ฝ่ายต้านรัฐประหารเมียนมาเริ่มก่อตั้งรัฐบาลและกองทัพใหม่ (จบ) / การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ(ฉบับประจำวันที่ 16-22 เมษายน 2564 ฉบับที่ 2122)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ฝ่ายต้านรัฐประหารเมียนมาเริ่มก่อตั้งรัฐบาลและกองทัพใหม่ (จบ)

 

เสาร์ 13 มีนาคมที่ผ่านมา วันเดียวกับที่กองกำลังตำรวจทหารของคณะรัฐประหารมิน อ่อง ลาย ซึ่งคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพเมียนมา หรือ CRPH ตราหน้าว่าเป็น “องค์การก่อการร้าย” สังหารประชาชนผู้ประท้วงไปอย่างน้อย 12 คนนั้น

Mahn Win Khaing Than อดีตประธานสภาชาติพันธุ์หรือสภาสูงของสภาแห่งสหภาพเมียนมาผู้ได้รับแต่งตั้งจาก CRPH ให้เป็นรองประธานาธิบดีรักษาการแห่งรัฐบาลชั่วคราว ได้ออกคำแถลงต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกทางเฟซบุ๊กจากที่ซ่อนตัวลับ โดยมีเนื้อความบางตอนว่า :

“นี่เป็นช่วงมืดมิดที่สุดของประเทศชาติ และก็เป็นช่วงที่รุ่งอรุณใกล้จะมาถึงด้วย…

“เพื่อก่อตั้งระบอบประชาธิปไตยสหพันธรัฐซึ่งพี่น้องชาติพันธุ์ทั้งหลายผู้ต้องทนรับการกดขี่นานาชนิดจากเผด็จการมาหลายทศวรรษ ต่างก็มุ่งมาดปรารถนาอย่างแท้จริงนั้น การปฏิวัติครั้งนี้เป็นโอกาสให้เราทุ่มเทความพยายามร่วมกัน

“CRPH จะพยายามออกกฎหมายที่จำเป็นมาเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิป้องกันตัวเองได้ ส่วนการบริหารรัฐกิจจะดำเนินการโดยคณะบริหารของประชาชนชั่วคราว”

(www.msn.com/en-us/news/world/leader-of-myanmar-shadow-civilian-government-vows-resistance-to-junta-rule/ar-BB1eydyP)

 

รัฐคู่ขนานใต้ดิน

จากปากคำแก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เลอมงด์ของผู้พำนักอาศัยชานกรุงย่างกุ้งคนหนึ่งซึ่งขอสงวนนาม (“En Birmanie, la r?sistance se structure”, Le Monde, 9 Mars 2021, p. 2) เจ้าหน้าที่องค์การปกครองใต้ดินในเครือข่าย CRPH (หรือที่เรียกว่าสมัชชาลับของฝ่ายค้าน) ยึดหลักการแบ่งส่วนจัดตั้งอย่างเคร่งครัดด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงปลอดภัย เจ้าหน้าที่ทุกระดับจะติดต่อสัมพันธ์กับผู้รับผิดชอบระดับเหนือกว่าตนเพียงคนเดียวเท่านั้น เจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับเทศบาลก็จะขึ้นต่อเจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับอำเภอ ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอก็จะขึ้นต่อเจ้าหน้าที่รับผิดชอบระดับรัฐหรือเขต ซึ่งจะเป็นพวกเดียวที่มีสิทธิ์ติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของ CRPH ในระดับชาติได้

เจ้าหน้าที่แต่ละคณะจะประกอบไปด้วยสมาชิกประมาณ 11 ถึง 15 คน พวกเขาจะเลือกหัวหน้าคณะขึ้นมาทำหน้าที่รับผิดชอบติดต่อกับระดับเหนือกว่า สมาชิกในคณะแต่ละคนมาจากการคัดเลือกโดยเฉพาะจากกลุ่มเยาวชนในฐานะผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนโดยตรง ประกอบกับชื่อเสียงและคุณธรรมของพวกเขา ฝ่ายต่อต้านทั้งหลายจะไม่ติดต่อสัมพันธ์กันทางกายภาพในหมู่พวกตน ไม่ไปมาหาสู่กัน

