วิกฤตินิเวศ เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (20)/ วิกฤติศตวรรษที่21 อนุช อาภาภิรม

วิกฤติศตวรรษที่21

อนุช อาภาภิรม

 

วิกฤตินิเวศ

เมื่อภูมิอากาศแปรปรวน (20)

 

วิกฤติภูมิอากาศกับจุดพลิกผันที่ไม่อาจหวนกลับ

ความคิดเรื่อง “จุดพลิกผัน” (Tipping point) มีการนำมาใช้ในหมู่นักวิชาการ-ผู้กำหนดนโยบายมากขึ้นทุกที เนื่องจากสิ่งที่ศึกษาได้แก่ ระบบเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ มีลักษณะซับซ้อน ปรับตนเองได้ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วและต่อเนื่อง ตามแนวคิดนี้ เมื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณไปถึงจุดหนึ่ง มันจะดำเนินต่อไปเองแบบไม่หวนกลับ

ผู้ทำให้แนวคิดจุดพลิกผันเป็นที่แพร่หลายในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (เกิด 1963 ถึงปัจจุบัน) นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน นักพูดชาวแคนาดาเกิดในอังกฤษ เป็นการนำมาใช้ในด้านธุรกิจ งานเขียนโด่งดังเล่มแรกของเขาชื่อ “จุดพลิกผัน” (The tipping point : How little things can make a big difference เผยแพร่ครั้งแรกปี 2000) เป็นหนังสือขายดีได้หลายล้านเล่ม มีฉบับแปลภาษาไทยด้วย

แกลดเวลล์ออธิบายจุดพลิกผันว่า หมายถึงภาวะมวลวิกฤติที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณ จนถึงจุดที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ ต้องระเบิดออกมาคล้ายปฏิกิริยาลูกโซ่ในก้อนธาตุยูเรเนียมที่ใช้ในการทำระเบิดปรมาณู หรือหมายถึงจุดเดือดที่เมื่อของเหลวมีอุณหภูมิสูงถึงจุดพลิกผัน มันก็เดือดขึ้น หรือหมายถึงขีดเริ่มเปลี่ยน (Threshold) คล้ายการก้าวข้ามธรณีประตู เปลี่ยนจากนอกบ้านมาสู่ในบ้าน เป็นการเปลี่ยนสภาวะของสิ่งนี้

ปรากฏการณ์จุดพลิกผันทางธุรกิจการงาน เกิดขึ้นได้จากกฎ 3 ข้อ คือ

ก) บทบาทของคนส่วนน้อย ได้แก่ ผู้ที่ต่อเชื่อม ผู้เชี่ยวชาญการส่งสาร และเซลส์แมน เป็นผู้ส่งสาร

ข) สารที่ส่งไปมีความเหนียวแน่นชวนจดจำ เช่น การตั้งชื่อว่า “จุดพลิกผัน”

ค) มีบริบทที่เอื้ออำนวย เช่น ไม่ช้าไปหรือเร็วไป ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ โดยข่าวสารที่ส่งออกกระจายไปเหมือนไวรัส ผู้ปฏิบัติจะประสบความสำเร็จในการงาน การดำเนินชีวิตอย่างน่าพิศวง

แกลดเวลล์ยังเขียนหนังสือขายดีอีกหลายเล่มระหว่างปี 2005 ถึง 2013 เป็นการใช้กฎสามข้อข้างต้นอย่างได้ผล

ในปี 2000 เดียวกันนี้ได้มีนักวิชาการชาวสหรัฐเชื้อสายคิวบาทางด้านมานุษยวิทยาและโบราณคดี คือ โรเบิร์ต คาร์เนโร (Robert Carneiro 1920-2007) ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องจุดพลิกผัน หรือการเปลี่ยนจากเชิงปริมาณที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ เป็นหลักการที่ควบคุมวิวัฒนาการทางการเมืองและวัฒนธรรมของมนุษย์ (ดูบทความของ Robert Carneiro ชื่อ The transition from quantity to quality : A neglected causal mechanism in accounting for social evolution ใน pnas.org 07/11/2000)

