วิเคราะห์ : จตุพร’ หวนนำม็อบ ไทยไม่ทน แสวงจุดร่วม ตั้งกลุ่มสามัคคีฯ เฉพาะกิจ

‘ตู่ จตุพร’ หวนนำม็อบ ไทยไม่ทน พล.อ.ประยุทธ์ นปช.-พธม.แสวงจุดร่วม ตั้งกลุ่มสามัคคีฯ เฉพาะกิจ

ปรากฏการณ์ภายใต้รหัส “4/4/4” ถือฤกษ์วันที่ 4 เดือน 4 เวลา 4 โมงเย็น

กิจกรรม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ณ อนุสรณ์พฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร

เป็นการผนึกแนวร่วมทุกสีเสื้อ ทั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือเสื้อแดง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มเสื้อเหลือง และกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35

แม้อดีตคิดเห็นต่างกันคนละขั้ว แต่เมื่อสถานการณ์การเมืองในประเทศมาถึงจุดเดินไปต่อไม่ได้ เสื้อแดง-เสื้อเหลืองจึงถือหลัก “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” สลายขั้วชั่วคราว ร่วมเคลื่อนไหวเฉพาะกิจ

ในนาม “สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย”

จุดประสงค์หลัก ขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จุดประสงค์รอง เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

แม้จะมีเสียงโจมตีดังมาจากทำเนียบรัฐบาล จากพรรคพลังประชารัฐ และจากบุคคลแวดล้อม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวหาแกนนำ “รับงาน” มาจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขุดประวัติ “สู้แล้วรวย” ขึ้นมาดิสเครดิต

ขณะที่กลุ่มสนับสนุนม็อบราษฎร เสียงแตกเป็น 2 ทาง บ้างว่า “ม็อบจตุพร” ต้องการเบี่ยงเบนกระแสข้อเรียกร้องบางข้อของกลุ่มราษฎร

แต่ก็มีที่มองแง่บวก อย่างน้อยก็มีแนวร่วมออกมาชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่มมากขึ้น ส่วนข้อเรียกร้องอื่นถือว่าจุดติดไปไกลเกินกว่าจะดับได้ง่ายๆ

ท่ามกลางกระแสเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ยิ่งทำให้ปฏิบัติการ “ไทยไม่ทน” ถือกำเนิดภายใต้รหัส “4/4/4” เป็นที่น่าจับตา

ถึงจุดมุ่งหมายปลายทางการเคลื่อนไหว

 

ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย

เป็นการชุมนุมแบบมีแกนนำ ได้แก่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.)

ภายใต้แนวคิดที่ว่า ปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญล้วนมี “สารตั้งต้น” จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งการทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2557 เข้ามาเป็นนายกฯ จากนั้นก็ตั้งคณะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 สืบทอดอำนาจตัวเอง บริหารประเทศผิดพลาด ปล่อยปละให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น

เนื้อหาการชุมนุม 4 เมษายน ณ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม สวนสันติพร ต่อเนื่องถึงวันที่ 7 เมษายน (ยกเว้นวันที่ 6 เมษายน) จึงเป็นการพุ่งปลายหอกใส่ พล.อ.ประยุทธ์แบบเต็มๆ คนเดียวไม่แบ่งใคร

การชุมนุมอบอุ่นด้วยมวลชนคนเสื้อแดง และกลุ่มชูสามนิ้ว ไม่ถึงกับมืดฟ้ามัวดิน แต่ก็เต็มพื้นที่สวนสันติพร

แกนนำจากทุกสีไหลรวม นายวีระ สมความคิด เลขาธิการ คปต. นายไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำขบวนการอีสานกู้ชาติ และแนวร่วมกลุ่ม พธม. นายการุณ ใสงาม แนวร่วมกลุ่ม พธม. นางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน้องเกด พยาบาลอาสาเหยื่อสลายม็อบปี 2553 รวมทั้งนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ แกนนำเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี และแกนนำราษฎร

นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวบนท้องถนนของกลุ่มสามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย จะใช้ “พฤษภา 35 โมเดล” เป็นการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับเผด็จการเท่านั้น เพื่อเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ลงจากอำนาจ

เพราะนั่นเป็นสันติวิธี ทำให้บ้านเมืองสงบ

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ขึ้นปราศรัยย้ำจุดประสงค์การรวมตัวครั้งนี้ เพื่อมุ่งขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมดทั้งมวล ตระบัดสัตย์ที่ให้ไว้เมื่อครั้งยึดอำนาจ ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ วางแผนสืบทอดอำนาจ ปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น

ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในตำแหน่งไปอีกอย่างน้อย 6 ปี

ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องเสียสละความเจ็บปวดในอดีต ความขัดแย้งเมื่อ 15-20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ประวัติศาสตร์คนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ยังไงก็คงดำรงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง

เพียงแต่ภัยเฉพาะหน้าอันเป็นผลจากการยึดอำนาจ สืบทอดอำนาจ และไม่ปฏิบัติตามคำสัญญา บ่งบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์คือศูนย์กลางปัญหา

ส่วนคณะราษฎรคิดเห็นอย่างไรเป็นสิทธิเสรีภาพ การขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็น 1 ในข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร

ใครเชื่ออย่างไรก็ทำตามความเชื่อของตัวเอง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. บุคคลที่เคยต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับนายจตุพร พรหมพันธุ์ มายาวนาน แสดงความเห็นถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย ว่า