และจะสื่อสารถึงกันผ่านโซเชียลมีเดียเท่านั้น

 

สงครามพร่ากำลัง

พูดยากว่าภาพการดำเนินงานและขยายตัวของรัฐคู่ขนาน CRPH ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกรณียกเว้นพิเศษเฉพาะบางท้องที่หรือเป็นความจริงที่กำลังเติบใหญ่ในขอบเขตทั่วประเทศ ในขั้นนี้มันยังคงเป็นข้อสันนิษฐานที่ควรฟังหูไว้หู เพราะเป็นเรื่องลำบากที่จะทำให้แนวคิดดังกล่าวประจักษ์เป็นจริงขึ้นมาได้นอกจากจะค่อยๆ ก่อตั้งระบบบริหารคู่ขนานขึ้นมาในที่สุด

ทั้งนี้ ไม่ว่า CRPH จะกล่าวอ้างเช่นใดก็ตาม ดังที่นักข่าวในกรุงย่างกุ้งคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า :

“เฉพาะหน้านี้ ผมยังไม่เห็นการดำเนินงานของ CRPH ในระดับท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม ผมมั่นใจว่าคนส่วนใหญ่สนับสนุนและเชื่อฟังมติของ CRPH”

นักศึกษาคนหนึ่งในเมืองมัณฑะเลย์ผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วงโดยตรงเล่าว่า : “เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจำนวนมากที่น่าจะทำงานให้กับระบอบทหาร เอาเข้าจริงกลับแอบเคลื่อนไหวปิดลับให้แก่ CRPH”

ข้างอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนอยู่ในเมืองมัณฑะเลย์ก็ยืนยันว่า : “เรารู้กันว่า CRPH เคลื่อนไหวอย่างแข็งขันเอาการเอางาน แต่ไม่รู้รายละเอียดอื่นมากไปกว่านั้น ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบปิดลับสุดยอด”

ส่วนชาวต่างชาติรายหนึ่งที่อาศัยอยู่กลางกรุงย่างกุ้งก็เสริมว่า : “ในละแวกบ้านที่ผมอยู่ พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งควรจะทำงานให้รัฐบาลก็ไม่ยอมทำอะไรกันอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะความปักใจเชื่อ ความเพิกเฉย การฉวยโอกาสหรือการจงใจเลือกก็ตามที”

กล่าวได้ว่าย่างเข้าเดือนที่สองหลังรัฐประหาร เมียนมาก็ตกอยู่ในสงครามพร่ากำลังระหว่างประชาชนผู้ลุกฮือขึ้นก่อกบฏกับระบอบทหาร ไม่มีผู้สังเกตการณ์คนใดกล้าเสี่ยงทำนายว่าฝ่ายไหนจะได้ชัยชนะ ดังที่ผู้ให้สัมภาษณ์ในย่างกุ้งคนหนึ่งกล่าวเกลื่อนคำกับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เลอมงด์อย่างไม่ใคร่จะมองโลกในแง่ดีว่า :

“ผมคิดว่า CRPH จะเผชิญภารกิจที่ยากลำบากทีเดียว”

Mahn Win Khaing Than รองประธานาธิบดีรักษาการแห่งรัฐบาลชั่วคราวเมียนมาแถลงเป็นครั้งแรก 13 มีนาคมศกนี้

ข้อวิเคราะห์ของนักวิชาการผู้ติดตามศึกษาการเมืองเมียนมาจากต่างแดนก็เป็นไปทำนองเดียวกัน ดังที่ศาสตราจารย์ Ardeth Maung Thawnghmung ประธานคณะรัฐศาสตร์และผู้อำนวยการชั่วคราวของโครงการศึกษาสันติภาพกับความขัดแย้งแห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ณ โลเวลล์ สหรัฐอเมริกา สรุปสถานการณ์การต่อสู้ขัดแย้งทางการเมืองหลังรัฐประหารในเมียนมาไว้อย่างครอบคลุมรอบด้านว่า (https://www.iseas.edu.sg/articles-commentaries/iseas-perspective/2021-30-back-to-the-future-possible-scenarios-for-myanmar-by-ardeth-maung-thawnghmung/) :

– ขณะที่พวกนายพลผู้โค่นรัฐบาลจากการเลือกตั้งของเมียนมาลงเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ศกนี้ เล็งการณ์ว่ามันจะเป็นปฏิบัติการที่รวดเร็ว ราบรื่นและไม่เสียเลือดเนื้อ ทว่าตอนนี้พวกเขากลับต้องหันมาใช้มาตรการปราบปรามอย่างป่าเถื่อนหนักข้อขึ้นทุกทีเพื่อพยายามควบคุมการต่อต้านของมหาชนซึ่งท่วมท้นล้นหลามให้อยู่หมัด

– จะเป็นฝ่ายทหารหรือฝ่ายขบวนการประท้วงก็ตาม ต่างก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าท้ายที่สุดวิกฤตปัจจุบันจะลงเอยเช่นใด

– มีฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ 9 ฉากโดยพิจารณาจากพื้นฐานเรื่องวัตถุประสงค์ของผู้เข้าร่วมกลุ่มต่างๆ ความพยายามของพวกเขาที่จะส่งอิทธิพลต่อธาตุแท้และทิศทางการคลี่คลายขยายตัวของวิกฤต และปฏิสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่ฝ่ายทหารกับขบวนการประท้วงใช้ต่อกรกัน

– ฉากทัศน์ดีที่สุดสำหรับฝ่ายทหารคือการปกครองโดยทหารนานสองปีหรือยาวไปไม่มีกำหนด สำหรับฝ่ายผู้ประท้วง ฉากทัศน์ดีที่สุดคือการหวนกลับไปสู่สถานะเดิมก่อนรัฐประหารและเนรเทศพวกนายพลผู้นำออกไปเสีย หรือไม่ก็ให้พลเรือนเข้าควบคุมกองทัพอย่างเต็มที่และสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐขึ้นมา

– ขณะนี้ดูเหมือนเมียนมาจะติดแหง็กอยู่กับฉากทัศน์แห่งความโกลาหลอลหม่านที่ซึ่งทั้งฝ่ายทหารกับฝ่ายขบวนการประท้วงต่างก็พยายามขับเคลื่อนสถานการณ์ไปสู่เป้าหมายอันเล็งผลเลิศของตน ในระยะสั้น ทหารเมียนมามุ่งมั่นจะปราบปรามขบวนการต้านรัฐประหารให้หนักข้อขึ้นหากแม้นฝ่ายขบวนการรับเอายุทธศาสตร์ต่างๆ ที่กว้างขวางครอบคลุมและหลากหลายยิ่งขึ้นไปใช้

– อาจบังเกิดจุดพลิกผันที่เป็นคุณแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมาก็เป็นได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทรัพยากรหรือการสนับสนุนเพิ่มเติมที่แต่ละฝ่ายได้มา อาจจะจากตัวกระทำการอื่นๆ ในประเทศหรือจากตัวกระทำการระหว่างประเทศและผู้แปรพักตร์จากฝ่ายตรงข้าม ถึงตอนนั้นคาดหมายได้ว่ากลุ่มองค์กรจำนวนมากจะพลอยอาศัยเกาะโหนไปกับฝ่ายที่เข้มแข็งกว่าด้วย

(รายละเอียด 9 ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ของสถานการณ์ ผมจะเขียนเล่าต่อไป)