สงกรานต์ ‘กร่อยในกร่อย’ ‘โควิด’ ลามหนัก คลัสเตอร์ ‘กทม.’ คุมไม่อยู่ ฉุดเศรษฐกิจทรุดอีกรอบ / ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

สงกรานต์ ‘กร่อยในกร่อย’

‘โควิด’ ลามหนัก

คลัสเตอร์ ‘กทม.’ คุมไม่อยู่

ฉุดเศรษฐกิจทรุดอีกรอบ

 

กลับมาระบาดหนักอีกรอบ สำหรับไวรัสร้าย “โควิด-19” ที่เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่เกิดจากสถานบันเทิงชื่อดังย่านทองหล่อ และเป็นที่มาของ “คลัสเตอร์ทองหล่อ” ซึ่งเริ่มมีการตรวจพบว่ากระจายไปในวงกว้าง ผู้ติดเชื้อเดินทางไปหลายจังหวัด

นี่ยังไม่นับรวมถึงคลัสเตอร์เรือนจำจังหวัดนราธิวาส เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 112 ราย

หากย้อนกลับไปจะพบว่า ในแง่ของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ตรวจพบในแต่ละวันเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา สถิติตัวเลขในแต่ละวันขยับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกว่า 20 คน เพิ่มเป็น 50-60 คน และพุ่งขึ้นไปถึง 90-100 คน และตัวเลขยังวิ่งต่อไม่หยุด วิ่งไปที่ 194 คน (5 เมษายน) และ 250 คน (6 เมษายน)

การกลับมาของโควิด-19 ครั้งนี้ ลามไปถึงคนดังในแวดวงต่างๆ อย่างมากหน้าหลายตา ทั้งดารา นักร้อง อย่างปีโป้-ณัชพัณณ์ ปรมะเจริญโรจน์ และ ‘แสตมป์’ อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข

นักการเมือง รัฐมนตรี อย่างนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่มีรัฐมนตรีที่ต้องกักตัว 14 วันเพราะมีความเสี่ยง เช่น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น

รวมถึงนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติ บดินทร์ อิสสระ ส่งผลให้บรรดาผู้ใกล้ชิดและเกี่ยวข้องต้องกักตัว-พบแพทย์กันจ้าละหวั่น

ที่สำคัญ โควิด-19 ยังลามต่อไม่หยุด และมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมาพอสมควร

ล่าสุด (7 เมษายน) พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 334 ราย พบจากกรุงเทพมหานครมากสุด 216 ราย เชื่อมโยงสถานบันเทิง

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งเริ่มทยอยประกาศยกเลิกการจัดกิจกรรมต่างๆ

 

สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงกรุงเทพมหานคร ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ

โดยกระทรวงสาธารณสุขมีมติจะนำเสนอต่อ ศบค.ชุดเล็ก (ในวันที่ 7 เมษายน) เพื่อปรับโซนพื้นที่สีต่างๆ โดยมีข้อเสนอกำหนดให้ 5 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปรากร และนครปฐม พื้นที่สีแดง กำหนดให้ร้านอาหารเปิดได้ถึง 21.00 น. งดดื่ม จำหน่ายสุรา เช่นเดียวกับสถานบันเทิงผับบาร์ เปิดไม่เกินเวลา 21.00 น.เช่นกัน แต่อนุญาตเพียงรับประทานอาหาร ห้ามดื่มสุรา เนื่องจากพบว่าความเสี่ยงอยู่ที่สถานบันเทิงและการดื่มสุรา จึงต้องมีมาตรการเข้มงวดสูงสุด

ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการได้ตามปกติ แต่ต้องจำกัดจำนวนคนเข้า สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง การสแกนวัดอุณหภูมิ เช่นเดียวกับสถานที่ออกกำลังกาย สามารถเปิดได้ แต่ต้องจำกัดผู้เข้า

ส่วนจังหวัดพื้นที่สีส้ม เปิดได้ถึง 23.00 น. พื้นที่สีเหลือง เปิดได้ถึง 24.00 น. และพื้นที่สีเขียว เปิดบริการได้ตามปกติ

