สมุดปกเหลือง : คนหนุ่มกับความพยายามเปลี่ยนแปลง รากเหง้าของสยาม | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

“จะต้องบํารุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทํา จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” (หลักที่ 3 เรื่องเศรษฐกิจ ตามหลัก 6 ประการของคณะราษฎร)

ไม่แต่เพียงการรวมศูนย์อำนาจการปกครองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกล้มลงจากการปฏิวัติ 2475 เท่านั้น แต่คณะราษฎรยังพยายามปฏิวัติการกระจุกตัวของที่ดินส่วนใหญ่ที่ถือครองโดยชนชั้นนำและขุนนางลงอีกด้วย ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันทางความคิดระหว่างฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงกับฝ่ายที่ต้องการคงเดิม

เห็นได้ชัดในความขัดแย้งระหว่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ของนายปรีดี พนมยงค์ หรือ “สมุดปกเหลือง” กับบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ หรือ “สมุดปกขาว”

นายปรีดีในวัย 32 ปี ได้ร่างสมุดปกเหลืองซึ่งเป็นแผนเศรษฐกิจเพื่อปฏิรูปที่ดินและรัฐสวัสดิการแก่ประชาชนขึ้น ภายในมีเนื้อหาสำคัญดังนี้

ประกาศของคณะราษฎร ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจ การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร แรงงานที่สูญเสียไป และพวกหนักโลก แบ่งเป็นแรงงานเสียไปโดยที่มิได้ใช้เต็มที่ แรงงานเสียไปเพราะจัดการเศรษฐกิจไม่เหมาะ แรงงานที่เสียไปเพราะบุคคลที่เกิดมาหนักโลก วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน การจัดหาที่ดิน การจัดหางาน การจัดหาทุน การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์ การป้องกันความยุ่งยาก ในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง พร้อมเสนอแผนเศรษฐกิจแห่งชาติให้เป็นกฎหมาย

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งโดยสังเขป เริ่มต้นจากภายหลังปฏิวัติทางการเมืองแล้ว คณะราษฎรได้ประกาศหลัก 6 ประการ โดยมีหลักข้อ 3 กล่าวถึงการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ อันเป็นเหตุให้นายปรีดี หนึ่งในแกนนำคณะราษฎรและรัฐมนตรีนำเสนอแนวนโยบายเพื่อบรรลุอุดมคตินั้น ก่อนที่จะนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เขาได้นำสมุดปกเหลืองไปแจกจ่ายก่อนนำเรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

“เมื่อร่างโครงการณ์เศรษฐกิจแล้วได้พิมพ์ขึ้นแจกจ่ายในหมู่ผู้ก่อการและคณะกรรมการราษฎร การที่แจกผู้ก่อการนั้นเพื่อให้เอาไปอ่านก่อนว่าจะมีความเห็นชอบด้วยหรือไม่ การที่แจกคณะกรรมการคณะราษฎรก็เพราะเรื่องที่จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคณะราษฎร เพื่อให้โอกาสกรรมการคณะราษฎรได้อ่านเสียก่อน” (คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ, 2482)

จากนั้น เขาจึงนำเสนอสมุดปกเหลืองต่อคณะรัฐมนตรี

 

 

ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสมุดปกเหลืองของนายปรีดี พระยามโนปกรณ์ฯ นำเสนอบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยที่ไม่ทรงเห็นด้วยกับสมุดปกเหลืองในที่ประชุม นายปรีดีจึงขอลาออกจากรัฐมนตรีเพื่อประกาศแนวคิดในนามของตนเอง แต่พระยามโนปกรณ์ฯ ไม่อนุญาต

ในที่สุด วันที่ 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์ฯ ทำการรัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนฯ และมีการงดใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 บางมาตราอีกด้วย

ในพระราชกฤษฎีกาให้ปิดสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ มีสาระสรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า สภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นสมาชิกชั่วคราว ไม่เป็นการสมควรที่สภาจะเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจอันเป็น “รากเหง้าแห่งความเป็นความอยู่ของประเทศมาแล้วแต่โบราณกาล” แต่มีสมาชิกเป็นจำนวนมากแสดงความปรารถนาแรงเกล้าเพียรที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้น หากสภาประชุมต่อไป จะนำมาสู่ความไม่มั่นคงต่อประเทศ และทำลายความสุขสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎร (ราชกิจจานุเบกษา, 1 เมษายน 2476)

ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 2 เมษายน รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเองโดยไม่ผ่านสภา ชื่อ “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476” เพื่อมิให้นายปรีดีเคลื่อนไหวทางการเมืองอันเป็นการกล่าวหาเพื่อปิดปากทางการเมือง

พระยามโนปกรณ์ฯ

และวันที่ 12 เมษายน 2476 สมุดปกขาวที่วิพากษ์วิจารณ์สมุดปกเหลืองอย่างเผ็ดร้อนถูกเผยแพร่สู่สังคมว่า “สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้”

เอกสารดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการวิพากษ์วิจารณ์และลดความชอบธรรมของนายปรีดี ด้วยการกล่าวหาว่า เขาเป็น “คอมมิวนิสต์” พร้อมๆ กับที่เขาออกเดินทางลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส เหตุการณ์ความขัดแย้งนี้กินระยะสั้นๆ แค่เพียง 1 เดือน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่สั้นแต่แหลมคมมาก

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตถึงผู้อยู่เบื้องหลังสมุดปกขาวไว้ดังนี้ “พระยามโนปกรณ์กับพวกได้ทำพระราชวิจารณ์ตำหนิเค้าโครงการณ์เศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ว่าไม่เหมาะสมกับประเทศไทยและเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วให้พระปกเกล้าฯ ลงพระนาม”

(คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ, 2482)

 

การนำเอกสารออกเผยแพร่ด้วยจำนวนที่แตกต่างมากนั้นอาจมีผลต่อความเข้าใจของสังคม ที่มีต่อประเด็นต่างๆ ที่บรรจุอยู่ในเอกสารทั้งสองด้วย

เช่น การเผยแพร่สมุดปกเหลืองแจกจ่ายเพียงในหมู่คณะรัฐมนตรี และสมาชิกคณะราษฎร ในขณะที่การแจกจ่ายสมุดปกขาวนำออกแจกจ่ายหลายพันฉบับ นอกจากนี้ รัฐบาลยังสั่งห้ามหนังสือพิมพ์ตีพิมพ์สมุดปกเหลืองออกสู่สังคมด้วย

วิกฤตการณ์ทางการเมืองนี้ ยาตาเบ ทูตญี่ปุ่น ผู้เห็นการปฏิวัติ 2475 เห็นว่า รัฐบาลโฆษณาเกินความจริงว่า นายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และมีความต้องการคุกคามสวัสดิภาพของประชาชน เขาเห็นว่า การป้ายสีเหล่านี้มุ่งประหารชีวิตทางการเมืองของนายปรีดี (ยาตาเบ, 2550, 89)

เมื่อนายปรีดีถูกพระยามโนปกรณ์ฯ บังคับให้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว ต่อมาเขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ที่สิงคโปร์ ปฏิเสธในข้อกล่าวหาว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ เขาเป็นแต่เพียงโซเชียลลิสต์เท่านั้น

แม้นายปรีดีเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว แต่วิกฤตการณ์ทางการเมืองยังไม่จบสิ้น

พระยามโนปกรณ์ฯ เดินหน้าดึงอำนาจทางการเมืองและการทหารกลับจากคณะราษฎรมายังกลุ่มอำนาจเก่า ทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ

จนกระทั่งวันที่ 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐประหารพระยามโนปกรณ์ฯ เพื่อยุติบทบาทการขัดขวางความเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ลง พร้อมประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคมอีกครั้ง

ดังนั้น การรัฐประหารครั้งนี้ แตกต่างไปจากการรัฐประหารครั้งหลังๆ คือ การรัฐประหารครั้งนี้ต้องการเพียงขับไล่รัฐบาลอนุรักษนิยมออกจากอำนาจและประกาศยืนยันการใช้รัฐธรรมนูญต่อไป

หาได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญเหมือนครั้งอื่นๆ ที่ตามมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอำนาจเก่าหาได้ยุติลงจากความพ่ายแพ้จากการดำเนินการของพระยามโนปกรณ์เท่านั้น แต่ในเดือนตุลาคม 2476 นั้นเอง พวกเขาเลือกใช้การหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงด้วยกำลังทางการทหาร ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ที่เกิดขึ้นช่วงปลายปีนั้นเอง

ในเวลาต่อ นายปรีดีให้สัมภาษณ์ทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า “ในปี ค.ศ.1932 ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทําการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น ข้าพเจ้าก็ไม่มีอํานาจ” (บทสัมภาษณ์นายปรีดี เอเชียวีค 28 ธันวาคม 2523)

กล่าวโดยสรุป ภายหลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรที่มีสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากคนหนุ่ม ผู้เป็นทหารชั้นผู้น้อย และพลเรือนล้วนมีความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

แต่การผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้ก้าวต่อไปของพวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการจากกลุ่มอำนาจเก่า ผู้ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้พวกเขาศูนย์เสียอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจไป

ดังนั้น สภาวการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับความขัดแย้งร่วมสมัยระหว่างคนหนุ่ม-สาว กับกลุ่มเบบี้บูมและอภิชนที่คนกลุ่มหลังได้เปรียบจากโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมแบบเดิมซึ่งไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพวกเขาได้ประโยชน์จากโครงสร้างที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

พร้อมกล่าวว่าคนหนุ่ม-สาวว่าเป็น “ผู้ชังชาติ”

แต่คนหนุ่ม-สาวโต้กลับว่า พวกเขาไม่ได้ชังชาติ แต่พวกเขาชัง “คนที่ชังประชาชน”