เป็นปรากฏการณ์การรวมตัวของแกนนำทุกฝ่าย ของผู้รักประชาธิปไตยที่มาแสดงตัว

น่าจะเป็นการรวมกันภายใต้เป้าหมายเฉพาะหน้าทางการเมืองคือขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่ยังไม่เห็นรูปธรรมของการรวมตัวกันเชิงอุดมการณ์ทั้งระดับแกนนำ ผู้ปราศรัย และประชาชนผู้ชุมนุม ต้องจับตาต่อไป รอดูพัฒนาการตรงนี้ว่าจะชัดเจนมากน้อยแค่ไหน

การชุมนุมครั้งนี้มองได้ 2 แบบคือ อาจเติบโตขยายตัวเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว เพราะเป้าหมายสอดคล้องความต้องการของผู้คน

หรืออาจมีความแตกต่างกันทางอุดมการณ์ เนื้อหาสาระ จนทำให้ความเคลื่อนไหวก้าวเดินได้ไม่เร็วนัก

แต่สิ่งที่น่าจะเป็นจุดร่วมกันได้ คือการเรียกร้องอิสรภาพให้เยาวชนคนหนุ่ม-สาวที่ถูกจองจำอยู่เวลานี้ และจะถูกจองจำในอนาคตอันใกล้จากคดีความที่แต่ละคนแบกรับกันหลายสิบคดี

น่าจะถูกขับเน้นให้ชัดเจนในทุกเวทีเคลื่อนไหวทางการเมือง

สำหรับนายณัฐวุฒิจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรหลังจากเพิ่งพ้นโทษจำคุก ได้รับอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ จะเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เจ้าตัวบอกว่าต้องให้เวลาและสถานการณ์เป็นตัวกำหนด

น่าจับตาอีกกลุ่มนอกเหนือจากกลุ่มสามัคคีประชาชนฯ ของนายจตุพรและพวก

คือการที่อดีตคนเดือนตุลา ออกมาเคลื่อนไหวจัดตั้งกลุ่ม “คนเดือนตุลาเพื่อประชาธิปไตย” หรือ OCTDEM

อาทิ นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ฯลฯ

มีเป้าหมายถอดบทเรียน 6 ตุลา 19 และเรียกร้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองปัจจุบัน

สําหรับท่าทีจากฟากรัฐบาลต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มสามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย

คู่กรณีโดยตรงอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า การชุมนุมขออย่าทำผิดกฎหมาย อย่าสร้างความเดือดร้อน สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างเช่นที่เคยเกิดมาก่อน ซึ่งถือเป็นบทเรียน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าตนเองไม่มีความกังวลถึงการที่กลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อเหลืองผนึกกำลังออกมาขับไล่

“เป็นเรื่องของสังคมและเรื่องของเจ้าหน้าที่ แล้วทุกคนในประเทศไทยอยากให้เกิดแบบนี้อีกหรือ เกิดทันหรือเปล่าปี 2553 ถ้าทันก็ดูแล้วกัน”

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้ ผู้ช่วย รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวเตือนเพื่อนเก่าอย่างนายจตุพรด้วยความหวังดีว่า

ที่ประเทศวุ่นวายตั้งแต่ในอดีตจนถึงทุกวันนี้ เพราะคนที่มีแนวความคิดเยี่ยงนี้ อยากถามว่าใครพาคนเสื้อแดงไปตายเกือบร้อยศพ ดังนั้น ควรไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณคนเสื้อแดงได้ไปสู่สรวงสวรรค์อย่างสงบดีกว่า

“ชักสงสัยว่านายจตุพรไปรับงานมา เพื่อให้แก๊งนายทักษิณ หรือแก๊งธนาธร ขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดินหรือไม่ หวังทุจริตโกงกิน หรือทำลายสถาบันเช่นนั้นหรือ หวังว่านายจตุพรคงไม่แอบไปรับงานคนพวกนี้มาอีก”

เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “ทักษิณ-จตุพร” นั้น หากใครมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ ช่วงปลายปี 2563

ที่นายทักษิณเขียนจดหมายเชียร์ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่นายจตุพรกลับเชียร์ผู้สมัครอีกฝ่าย

ก็จะเห็นบทสรุปมสัมพันธ์สุดท้ายของคนทั้งคู่ได้ไม่ยาก

ทั้งหมดคือก้าวแรกของกลุ่ม “สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย”

ม็อบน้องใหม่ แต่ขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นเก๋าอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ และพวก

ภายใต้หลักการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ซึ่งจุดร่วมในที่นี้คือโค่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้จงได้

ส่วนข้อกล่าวหาต่างๆ นานาว่ารับงานทักษิณมาเคลื่อนไหว หรือหวังลดระดับเพดานข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าใช่เช่นนั้นจริงหรือไม่จริง หรือจริงแค่บางส่วน

แต่ที่ต้องติดตามด้วยความระทึกคือสถานการณ์เดือนพฤษภาคม

“การต่อสู้อย่างแท้จริงจะอยู่ในเดือนพฤษภาคม—คนที่ตระบัดสัตย์ต่อประชาชนจะต้องพ้นไป เหมือนสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร จะใช้อนุสรณ์สถานพฤษภา 35 เป็นการชุมนุมทางการเมืองในที่ตั้ง จะยังไม่มีการเคลื่อนมวลชน”

“ตั้งเป้าต่อสู้จนกว่า พล.อ.ประยุทธ์จะออกไป” นายจตุพรระบุ

เป็นเดือนแห่งวาระครบ 29 ปีเหตุการณ์พฤษภา 35 และเดือนแห่งวาระ 7 ปีรัฐประหาร คสช.

จุดเชื่อมโยง พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา