‘คณะกรรมการ’ ที่ถูกใจผมมาก | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

‘คณะกรรมการ’ ที่ถูกใจผมมาก

ในแต่ละเดือน แต่ละสัปดาห์ ผมมีนัดหมายการประชุมแน่นขนัดทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่ายตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์เป็นประจำอยู่เสมอ

งานส่วนใหญ่เป็นการประชุมที่ต้องใช้ความคิด ความรู้และประสบการณ์ทางด้านกฎหมายซึ่งเป็นวิชาชีพของผม

แต่มีการประชุมคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องถูกใจผมมาก และไม่เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายเลยแม้แต่นิดเดียว

คณะกรรมการชุดที่ว่านี้ คือคณะกรรมการจัดทำเชิงอรรถหรือคำอธิบายประกอบหนังสือชุดสำคัญที่ทุกคนรู้จักกันในนามของ “สาส์นสมเด็จ” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์โต้ตอบระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และมีสาระว่าด้วยความรู้ต่างๆ สารพัดสารพัน

ด้วยเหตุที่พระนิพนธ์เล่มนี้ อายุของหนังสือเก่าแก่มากแล้ว เนื้อความที่อยู่ในหนังสือก็ยิ่งเก่ากว่านั้นขึ้นไปอีก ราชบัณฑิตยสภาเกิดความกังวลว่า ถ้าคนรุ่นใหม่มาอ่านหนังสือชุดนี้เข้า จะไม่สามารถเข้าใจเนื้อความได้ทะลุปรุโปร่ง ควรจะมีการจัดทำเชิงอรรถหรือคำอธิบายขึ้นมาประกอบการพิมพ์ต่อไปในวันข้างหน้า

ดังนั้น จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น

ผมซึ่งอธิบายกับตัวเองว่าเป็นคนกลางเก่ากลางใหม่ ได้รับความกรุณาให้เป็นกรรมการด้วยคนหนึ่ง

วันไหนที่จะต้องประชุมคณะกรรมการชุดนี้ ผมจะรู้สึกกระตือรือร้นเป็นพิเศษ อารมณ์ประมาณว่าจะได้ไปกินข้าวร้านอร่อยอย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว

ขออนุญาตใช้เวลาและใช้พื้นที่อธิบายการทำงานหน่อยหนึ่งนะครับ

 

ในการประชุมแต่ละครั้ง ฝ่ายเลขานุการจะฉายภาพต้นฉบับลายพระหัตถ์ของเจ้านายสองพระองค์ ซึ่งพิมพ์แล้วอ่านง่าย ฉบับใดฉบับหนึ่งเรียงตามลำดับก่อน-หลังขึ้นบนจอภาพขนาดใหญ่ จากนั้นฝ่ายเลขานุการจะอ่านออกเสียงให้กรรมการที่นั่งในห้องประชุมได้ฟังรอบหนึ่ง พอจบย่อหน้าหนึ่งก็หยุดหายใจกัน

คราวนี้ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะไล่เรียงไปทีละบรรทัดตั้งแต่บรรทัดต้นจนจบย่อหน้า ว่าในแต่ละบรรทัดมีคำ ข้อความ สำนวน หรือชื่อบุคคล สิ่งของ สถานที่อะไรบ้างที่เราเห็นพ้องกันว่าสมควรทำคำอธิบายขยายความ

ถ้าพบคำหรือข้อความที่ว่าและมีความเห็นร่วมกันว่าควรอธิบายแล้ว กรรมการก็จะช่วยกันระดมสมองเขียนคำอธิบายโดยสังเขปสำหรับทำเป็นเชิงอรรถเมื่อนำเรื่องราวเนื้อหาทั้งหมดไปจัดพิมพ์รวมเล่ม

ข้อที่ควรระวังคือ กรรมการส่วนมากมีอายุใกล้เคียงกัน มีประสบการณ์และความสนใจใกล้เคียงกัน ถ้าเอาความเห็นของกรรมการเป็นที่ตั้งแล้ว จะเหลือคำที่ต้องทำคำอธิบายเพียงไม่กี่คำ เพราะอ่านอะไรกรรมการก็เข้าใจซึมซาบไปหมด

