แด่ทุ่งฝันการศึกษา : เมื่อเถรวาท-คาทอลิกพ่ายแพ้แก่ยูดาห์ / อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

แด่ทุ่งฝันการศึกษา

: เมื่อเถรวาท-คาทอลิกพ่ายแพ้แก่ยูดาห์

 

ไม่ว่าจะจินตนาการอย่างไร รัฐบาลปารีส หรือสำนักงานที่ฮานอยโคโลเนียล-เจ้าของ “ปฏิรูปการศึกษากัมพูชา” ตามระบอบทฤษฎี (ของยิว) นี้

ฉันน่ะ อยากจะเรียกว่ามันคือการ “ปฏิวัติ” ครั้งใหญ่เลยทีเดียว

ด้วยผลพวงการปฏิรูปครั้งนี้ ได้ส่งต่อการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาทั้งฝ่ายเถรวาทและสังคมการเมือง

น่าเสียดาย นักปฏิวัติเขมรกลุ่มนั้นติดกับชะงักจากภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 และการปรากฏตัวของพวกเขาที่กลายเป็นศัตรูฝ่ายอนุรักษนิยมที่ผนึกกัน ทั้งฝรั่งเศสและเชื้อพระวงศ์เขมร

เต็มไปด้วยสรรพกำลังและเล่ห์เหลี่ยมการเมืองขนาดนั้น ไฉนเลยฝ่ายนักปฏิวัติที่ยังเดียงสาจะมีชัยชนะได้

แต่เหนือกว่านั้นคือ ทำไมรัฐบาลอินโดจีนจึงขับเคี่ยวให้ชาวเขมรมีการศึกษา ช่างไม่รู้เลยหรือว่า การทำให้คนท้องถิ่นอาณานิคมฉลาดขึ้นเร็วมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นอันตรายกับตัวเองมากขึ้นเท่านั้น?

และการปฏิรูปการศึกษาของที่นั่น-แคว้นกัมพูชาได้ส่งผลการเปลี่ยนแปลงที่ตามมาถึงเพียงนี้

ช่างกระไร นอกจากจะไม่พยายามฉุดรั้ง “กงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลง” นี้ ดังที่เกิดขึ้นรอบภูมิภาคนี้ ที่ยังคงพยายามรักษาอำนาจของตนไว้อย่างถึงที่สุดด้วยแนวทางนี้

แต่สำนักงานกรุงฮานอยกลับมุ่งความสนใจให้กัมพูชาอย่างมากไปด้วยวิธี หรือแท้จริงแล้ว นี่คือทฤษฎีสมคบคิดไม่กี่คนของชาวยิวที่เป็นทั้งนักคิดและนักบริหาร

อีกยังเป็นผู้มาก่อนกาล ไม่ว่าจะเป็น ศ.หลุยส์ ฟิโนต์, หลุยส์ มานีโปด์, ซูซานน์ คาร์เปเลส หรือแม้แต่จอร์จ เซเดส ตลอดจนข้าหลวงใหญ่ประจำแคว้นและกงสุลฝ่ายเศรษฐกิจ (ที่คาดว่าเป็นยิวด้วย)

อนิจจา ถ้าไม่มีปรากฏการณ์สงครามโลกและรัฐบาลวิธีฝรั่งเศสที่ราวียิว-อินโดจีน

ใครจะรู้ว่า ระบบการศึกษาแนวพุทธของเขมร (และลาว) จะก้าวไปทิศทางใด?

บางครั้ง ความฝันก็ไม่เป็นความจริงได้ เห็นได้ชัดจากการที่ซูซานน์ คาร์เปเลส เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารอาณานิคมฉบับหนึ่งเกี่ยวกับความก้าวหน้าในเด็กสตรีชาวเขมรที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่ เธอภูมิใจการเปลี่ยนนี้จนถึงขั้นเชื่อว่า มันจะเปลี่ยนโลกนี้ได้

ดังนี้ ถ้าจะมีข้อกล่าวหาอะไรสักอย่าง ต่อความเป็นยิว-นักปฏิรูปกัมพูชากลุ่มนี้ ฉันขอกล่าวว่า โลกใบนี้คงสูญเสียความเป็นตัวตนของเรา

และไม่ใช่ความคิดง่ายๆ ของฉันก่อนหน้านั้นที่คิดว่าคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญต่อกัมพูชาเพราะหลงรักประเทศนี้อย่างหัวปักหัวปำ

