คุยกับทูต ฌอง พอล เชนนิงเกอร์ ลักเซมเบิร์ก ประเทศแห่งความหลากหลาย (ตอน 1)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน / [email protected]

 

คุยกับทูต ฌอง พอล เชนนิงเกอร์

ลักเซมเบิร์ก ประเทศแห่งความหลากหลาย (ตอน 1)

 

แม้จะเป็นประเทศเล็กที่มีประชากรหกแสนกว่าคนและตั้งอยู่ในใจกลางของทวีปยุโรป

แต่ลักเซมเบิร์กมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงที่สุดในอียู

เป็นศูนย์กลางการเงิน การธนาคารที่สำคัญของโลก มีความก้าวหน้าด้านพัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรม

มีระบบโลจิสติกส์และระบบกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ

อุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ เทคโนโลยีดาวเทียม การผลิตเหล็กอันทันสมัย ศูนย์กลางผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำหน่ายทั่วโลก บริษัทขนส่งทางอากาศ คือ Cargolux ที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถาบันและหน่วยงานประจำทวีปยุโรป 12 แห่ง

อาทิ สำนักงานเลขาธิการรัฐสภายุโรป ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรปและศาลกลาง (EGC) ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (EIB) กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) และกลไกการเงินเพื่อเสถียรภาพแห่งยุโรป (ESM) เป็นต้น

นายฌอง พอล เชนนิงเกอร์ (H.E. Mr. Jean-Paul Senninger) เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก (The Grand Duchy of Luxembourg) ซึ่งมาประจำประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศอินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย พม่า สิงคโปร์ และเวียดนาม เริ่มต้นเปิดการสนทนาด้วยท่าทางสบายๆ เป็นกันเองและยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา ณ ทำเนียบชั้นที่ 40 ซึ่งมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของกรุงเทพฯ ได้แบบกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ของเดอะ สุโขทัย เรสซิเด้นซ์ (The Sukhothai Residences) ใจกลางเมืองย่านสาทร

“เนื่องจากผมมีความสนใจทำงานเพื่อประเทศบ้านเกิดเมืองนอนมาโดยตลอด เพราะต้องการปกป้องประเทศ รัฐบาลและประชาชน ขณะเดียวกัน ก็ต้องการเดินทางไปทั่วโลกเพื่อแสวงหาความรู้จากที่ต่างๆ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการผสมผสานความเป็นไปได้เหล่านั้นคือ การทำงานด้านการทูต”

ท่านทูตเล่าถึงสาเหตุที่มาทำงานในกระทรวงต่างประเทศ

มีคำกล่าวที่ว่า โลกใบนี้เปรียบเหมือนหนังสือ หากไม่เคยย่างเท้าไปที่ไหนเลยก็เหมือนอ่านหนังสือหน้าเดียว เพราะโลกเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ และกว้างใหญ่เกินกว่าจะอยู่กับที่

“ครั้งหนึ่ง ผมเคยสอนหนังสือ ซึ่งเป็นงานที่ดีมากเช่นกัน เพราะได้เปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียน เป็นการเปิดดวงตาและมุมมองของนักเรียนให้รู้จักโลกมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่นักการทูตทำเช่นกัน คือทำให้คนอื่นสนใจในมุมมองใหม่ๆ และความเป็นจริงต่างๆ ดังนั้น การเป็นครูจึงไม่แตกต่างจากการเป็นนักการทูต”

 

แบบอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน

“ผมมีประวัติศาสตร์ของประเทศเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจ ครั้งหนึ่ง ลักเซมเบิร์กเคยอยู่ในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของยุโรป แต่เรามีความร่วมมือที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านกระบวนการรวมยุโรป เพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวยุโรปที่ใหญ่ขึ้น การมีส่วนร่วมไม่เพียงแต่ความมั่นคงเท่านั้น หากยังรวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในภูมิภาคและในประเทศของเราเอง ซึ่งผมคิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานทางการทูต เพราะเราทุกคนจะมีอนาคตที่ดีกว่าจากการทำงานร่วมกัน”

“หากวันนี้ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวหน้าทั้งหลาย ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานอย่างหนักของชาวลักเซมเบิร์ก และยังได้รับการกล่าวขานว่า เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่เปิดกว้างและพัฒนาอยู่เสมอ พร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตร อีกทั้งยังสร้างชื่อเสียงระดับโลกในฐานะพันธมิตรที่น่าเชื่อถือ และมีนวัตกรรม โดยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการทำธุรกิจ และลงทุนเป็นอย่างยิ่ง”

ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศผู้ก่อตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป (ECSC) ร่วมกับเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ในปี ค.ศ.1952

ต่อมาปี ค.ศ.1957 ประเทศสมาชิก ECSC ลงนามสนธิสัญญากรุงโรม (Treaty of Rome) ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ในปี ค.ศ.1958 ซึ่งได้พัฒนามาเป็นสหภาพยุโรป (EU) เมื่อปี ค.ศ.1992 จนถึงปัจจุบัน

จากประเทศชนบทสู่ชาติที่เป็นแนวหน้าด้านการพัฒนาเทคโนโลยี คำอธิบายที่ตรงกับประเทศลักเซมเบิร์กมากที่สุดก็คือ ประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และได้พลิกโฉมตัวเองในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ประเทศลักเซมเบิร์กยังแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการฟื้นตัวที่น่าทึ่งท่ามกลางความวุ่นวายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และสามารถเตรียมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทายในอนาคตได้