คาร์เนโรลำดับเรื่องว่า เฮเกลเป็นนักปรัชญาชาวเยอรมันคนแรกที่เสนอเรื่องนี้ในหนังสือ “วิทยาศาสตร์แห่งตรรกะ” (เผยแพร่ปี 1812) ว่า “การเปลี่ยนแปลงของการดำรงอยู่ ไม่เพียงเปลี่ยนจากคุณสมบัติหนึ่งไปยังอีกคุณสมบัติหนึ่ง (อย่างช้าๆ) แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดไปยัง…สิ่งที่มีคุณภาพใหม่ เป็นการสะดุดของกระบวนการเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เกิดการแตกต่างทางคุณภาพจากสถานะก่อนหน้านี้”

คาร์เนโรยังระบุว่า คาร์ล มาร์กซ์ รับเอาแนวคิดนี้มาอยู่ในปรัชญา “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” ของเขา

ในงานเขียนชื่อ “ทุน” มาร์กซ์อธิบายว่า

“การต่างกันในเชิงปริมาณเมื่อถึงจุดหนึ่งจะผ่านไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ”

แต่เป็นเองเกลมิตรสนิทของมาร์กซ์ ที่นำปรัชญานี้มาใช้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในหนังสือชื่อ “วิภาษวิธีในธรรมชาติ” (เผยแพร่ 1883) เมื่อวิทยาศาสตร์พัฒนาไป ได้มีนักทฤษฎีฟิสิกส์มีชื่อ เช่น เดวิด โบห์ม (1917-1992) ชี้ว่า “การเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณของพลังงานจลน์ในระดับโมเลกุล นำมาสู่การเปลี่ยนเชิงคุณภาพในคุณสมบัติ ของสิ่งอย่างหลากหลาย”

สำหรับคาร์เนโรในฐานะที่เป็นนักวิจัยภาคสนาม ได้นำหลักการนี้มาใช้เพื่อแสดงว่า จุดพลิกผันดังกล่าวควบคุมวิวัฒนาการทางการเมืองและวัฒนธรรมของมนุษย์ ที่สามารถศึกษาวัดได้

ดังได้แสดงใน “ทฤษฎีขอบเขต” (Circumscription Theory) ที่เขาเริ่มเสนอตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1970

ทฤษฎีนี้สรุปได้ว่า ในพื้นที่ขอบเขตการเกษตร แรงกดดันจากประชากรก่อให้เกิดสงครามซึ่งนำมาสู่การอุบัติขึ้นของรัฐ สังคมมนุษย์มีวิวัฒนาการจากหมู่บ้านยุคหินใหม่ ที่เรียบง่ายและเป็นอิสระ ไปสู่สังคมที่มีระบบการเมืองที่ซับซ้อนเป็นรัฐและจักรวรรดิ

 

ในด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ แนวคิดจุดพลิกผันนำมาใช้ช้ากว่าเนื่องจากปรากฏการณ์นี้เพิ่งศึกษากันจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

บุคคลแรกๆ ที่ชี้ให้เห็นประเด็นนี้ได้แก่ วอลลี่ โบรกเกอร์ [Wallace Smith Broecker (1931-2019)] นักสมุทรศาสตร์และนักธรณีฟิสิกส์ชาวสหรัฐ ได้ชื่อว่าเป็น “ปู่แห่งวิชาภูมิอากาศ”

ในปี 1975 เขาได้เขียนบทความชื่อ “การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ” “Climate Change : Are we on the brink of a pronounced global warming?) ชี้ว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยสู่บรรยากาศ จะทำให้โลกร้อนในอีกไม่นาน