หรือมิฉะนั้น พวกเขาก็ต้องการจะเอาชนะอะไรบางอย่างโดยเฉพาะทฤษฎีล้มเถรวาทให้เป็นสามัญศาสนาของชาวท้องถิ่นอะไรนั่น

ตรงกันข้าม ในความย้อนแย้งที่สมบูรณ์แบบนั่น พวกเขากลับยกระดับอย่างเป็นรูปธรรมเสียด้วยซ้ำ

 

ขณะเดียวกัน ในสายตาคนนอกอย่างฉัน มันก็ยังเป็นความปั่นป่วนอย่างวายร้าย ไม่ว่าจะยามว่างหรือเดียวดาย ฉันมักจะคิดร่ำไป และว่า ทำไมการใช้ชีวิตที่แตกต่างอย่างมากในกัมพูชา กลับไม่พบว่าเป็นอุปสรรคเชิงความคิดต่อคนกลุ่มนี้

ตรงข้ามพวกเขากลับค้นราวกับล้อเล่นกับ “มรรควิธี” ที่เจือด้วยความงมงายในชาวพุทธบางกลุ่ม แต่ด้วยความนักคิด วิทูยิวในเขมรกลุ่มนี้ กลับสนับสนุนการศึกษาแนวพุทธระดับสูงในกลุ่มพระเขมรหนุ่มและปัญญาชนแถวหน้า

ซึ่งต่อมาคนเหล่านั้นกลายเป็นปัญญาชนกลุ่มนำของกัมพูชาเกือบทั้งหมด

มันยากเลยนะ ที่ฉันจะฟันธงว่า การขับเคลื่อนประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยกัมพูชาระหว่างปี 1945-1975 มีที่มาจากวิทูยิวกลุ่มนี้

แต่มันเป็นจริงมากกว่านั้น ก่อนหน้านี้ ฝรั่งเศสเคยพยายาม 108 วิธีกว่าศตวรรษที่จะอาศัยระบอบคาทอลิกเปลี่ยนแปลงสยามและกัมพูชา รวมทั้งการศึกษา ซึ่งพบว่าล้มเหลวหมด

โดยเฉพาะในเขมรนั้น บาทหลวงฝรั่งเศสเกือบทุกคนมองเขมรด้วยแว่นขยายอันเดียวคือความไม่พัฒนา มีก็แต่มิชชันนารีบางคนเท่านั้นที่ให้คุณค่าชนกลุ่มน้อย ปลีกตนเข้าป่าสร้างนิคมคาทอลิกอันลึกลับ แต่สำหรับในเมืองเขมรแล้ว ไม่มีบาทหลวงคนไหนเลยที่เข้าถึงจิตใจชาวเขมร

เมื่อสูญเสียความมั่นคงจิตใจ การชี้นิ้วกล่าวหาเหยียดความเป็นพุทธของคนถิ่น จึงเป็นข้ออ้างเดิมๆ ที่ไม่เคยถูกแก้ไขจนเมื่อพวกยูดาห์-ศาสนายิว (Judaism) มาถึง

มุมมองใหม่ในเชิงบริหารและให้การศึกษาจึงเกิดขึ้น

ดังนี้ จึงกล่าวว่า “พวกคาทอลิกไม่เคยชนะเหนือชาวพุทธกัมพูชา ดังที่ตนประสบความสำเร็จมาแล้วกับเวียดนาม”

พระคุณเจ้านึกไม่ออกเลยเหมือนกัน ถ้าไม่มียิวกลุ่มนี้ ทฤษฎีปฏิรูปการศึกษากัมพูชาจะจมเหวอีกนานสักกี่ปี?

 

ใช่แต่จะต่อสู้กับฝ่ายคาทอลิกเท่านั้น แต่นักวิชาการชาวยิวกลุ่มนี้ยังสู้กับราชสำนักศักดินากัมพูชาอีกด้วย การต่อสู้ทางความคิดที่ว่ายากแล้ว แต่ความไม่ลงรอยระหว่าง 2 รัฐอำนาจ ยิ่งยากกว่า…

กระนั้น ปฏิบัติการ “ยางเหนียว” ของเธอ-เขา ก็ยังลุกโชนกลายเป็น “คบเพลิง” ที่เผาไหม้ไปสู่ “ปฏิรูป” การศึกษานั้นจนได้