แต่ถ้าทำแบบนั้นก็จะไม่สมประโยชน์ของการมีคณะกรรมการครับ

ตัวช่วยสำคัญที่อยู่ในห้องประชุม คือฝ่ายเลขานุการที่มีหน้าที่พิมพ์ข้อความต่างๆ ขึ้นบนจอตามที่กรรมการบอกคำบอกสำหรับเป็นคำอธิบายศัพท์นั่นเอง

น้องคนที่เป็นเลขานุการผู้มีหน้าที่เช่นว่านี้เป็นคนที่มีอายุน้อยที่สุดในห้องประชุม ดูจากบุคลิกลักษณะแล้วผมว่าเห็นจะอายุน้อยกว่าผมเกินครึ่งครับ

กลางปีนี้ผมจะอายุ 66 ปีบริบูรณ์ เลขานุการของคณะกรรมการชุดเราจะอายุสักเท่าไหร่ก็ลองกะประมาณดูนะครับ

บ่อยครั้งที่ผมต้องถามขึ้นว่า คำที่อยู่บนจอภาพของเรา ฝ่ายเลขาฯ เข้าใจหรือไม่ ว่าหมายความว่าอย่างไร ถ้าเขาเข้าใจ กรรมการก็พยักหน้าหงึกหงักว่า ไม่ต้องทำคำอธิบาย

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ฝ่ายเลขานุการส่ายหน้าเป็นพัดลม คราวนี้ล่ะครับ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำคำอธิบายแล้ว

 

เช้าวันนี้เองผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการที่ว่ามาอีกครั้งหนึ่ง วาระการประชุมวันนี้เป็นการพิจารณาลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม พุทธศักราช 2482 ต่อท้ายลายพระหัตถ์ฉบับดังกล่าว มีพระนิพนธ์เรื่อง “อธิบายเรื่องเครื่องม้าที่อะแซหวุ่นกี้ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” แนบมาด้วย

เนื้อความในพระนิพนธ์เรื่องนั้น พรรณนาถึงของซึ่งอะแซหวุ่นกี้ให้กำนัลแก่เจ้าพระยาจักรีแม่ทัพไทย ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่ามีของ 4 สิ่งด้วยกัน คือ

“เครื่องม้าทอง สำรับ ๑

ผ้าสักหลาด พับ ๑

ดินสอแก้ว ๒ ก้อน

น้ำมันดิน ๒ หม้อ”

พอเห็นข้อความอย่างนี้ กรรมการทั้งหลายตั้งแต่ตัวผมเป็นต้นไปจนถึงสมาชิกท่านอื่นก็สาละวนที่จะอธิบายคำ แต่ละคำที่ปรากฏว่าหมายความว่าอะไร อธิบายกันสนุกเชียวครับ ตั้งแต่คำว่า ผ้าสักหลาด ดินสอแก้ว และน้ำมันดิน

เมื่อกรรมการทั้งหลายกลับคืนสู่ความสงบแล้ว น้องคนที่เป็นเลขานุการก็ค่อยกระมิดกระเมี้ยนถามด้วยความเกรงใจขึ้นว่า ทำไมตัวเลขจำนวนนับกับลักษณนามจึงเขียนไม่เหมือนกัน บางทีก็เห็นเขียนตัวเลขไว้ข้างหลังลักษณนาม เช่น สำรับ ๑ แต่บางทีก็เขียนตัวเลขไว้ข้างหน้าลักษณนาม เช่น ดินสอแก้ว ๒ ก้อน

กรรมการชราเช่นผมฟังแล้วก็อึ้งกิมกี่ไปเหมือนกัน ด้วยฤทธิ์ที่ไม่เคยสังเกตเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน เราอ่านแล้วเข้าใจแล้วก็ผ่านเลยไป ไม่เคยฉุกคิดว่าทำไมจึงเขียนไม่เหมือนกัน

โชคดีที่ในที่ประชุมของเรา กรรมการผู้อาวุโสท่านหนึ่ง คือ อาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณซึ่งเคยรับราชการอยู่ที่กรมศิลปากรมาจนเกษียณอายุราชการเมื่อนานปีมาแล้ว ช่วยอธิบายว่า หลักในการเขียนหนังสือภาษาไทยเรื่องนี้มีอยู่ว่า ถ้าเป็นจำนวน “หนึ่ง” จะเรียงลำดับไว้หลังลักษณนาม โดยอาจเขียนเป็นตัวเลข “๑” หรือตัวอักษรว่า “หนึ่ง” ก็ได้ ดังตัวอย่างที่เราได้ยินคุ้นหูว่า “ไปหยิบหนังสือมาเล่มหนึ่ง…”