ในปี 1987 เขาเตือนว่า จากการศึกษาภูมิอากาศในยุคหินเก่าแสดงว่า “ภูมิอากาศโลกไม่ได้ตอบสนองต่อแรงกดกันอย่างราบเรียบ และค่อยเป็นค่อยไป หากแต่จะตอบสนองในรูปแบบการก้าวกระโดด ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนในระบบโลกอย่างขนานใหญ่”

สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่นำแนวคิดจุดพลิกผันมาใช้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างเป็นระบบและมีกรณีเป็นรูปธรรมควรกล่าวถึงคือ ทิม เลนตัน (Timothy M. Lenton 1973 ถึงปัจจุบัน) อาจารย์ทางวิชาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศชาวอังกฤษ เขาและคณะได้เริ่มโครงการศึกษาจุดพลิกผันทางภูมิอากาศตั้งแต่ปี 2005 มีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจำนวนหลายสิบคนเข้าร่วม

ในปี 2008 เขาและคณะได้เขียนบทความชื่อ “ส่วนย่อยพลิกผันในระบบภูมิอากาศโลก” (Tipping elements in the Earth’s climate system ใน pnas.org 07/02/2008) ชี้ว่าส่วนย่อยในระบบภูมิอากาศโลกอาจจะผ่านจุดพลิกผันได้ในเวลาที่เร็วกว่าคาด

ในบทความปี 2008 เขาคิดว่าสิ่งที่เขาและคณะนำเสนอนั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ทางทฤษฎี แต่เมื่อถึงปี 2019 เขาได้เห็นชัดว่า สิ่งที่กล่าวไปนั้นเป็นความจริง สามารถวัดตรวจสอบได้ และโลกเข้าสู่ภาวะฉุกเฉินทางภูมิอากาศ

โดยที่จุดพลิกผันทางภูมิอากาศสามารถเกิดขึ้นได้เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นเพียง 1-2 องศาเซลเซียส จากก่อนยุคอุตสาหกรรม ไม่ใช่มากกว่า 5 องศาอย่างที่กล่าวกันก่อนหน้านี้ (ดูบทความของ Timothy M. Lenton และคณะชื่อ Climate tipping points – too risky to bet against ใน nature.com 28/11/2019)

ส่วนย่อยที่ก่อให้เกิดการพลิกผันในภูมิอากาศที่น่าจับตาได้แก่ น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก และแผ่นน้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์ นอกจากนี้ได้แก่ แผ่นน้ำแข็งทางด้านตะวันตกของทวีปแอนตาร์กติก การไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก (Atlantic Thermohaline Circulation (THC) สภาวะอุ่นของเอนโซ (El Nino-South Oscillation – ENSO) ลมมรสุมฤดูร้อนที่มหาสมุทรอินเดีย ป่าฝนแอมะซอน ป่าเขตหนาว เป็นต้น

 

เป็นที่สังเกตว่า ทิม เลนตัน และนักวิทยาศาสตร์ทางภูมิอากาศที่กล่าวถึงนี้ วางตัวเป็นนักวิชาการ-นักบริหาร ไม่ใช่นักเคลื่อนไหว นั่นคือศึกษาหาข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ แล้วนำประเด็นมาปรึกษาหารือกับนักบริหารหรือผู้กำหนดนโยบายเพื่อหาทางออก ไม่ใช่เพื่อมากดดันแบบนักเคลื่อนไหว

ตามแนวคิดของนักวิชาการ-นักบริหารเหล่านี้ เห็นว่าภูมิอากาศโลกมีกลไกที่ควบคุมตัวเองให้อยู่ในระเบียบ หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ แต่เกิดการสะดุดรุนแรงจากการกระทำของมนุษย์ที่เผาเชื้อเพลิงฟอสซิล ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบภูมิอากาศโลกเข้าสู่จุดพลิกผัน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้บริหารอันมีจำนวนไม่มากนักจะได้ตระหนักรู้ และลงมือปฏิบัติแก้ไขอย่างทันกาล

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