ดังนี้ ปลายรัชกาลพระบาทนโรดม ในปี พ.ศ.2445 นั้น โรงเรียนระบบฝรั่งเศสคาทอลิก 4 แห่ง ถูกตั้งขึ้นในเขมรและกระจายตามจังหวัดแต่ละแห่งคือ พนมเปญ กำโปด ไปรแวง และตาแก้ว รวมนักเรียนทั้งหมดราว 250 คน

ปีถัดมา 1903 ก่อตั้งโรงเรียนลูกผสม “เขมร-ฝรั่งเศส” ถึง 2 โรงที่จังหวัดกำปงจาม ต่อมาอีกปี เมื่อโรงเรียนสตรีเขมรแห่งแรกของกรุงพนมเปญเกิดขึ้นก็ทรงถึงแก่สวรรคต (2447)

ดังนี้ พอถึงรัชกาลพระบาทสีโสวัตถิ์ (2447-2470) ระหว่างปี พ.ศ.2448-2450 การขยายตัวโรงเรียนลูกผสมแบบกำปงจามจึงกระจายออกไปถึง 18 โรง

อย่างไรก็ตาม ในปี 2478 นั้น กัมพูชาสามารถขยายโรงเรียนมัธยมปลายระดับเกรด 10 เป็นครั้งแรก

 

ดังนี้ กว่าที่หลุยส์ มานีโปด์ ซึ่งสำรวจและเริ่มต้นโครงการศึกษาแผนใหม่แบบโรงเรียนวัดเขมรนั้น จะลุล่วงไปได้ ก็มาถึงปลายรัชกาล และได้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระบาทสีโสวัตถิ์ มุนีวงษ์ (2470-2484)

แต่มานีโปด์ก็ล้มเหลวเมื่อพบว่า การศึกษาระดับประถมของเขานั้น เด็กเขมรที่อายุระหว่าง 7-11 ปีนั้นช่างเปราะบางที่จะเล่าเรียนแผนใหม่ เมื่อพออายุได้ 12-14 ปี พ่อ-แม่เด็กๆ ก็จะส่งพวกเขาไปบวชเรียนที่วัดกับเจ้าอาวาส โดยไม่ไยดีว่าจะจบการศึกษาแผนใหม่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปี (2467-2473) โครงการระยะสั้นของเขาก็กลับมา “ยืดหยุ่น” และพบว่า แท้จริงแล้ว ชาวเขมรมีความรักต่อการศึกษา หาได้ขี้เกียจ คับแคบและเย็นชาดังที่กล่าวมาแต่อดีต

และนั่นทำให้ความเชื่อที่ว่า การศึกษาแผนใหม่นี้จะกระจายออกไปราว 3,000 โรงทั่วประเทศ

มีความเป็นไปได้สำหรับภารกิจสร้างคนตามหลักสูตร “คณิตศาสตร์-อ่าน-เขียน” ที่หลุยส์ มานีโปด์ วางไว้ ซึ่งเชื่อว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแคว้นนี้จะถูกกำจัดไปได้ในไม่ช้า

และไม่เพียงแต่ “เปลี่ยนศาลาวัด” เป็น “โรงเรียน” เท่านั้น

โดยไม่ถูกยัดเยียดด้วยความเชื่อแบบคาทอลิก ที่นักเถรวาทมองว่าเป็นลัทธิที่มุ่งทำลายพุทธศาสนาและธรรมวินัยของฝ่ายตน

อีกความไม่ลงรอยหวาดระแวงระหว่างรัฐบาลบารังกับพระอาวุโสในคณะเถรวาท ก็ถูกเชื่อมกลางด้วยพระลูกศิษย์ที่ไปอบรมเป็นครูและคนของรัฐบาลอินโดจีนโดยปริยาย

และใครจะเชื่อเล่าว่า หลังจากเยือนสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์และปกครองเขมรมาหลายปีดีดัก ฝรั่งเศสที่เปลืองเปล่าไปกับยุทธวิธีเอาชนะแคว้นเถรวาทภูมิภาคนี้ อย่างมุ่งมั่น ทว่าในที่สุด เขาก็พบมันอย่างง่ายดาย เพียงเจ้าหน้าที่อินโดจีนเชื้อสายยิวไม่กี่รายเท่านั้น

พลันประตูชั้นในแห่งศาสนาและวัฒนธรรมที่มั่นคงสถาน ก็ถึงกาลเปิดกว้างตอบรับหนทางความเปลี่ยนแปลง และพบว่า…

สำหรับ “นักคิด-ผู้เปลี่ยนแปลงสังคม” แล้ว ไม่มีอะไรซับซ้อนเกินกว่าที่จะทำไม่ได้!