แต่ถ้าเป็นจำนวนนับหรือตัวเลขอื่น วิธีการพูดการเขียนในภาษาไทยจะเรียงไว้ก่อนลักษณนาม เช่น รถยนต์สองคัน ดินสอสามแท่ง หรือผู้ร้ายสี่คน

ได้ยินได้ฟังคำอธิบายอย่างนี้แล้วชื่นใจครับ ได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้น

เหมือนอย่างที่โบราณท่านเปรียบว่า ทำของคว่ำให้หงาย ขึ้นเลยทีเดียว

นอกจากการประชุมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะทำให้ผมได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นทุกครั้งที่ไปร่วมประชุมแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช้าวันนี้ยังทำให้ผมสะกิดใจอะไรบางอย่างขึ้นมา

นั่นคือความตระหนักรับรู้ว่า ถึงอยู่ในวัยที่ผ่านโลกผ่านลมมาช้านานแบบผม ก็ยังมีสิ่งที่เราไม่รู้หรือมองข้ามไปเป็นอันมาก ในขณะที่เด็กผู้ก้าวเดินตามมา เขามองโลกด้วยสายตาที่สดใสและไม่ซ้ำเดิมแบบที่เราคุ้นเคย บางโอกาสและหลายโอกาสเขาย่อมจะเห็นเหลี่ยมมุมหรือแต้มคูที่แตกต่างไปจากความคุ้นเคยของเรา

ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่น การอ่านข้อความสี่บรรทัดข้างต้นแล้วเขาเห็นอะไรที่ผมไม่เห็น หรือผมมองข้ามมาตลอดชีวิต

ห้องประชุมที่ราชบัณฑิตยสภาเช้าวันนี้ จึงเป็นภาพจำลองของโลกที่คนต่างวัย ช่วยกันทำงาน ช่วยกันตั้งคำถาม และช่วยกันหาคำตอบ บรรยากาศที่เป็นไปด้วยความเอื้ออาทรและกัลยาณมิตร

ทำให้งานของเราก้าวเดินไปได้อย่างราบรื่น

บางทีผมก็เผลอฝันไปบ้างเหมือนกันว่า โลกข้างนอกห้องประชุมของผมน่าจะเป็นอย่างนั้นบ้าง

แต่เมื่อตื่นจากความฝันมาพบกับความจริง ผมก็พบว่า ผู้ใหญ่บางคนจะโมโหเป็นฟืนเป็นไฟเมื่อเด็กตั้งคำถาม

ผู้ใหญ่หลายคนพอใจที่จะอยู่กับความไม่รู้ต่อไป และหงุดหงิดถ้าเด็กจะแสวงหาคำตอบหรือความรู้เพิ่มเติม

ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองรู้ดีที่สุดในโลก ความปรารถนาดีที่มีอยู่เต็มหัวใจจะถูกสั่นสะเทือนถ้ามีใครตั้งคำถามท้าทาย

ผมไม่ได้บอกว่าเด็กทำถูกทั้งหมดหรอกครับ ความที่ยังอ่อนอายุ ขาดความรู้ ขาดประสบการณ์ เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในชีวิตของเยาวชนคนหนุ่ม-สาว และเป็นเรื่องที่ต้องเติมเต็มกันต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเด็กไม่มีสิทธิที่จะพูดหรือตั้งคำถาม

ผู้ใหญ่ทุกคนเคยเป็นเด็กมาก่อน จำไม่ได้หรือครับว่า วัยเด็กวัยหนุ่ม-สาวของเรางดงามและมีความฝันเช่นไร

ขอผู้ใหญ่ที่ร่วมยุคสมัยกับผมได้โปรดตรึกตรอง แล้วไม่ทำตัวเป็นคนขวางโลก

เรามาช่วยกันเกื้อกูลโลก จะมิดีกว่าหรือครับ

ผมไม่ใช่นักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์อย่างพ่อของผม แต่พ่อเคยท่องคำขวัญของโรงเรียนเก่าของพ่อให้ผมฟังอยู่เสมอว่า นสิยา โลกวัฑฒโน

ไม่ควรเป็นคนรกโลก

เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้