เมื่อทั่วโลกได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา จนถึงขณะนี้ การระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใดในประเทศลักเซมเบิร์ก

“การระบาดครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ซึ่งรวมถึงยุโรปและประเทศของเราด้วย แต่ในขณะเดียวกัน ผมมีความหวังว่า หลังจากประสบการณ์ใหม่นี้ เราจะสามารถเริ่มต้นเศรษฐกิจและสังคมของเราด้วยวิธีการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนให้ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะการระบาดใหญ่ทำให้เราเห็นว่าธรรมชาตินั้นแข็งแกร่งกว่าเรายิ่งนัก”

“ทางด้านเศรษฐกิจ ลักเซมเบิร์กไม่ได้รับผลกระทบเท่าประเทศไทย เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวน้อย เรามีภาคบริการที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่สามารถทำงานต่อไปได้ในช่วงการระบาดใหญ่ โดยผู้คนทำงานจากที่บ้าน (work from home)

และเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แต่ถึงกระนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็เป็นที่สังเกตได้และเราจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงใหม่อย่างแน่นอน”

“จากแผนที่ยุโรป จะเห็นว่า ลักเซมเบิร์กอยู่ตรงกลาง ดังนั้น เราจึงอยู่ที่ทางแยกของยุโรปทั้งหมด จาก

เหนือจรดใต้ จากตะวันออกไปตะวันตก ตรงกลางของภูมิภาคคือที่ที่มีพลวัตจริงๆ ที่ที่ผู้คนเคลื่อนไหว ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เป็นจุดที่ไวรัสแพร่กระจาย แต่สิ่งที่ดีคือ ระบบสุขภาพของเราสามารถรับมือกับปัญหาได้ เราได้ปิดเศรษฐกิจบางส่วนเพื่อให้ส่วนอื่นๆ ทำงานต่อไปได้”

“ตัวอย่าง เราคิดว่า เด็กๆ ต้องไปโรงเรียนอันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจำเป็นอย่างยิ่งที่คนจะต้องได้รับการศึกษาที่ดีแม้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาด ดังนั้น เราจึงพยายามทุกอย่างเพื่อให้โรงเรียนและธุรกิจต่างๆ เปิดให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

“แต่ถ้าต้องการลดปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอื่น ก็ต้องลดการติดต่อกับคนอื่น ดังนั้น เราจึงปิดบาร์ และไม่อนุญาตให้มีการแข่งขันกีฬาเกิดขึ้น แต่หากสามารถลดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนได้ก็ไม่มีเหตุผลที่จะมีคน 200 คนในคราวเดียวกัน เราสามารถจำกัดจำนวนคนในร้านได้”

“ดังนั้น เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะทำงานกับไวรัสและปรับตัวกับไวรัส โดยไม่ปิดตัวลงอย่างสมบูรณ์”

ความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) จะเป็นอย่างไร

“เป็นเรื่องยากที่จะมองว่าอนาคตจะนำมาซึ่งอะไร ได้แต่หวังว่า เราจะละเว้นการเดินทางที่ไม่จำเป็นเพราะการเดินทางนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศด้วย แต่ก็ควรตระหนักถึงความสำคัญของหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับความทนทานเพราะทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เนื่องจากไวรัสกระโดดจากโลกของสัตว์ไปสู่โลกมนุษย์ เราจึงต้องเคารพธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้มากขึ้น คนกับธรรมชาติต้องอยู่ร่วมกันจึงอยู่รอด โดยปรับวิธีการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนและเพิ่มความรับผิดชอบ”

“ลักเซมเบิร์กได้เริ่มรณรงค์เรื่องวัคซีนพร้อมกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปซื้อวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชากรใน 27 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมด”

“สหภาพยุโรปไม่เพียงแต่ซื้อวัคซีนสำหรับชาติสมาชิกเท่านั้น แต่ยังแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประเทศที่ยากจนและประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ด้วยการแบ่งปันวัคซีนให้แก่ประเทศเหล่านั้น เพราะเราไม่สามารถแก้ปัญหาการระบาดนี้ได้เพียงแค่ปกป้องประชากรของเราเท่านั้น แต่เราต้องกำจัดไวรัสและควบคุมไวรัสทั่วโลกไม่ใช่แค่ในประเทศเดียว เราต้องต่อสู้ร่วมกันและชนะการต่อสู้ด้วยกัน”

“สำหรับประเทศไทย สามารถจัดการกับสถานการณ์นี้ได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้การติดเชื้อลดลง ประชาชนมีความระมัดระวัง เชื่อฟังและช่วยเหลือกัน ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยมีสถานการณ์ที่เกือบเป็นปกติอย่างแท้จริง คนจำนวนน้อยที่ติดไวรัส และคนที่เสียชีวิตก็มีจำนวนไม่มากนัก”

ท่านทูตฌอง พอล เชนนิงเกอร์ สรุปว่า

“อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า สถานการณ์ดังกล่าวมาพร้อมกับต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเรียนรู้ที่จะเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งในส่วนของประชาชนก็ได้ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว ด้วยการสวมหน้ากาก และรักษาระยะห่างทางสังคม ผมจึงเห็นว่า คนไทยควรได้รับการปกป้องด้วยการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด”