ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ชกคาดเชือก |
เผยแพร่ |
ชกคาดเชือก
วงค์ ตาวัน
วัคซีน-คลัสเตอร์ผับ-สงกรานต์พัง
กลายเป็นข่าวร้ายของคนไทยทั้งประเทศ สำหรับการระบาดรอบใหม่ล่าสุดของโควิด ที่มาเกิดเอาช่วงก่อนจะถึงเทศกาลสงกรานต์พอดี ส่งผลให้ต้องมีมาตรการออกมาควบคุมแหล่งบันเทิง ร้านอาหาร หลายอย่างในหลายพื้นที่ ไปจนถึงการเดินทางข้ามจังหวัด
กระทบหนักต่อเทศกาลสงกรานต์อย่างแน่นอน หมายถึงรายได้ของผู้ประกอบการสถานที่ท่องเที่ยว สถานบันเทิงต่างๆ เป็นอันมลายหายไปในพริบตา
ถือเป็นความร้ายแรงที่เกิดกับเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว มา 2 ปีซ้อน
ในปี 2563 เริ่มแพร่ระบาดหนักในไทยตอนช่วงต้นปี ทำให้ต้องมีมาตรการล็อกดาวน์ กระทบหนักกับเทศกาลสงกรานต์ ต้องงดเล่นสาดน้ำ และการละเล่นทุกประการ การค้าขาย การท่องเที่ยวพังกันไปหมด
พอถึงปีใหม่ 2564 ก็เกิดการระบาดขึ้นอีก ด้วยคลัสเตอร์ตลาดกุ้งมหาชัย เริ่มต้นในเดือนธันวาคม ทำให้เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ในเทศกาลส่งท้ายปี 2563 ขึ้นปีใหม่ 2564 ซบเซาอีก
แล้วล่าสุดก็คือสงกรานต์ 2564 นี้ เกิดคลัสเตอร์ผับทองหล่อ ทำให้ระบาดอย่างรวดเร็วไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ
หนนี้ยิ่งหนักหนาสาหัส เมื่อกระแสข่าวระบุชัดเจนว่า มีระดับรัฐมนตรีเข้าไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ผับทองหล่อด้วย
มีระดับรัฐมนตรีรวมอยู่ในคลัสเตอร์นี้ เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ด้วย
แล้วรัฐบาลจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน!?
แถมมีรัฐมนตรีอีกรายที่ได้รับตำแหน่งใหม่ ก็ต้องลางานไปกักตัว ไม่ทันได้บริหารราชการแผ่นดินอะไรเลย เพราะกลุ่มคนที่มาร่วมยินดีกับรัฐมนตรีใหม่ มีคนจากผับทองหล่อรวมอยู่ด้วย
คราวนี้กระทบกับรัฐมนตรีเกือบครึ่ง ครม.ต้องไปตรวจเชื้อ และไปกักตัวตามๆ กัน
รวมไปถึง ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ต้องไปกักตัวกันอีกระนาว
ที่สำคัญเพราะคลัสเตอร์สถานบันเทิงกลางกรุงนี่เอง ทำให้รัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ที่สะเทือนไปถึงสถานบันเทิงอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ทำร้ายไปถึงกิจการร้านอาหารต่างๆ ต้องกลับมาปิด 3 ทุ่มอีกครั้ง ไปจนถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ ได้รับผลร้ายไปถ้วนหน้า
มีคำถามเกิดกับรัฐบาลมากมายจากการระบาดรอบนี้ ทั้งในด้านการบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาด หลังจากมีเหตุใหญ่ในช่วงธันวาคม 2563 แต่ดูเหมือนมาตรการรัฐไม่เข้มข้นดีพอ จนลุกลามมาเกิดระบาดหนักในสงกรานต์
ประการต่อมา เกิดคำถามทันทีว่า ถ้าประเทศไทยเราบริหารเรื่องวัคซีนได้ดีกว่านี้ ประชาชนทั้งประเทศควรได้ฉีดกันถ้วนหน้าแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้การระบาดหนักเช่นนี้ไม่เกิดขึ้น
ประเด็นวัคซีนเป็นเรื่องที่รัฐบาลถูกตั้งคำถามมาตลอด ว่าทำไมจึงจัดการให้ประชาชนไทยได้วัคซีนล่าช้ากว่าคนเกือบทั้งโลก
หากย้อนไปดูการระบาดในหนแรก คือเมื่อต้นปี 2563 กรณีคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี ซึ่งทำให้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ เป็นที่อื้อฉาวอย่างมาก ด้วยเป็นสนามมวยในสังกัดกองทัพบก ซึ่งมีการจัดรายการชกมวยรายการใหญ่ มีผู้ชมและเซียนมวยเข้ามากันหนาแน่น ทั้งที่ระยะนั้นโควิดเริ่มระบาดมากแล้ว และลงเอยสนามมวยแห่งนี้ก็เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่
มีการพบข้อมูลว่า ครม.ได้มีมติในวันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้หลีกเลี่ยงหรืองดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก รวมถึงการจัดแข่งกีฬา ซึ่งต่อมาการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงนายสนามมวยลุมพินีในวันที่ 4 มีนาคม แจ้งเตือนอย่างชัดเจน แต่การชกมวยนัดใหญ่ในวันที่ 6 มีนาคม ก็ไม่ล้มเลิก
ทำให้กลายเป็นคลัสเตอร์ในที่สุด!
สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดจากเวทีมวยลุมพินี เป็นเพราะเมื่อเป็นศึกมวยรายการใหญ่ ธุรกิจการพนันมวยตู้ก็ติดตามมา
ผู้จัดการพนันมวยตู้ทั่วประเทศ จะต้องส่งคนเดินทางมาดูมวยที่ขอบเวที เพื่อทำหน้าที่เปิดราคา ส่งซิก ผ่านหน้าจอทีวี ไปยังบ่อนมวยตู้ของตนเอง เพื่อเปิดให้สมาชิกนักพนันมวยตู้ได้แทงมวย
พอมวยจบ เหล่านักส่งซิกจากแหล่งพนันมวยตู้ทั่วประเทศ ก็เดินทางกลับภูมิลำเนา โดยนำเอาเชื้อโควิดที่แพร่ในสนามมวยวันนั้นติดตัวกลับไปแพร่ต่อที่บ้านกันถ้วนหน้า
จึงทำให้เกิดการกระบาดหนักและแพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว
นั่นคือบทเรียนจากกรณีสนามมวยลุมพินี เมื่อต้นปี 2563 ซึ่งโด่งดังควบคู่ไปกับคลัสเตอร์ผับทองหล่อ
แต่ผลการสอบสวนลงโทษผู้รับผิดชอบของเวทีมวยลุมพินี ก็ไม่มีอะไรหนักแน่นชัดเจนตามมา
แต่ไม่ว่ากรณีคลัสเตอร์เวทีมวยลุมพินี กรณีผับทองหล่อ 2 ครั้ง 2 หน และกรณีแรงงานต่างด้าวตลาดกุ้งมหาชัย ไปจนถึงบ่อนภาคตะวันออกอันอื้อฉาวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ล้วนเป็นความหละหลวมของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ
กระทั่งหนล่าสุดจากผับ ซึ่งมีระดับสูงในรัฐบาลไปรวมอยู่ในนั้นด้วย
แต่ผลร้ายที่ตามมา ต้องทำให้กิจการท่องเที่ยวบันเทิงทั่วประเทศ เสียหายอย่างหนักหนาสาหัสไปตามๆ กัน!
มีผู้รอบรู้ในแวดวงการเงินการคลังให้ความเห็นว่า ความอ่อนล้าของรัฐบาลในมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด เห็นได้ชัดเจนนับตั้งแต่การระบาดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยจะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีความลังเล เกรงผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก
น่าจะเป็นเพราะการกู้เงินเพื่อมาใช้เยียวยา ใช้อัดเข้าโครงการช่วยเหลือต่างๆ เริ่มทำได้ยากลำบากขึ้น
โดยพบว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยใกล้แตะเพดาน 60%
ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ กำหนดไว้ว่า รัฐบาลต้องคงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ให้ไม่เกิน 60%
แต่จากการที่รัฐบาลกู้เงินมาใช้จ่ายผ่านนโยบายการคลัง ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลให้มูลค่าจีดีพีของประเทศลดลงมาก
ตัวเลขหนี้สาธารณะจึงใกล้เพดาน 60% แล้ว นั่นเป็นเส้นอันตราย ทำให้รัฐบาลเริ่มไม่สามารถจัดโครงการเยียวยาต่างๆ ได้อย่างง่ายดายอีกแล้ว
จึงเป็นเหตุให้มาตรการล็อกดาวน์ไม่เกิดขึ้นอีก เพราะถ้าล็อกเมื่อไร ก็ต้องเยียวยาเมื่อนั้น
อีกทั้งการไม่ล็อกดาวน์คือการยอมเสี่ยง เพื่อหวังผลให้เศรษฐกิจโต
แต่ลงเอยการแพร่ระบาดก่อนสงกรานต์และกระทบต่อสงกรานต์นี้ บ่งชี้ว่าการบริหารของรัฐไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องเพดานหนี้ 60%
ประเด็นการจัดหาวัคซีนก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่รัฐบาลถูวกิจารณ์หนัก ว่าทำให้ไม่สามารถควบคุมการระบาดรอบใหม่ได้
เมื่อปลายเดือนมีนาคม นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อหา จากการถูกดำเนินคดีกรณีไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก วิจารณ์การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล
ในวันที่นายธนาธรเข้ามอบตัว ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ผ่านไปสองเดือนกว่าน่าจะเห็นแล้วว่าสิ่งที่พูดไปนั้น คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันนี้ การที่เรามีแผนการจัดซื้อจัดหาวัคซีนที่พึ่งบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากเกินไปเป็นความเสี่ยง
กลายเป็นว่าประชาชนจำนวนมากก็ได้เห็นชัดว่า สิ่งที่นายธนาธรวิจารณ์การจัดหาวัคซีนล่าช้า เพราะแทงม้าตัวเดียวนั้น ตรงกับความจริง และส่งผลต่อความปลอดภัยในสุขภาพและวิถีชีวิตของประชาชนเช่นไร
ที่แน่ๆ สงกรานต์นี้ เต็มไปด้วยความซบเซาอีกหน เพราะเรายังไม่มีวัคซีนที่แพร่กระจายรวดเร็ว ทั่วถึง!