เคนเนดี้ขยับหมาก ลาวเป็นเพียงหมากตัวหนึ่ง / บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (24)

 

เคนเนดี้ขยับหมาก

ลาวเป็นเพียงหมากตัวหนึ่ง

การตัดสินใจของเคนเนดี้ที่ลดความสำคัญของลาวในทางยุทธศาสตร์ลงด้วยการให้เป็นกลางแล้วหันไปสนใจเวียดนามใต้ กล่าวสำหรับ 14 ประเทศที่มาร่วมประชุมที่เจนีวาก็มีอยู่เพียงไทยและเวียดนามใต้เท่านั้นที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน

แต่สำหรับอเมริกาและโซเวียตแล้ว ลาวก็เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในกระดานเท่านั้น

จากการเจรจาที่ไม่คืบหน้านัก ปีถัดมา ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2505 เคนเนดี้ก็ตัดสินใจส่งทีมที่ปรึกษาชาวอเมริกันและหน่วยทหารราบจำนวนหนึ่งเข้าเวียดนามใต้

แต่กระนั้น เคนเนดี้ก็จะยังไม่ละทิ้งลาวไปอย่างสิ้นเชิง เพราะยังคงเชื่อมั่นในทฤษฎีโดมิโนเช่นเดียวกับประธานาธิบดีทั้งสองคนก่อนหน้านี้ ซีไอเอจึงยังคงอยู่ในลาว และพารูก็ยังคงอยู่ในลาวเช่นเดียวกัน

ส่วนวังเปาและกองกำลังชาวเขาของเขาก็ยังคงมุ่งมั่นต่อสู้ต่อไป

 

ลาวฝ่ายซ้ายรุกหนัก

ย้อนหลังไปเมื่อประธานาธิบดีเคนเนดี้เข้ารับหน้าที่ในเดือนมกราคม พ.ศ.2504 นั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าโซเวียตได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในอินโดจีนอย่างยากที่จะผลักไสออกไปได้

เขาจึงพยายามดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบเพื่อมิให้ความขัดแย้งขยายตัว นำไปสู่การตัดสินใจให้ลาว “วางตนเป็นกลาง” เพื่อเป็น “รัฐกันกระทบ” ระหว่างโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์ ขณะที่ผู้นำโซเวียต นิกิตา ครุสชอฟ ก็มีความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2504 โซเวียตยินยอมรับข้อเสนอของเคนเนดี้ให้หยุดยิงและจัดการประชุมนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาในลาว

ขณะที่ลาวฝ่ายซ้ายภายใต้การสนับสนุนของเวียดนามกลับฉวยโอกาสนี้เร่งโหมปฏิบัติการทางทหารเพื่อแย่งชิงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด จนสามารถครอบครองลาวได้ค่อนประเทศ

ตรงกันข้ามกับที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้พยายามสร้างบรรยากาศของการประชุมด้วยการสั่งยุติการส่งอาวุธให้กับวังเปาทันทีในเดือนถัดมาคือมิถุนายน พ.ศ.2504 เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเจรจา

 

รัฐบาลผสม

ผู้แทนลาวที่เข้าร่วมประชุมที่กรุงเจนีวา พ.ศ.2504 แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายขวามีนายพลภูมี หน่อสวรรค์ และเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ ฝ่ายเป็นกลางมีเจ้าสุวรรณภูมา ส่วนฝ่ายซ้ายมีเจ้าสุภานุวงศ์เป็นผู้แทน

การประชุม 14 ชาติที่เจนีวาดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นนักท่ามกลางการสู้รบที่ยังคงดำเนินต่อไปในลาว จนกระทั่งกลางปีถัดมา เดือนมิถุนายน พ.ศ.2505 ที่ประชุมจึงสามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้ง “รัฐบาลผสมที่เป็นกลาง”

รัฐบาลผสมนี้มีเจ้าสุวรรณภูมิมา-ฝ่ายเป็นกลางเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เจ้าสุภานุวงศ์-ฝ่ายซ้าย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ นายพลภูมี หน่อสวรรค์-ฝ่ายขวาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รัฐบาลชุดใหม่ประกาศนโยบายเป็นกลางตามข้อตกลงเจนีวา ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ไว้วางใจลาวฝ่ายซ้ายและเวียดนามเหนือก็ “เดินหมาก” ส่งทหารเข้ามาในประเทศไทยเพื่อคุมเชิงสถานการณ์ในลาว

รวมทั้งร่วมดำเนินการทางลับกับไทยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทหารม้งของนายพลวังเปา ซึ่งบัดนี้ได้ยกระดับเป็นกำลังสำคัญของลาวฝ่ายขวาแล้ว

 

ไม่มีใครถอนทหาร

ข้อตกลงเจนีวากำหนดให้ถอนทหารต่างชาติออกจากลาว แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่มีชาติใดยอมปฏิบัติตาม

แม้จะไม่มี “ทหารไทย” ในลาว แต่ตำรวจพลร่ม “พารู” จากไทยก็ยังคงแฝงตัวปฏิบัติงานลับเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับกองกำลังของวังเปา

ขณะที่ฝ่ายเวียดนามเหนือปฏิเสธที่จะถอนทหารของตนโดยอ้างว่าอเมริกาและไทยยังมีทหารอยู่ในลาว

การที่กองทัพเวียดนามเหนือยังคงอยู่ในลาวนั้นมิได้เพียงเพื่อช่วยเหลือลาวฝ่ายซ้ายเท่านั้น แต่เหตุผลสำคัญสูงสุดก็เพื่อควบคุมเส้นทางโฮจิมินห์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาวที่เป็นเส้นเลือดหลักในการขนส่งทหารและยุทธภัณฑ์ไปให้พวกเวียดกงในเวียดนามใต้

ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการรวมชาติของฝ่ายเวียดนามเหนือ

 

“CIA SECRET WAR IN LAOS”

อเมริกาไม่พอใจรัฐบาลผสมของลาวที่มีเจ้าสุวรรณภูมิมาเป็นนายกรัฐมนตรีนัก แต่จะให้นายพลภูมี หน่อสวรรค์ ผู้ฝักใฝ่ตนเต็มที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่เหมาะสมเพราะมีจุดอ่อนหลายประการ

โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชั่น และที่สำคัญกองทัพลาวฝ่ายขวาของเขาไม่เคยรบชนะกองทัพขบวนการประเทศลาวเลย

อเมริกาจึงหาทางออกเพื่อชดเชยจุดอ่อนประการหลังนี้ด้วยการสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งกองทัพม้งโดยให้ขึ้นโดยตรงต่อซีไอเอในลักษณะปฏิบัติการ “ลับสุดยอด” เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อตกลงเจนีวา

จนเป็นที่มาของชื่อที่ใช้เรียกความเกี่ยวข้องกับสงครามลาวของอเมริกาครั้งนี้ว่าเป็น “สงครามลับในลาวของ ซีไอเอ – CIA SECRET WAR IN LAOS”

ซีไอเอโดยพารูจากไทยทำหน้าที่จัดตั้งกองทัพม้งอย่างได้ผลจนสามารถใช้การรบแบบกองโจรที่สร้างผลงานได้ดีกว่าทหารประจำการของรัฐบาลลาว

กองทัพม้งกลายเป็นกำลังสำคัญในการสกัดกั้นการลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ของเวียดนามเหนือผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ อันเป็นโจทย์ใหญ่ของอเมริกา

 

รัฐบาลผสมล่ม

รัฐบาลเป็นกลางของลาวประสบความยุ่งยากโดยตลอด ปีถัดมาเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2506 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศลาว กวีนิม พลเสนา สังกัดฝ่ายซ้ายถูกลอบสังหาร

เจ้าสุภานุวงศ์ผู้นำฝ่ายซ้ายจึงหลบหนีออกจากเวียงจันทน์กลับไปร่วมกับขบวนการประเทศลาวเพื่อปลดปล่อยประเทศต่อไปตามเดิม

จากนั้นสงครามในลาวยกใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นอีก

ขณะที่ฝ่ายซ้ายและกองทัพเวียดนามเหนือยังคงครองความได้เปรียบจากการยึดครองพื้นที่ของลาวไว้ค่อนประเทศตั้งแต่ก่อนการประชุมเจนีวาเมื่อ พ.ศ.2504 แล้ว

ขอบคุณข้อมูลจาก “ผลาญชาติ” โรเจอร์ วอร์นเนอร์/ไผท สิทธิสุนทร แปล