเมือง ส่วนที่เหลืออีก 15 พรรค จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่รายเดียว

กรณีพรรคต่างๆ ที่ได้คะแนนจากทั้งประเทศ 30,000 หรือ 40,000 คะแนน จะไม่ได้ ส.ส.ปัดเศษจากการคำนวณ

หรือไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เคยอยู่พรรคประชาชนปฏิรูปที่ได้ 45,420 คะแนน ได้หลุดพ้นจากสภาวะดังกล่าวแล้วเลยเลิกเห็นประโยชน์ของการออกแบบในลักษณะเดิม

ทะเลเดือด ที่เขตเลือกตั้งใหม่ 50 เขต

 

เขตเลือกตั้งที่เกิดขึ้นใหม่ 50 เขต จะมีสถานะเป็นทะเลเดือด (red ocean) ของการแข่งขันในการเลือกตั้ง โดยสิ่งน่าจับตามองแบบไม่กระพริบ คือการแบ่งเขตใหม่ในจังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.เขตเพิ่มขึ้น

กกต.เคยได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ในการแบ่งพื้นที่เขตเลือกตั้ง ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ว่าเป็นการแบ่งเขตที่พิลึกพิลั่นในบางจังหวัดที่เป็นพื้นที่ของแกนนำพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี บางจังหวัดเอาอำเภอที่มีพื้นที่ติดกันยาวไม่กี่ร้อยเมตร เป็นป่าเขา ไม่มีถนนหนทางเชื่อม มาเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน เพียงมุ่งหวังฐานคะแนนเสียงที่เอามารวมกันแล้วได้เปรียบของผู้สมัครพรรคตน

การแบ่งเขตเลือกตั้งจึงเป็นปัจจัยหนึ่งของการชี้ขาดการแพ้ชนะในการเลือกตั้งแต่แรก

การล่วงรู้ถึงพื้นที่ของเขตเลือกตั้งใหม่ก่อนคู่แข่ง ย่อมหมายถึงการตระเตรียมตัวผู้สมัครได้พรั่งพร้อมมากกว่า

กกต.เองจึงต้องวางตัวให้เหมาะสม มีความเป็นกลาง ไม่ต่อหน้าอย่าง แต่ลับหลังอย่าง แอบส่งข้อมูลให้แก่ผู้สมัครบางพรรคเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ

บทสรุปของความสำเร็จในการแก้รายมาตรา

 

ความสำเร็จในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญภายใต้กลไกการออกแบบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ นั้นมีความซับซ้อนพันลึกและต้องหาฉันทามติจากทุกฝ่าย ดังนั้น หากไม่เป็นประเด็นที่พิสูจน์ถึงที่สุดแล้วว่าเป็นการแก้ที่มุ่งประโยชน์แก่ส่วนรวม เป็นการแก้เพียงแค่เป็นเกมกลทางการเมืองเพื่อทำให้ฝ่ายตนเป็นฝ่ายได้เปรียบ

กลไกที่ออกแบบดังกล่าว จะกลายเป็นอุปสรรคให้แก่ผู้ออกแบบเอง

กงเกวียนกำเกวียน โดยแน่แท้