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. มีคำสั่งประกาศปิดสถานบันเทิงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 เขต ประกอบด้วย เขตคลองเตย เขตวัฒนา และเขตบางแค เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 6-19 เมษายนนี้ สำหรับพื้นที่อื่นหากพบมีการติดเชื้อที่ร้านจะสั่งปิดเป็นรายๆ ไป

โดยการปิดสถานบันเทิงใน 3 เขต รวม 196 แห่ง แบ่งเป็นคลองเตย 75 แห่ง วัฒนา 81 แห่ง และบางแค 40 แห่ง

 

อาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือปรากฏการณ์ที่ช็อกวงการไม่น้อย

การกลับมาของโควิด-19 ครั้งนี้ กำลังทำให้เทศกาลสงกรานต์ ที่ถือเป็นไฮซีซั่นของสินค้าหลายๆ อย่าง อาจจะล่มสลายไปในพริบตา และเป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจและกำลังซื้อให้ดิ่งลึกลงไปอีก

แหล่งข่าวจากวงการเบียร์กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ได้เริ่มทยอยสต๊อกสินค้าไว้รับหน้าขายสำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งปีนี้มีวันหยุดยาว และคาดว่าคนจะเดินทางกลับต่างจังหวัด หรือเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ตอนแรกผู้ประกอบการต่างก็คาดหวังไว้มากว่า ตลาดจะคึกคัก เบียร์จะขายดี แต่หลังจากที่โควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ และทางการเตรียมจะมีมาตรการออกมาควบคุมการขายการดื่ม ตลาดเบียร์ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะนอกจากปัญหาโควิดแล้วยังมีเรื่องของเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ที่ไม่ค่อยดีนักด้วย

แหล่งข่าวจากวงการห้างสรรพสินค้า ที่แสดงความเห็นว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากจากการระบาดของโควิดครั้งนี้ แม้ว่าศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า จะยังสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ แต่ผลกระทบในแง่จิตวิทยา และความกังวลการแพร่ระบาดจะทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยในห้างเปลี่ยนไป จำนวนทราฟฟิกอาจจะไม่มากนัก รีบเดินรีบซื้อรีบกลับ

รวมถึงบรรยากาศในการนั่งรับประทานอาหารในร้านอาจจะไม่คึกคักเท่าที่ควร โอกาสการขายของร้านค้าต่างๆ จะลดลง

 

ขณะที่ผู้ประกอบการต่างๆ มีความเคลื่อนไหว ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐทบทวนมาตรการที่เตรียมจะประกาศบังคับใช้ โดย “ฐนิวรรณ กุลมงคล” นายกสมาคมภัตตาคารไทย มีความเคลื่อนไหวในการเร่งทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านประธานกรรมการสภาหอการค้าและประธานหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้พิจารณาผ่อนปรนให้ร้านอาหารนั่งได้ถึงเวลา 23.00 น. ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประคับประคองระบบเศรษฐกิจภาคเอสเอ็มอี ให้กับธุรกิจร้านอาหารและพนักงานลูกจ้างให้มีชีวิตอยู่ได้ และหากปล่อยให้สถานการณ์ยังเป็นในลักษณะนี้ อาจเห็นผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลง

เช่นเดียวกับ “ธนากร คุปตจิตต์” เลขาธิการสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ที่ระบุว่า การปิดสถานบันเทิงตามเขตที่ กทม.ประกาศ จะส่งผลกระทบกับบรรดาผู้ประกอบการที่ได้มีการเตรียมในเรื่องของการสต๊อกอาหารสด จ้างนักดนตรี เป็นต้น แต่การที่จังหวัดพื้นที่สีเขียว ผู้ว่าราชการบางจังหวัดได้มีคำสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร จะเกิดปัญหาที่ว่าลูกค้าจะเดินทางไปกินดื่มจังหวัดข้างเคียง แล้วเกิดไปรับเชื้อโควิดมาแล้วมาแพร่ต่อ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้

“มาตรการที่ สธ.เตรียมเสนอให้นั่งร้านอาหารได้ถึง 21.00 น. และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านนั้น จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบมาก ลูกค้าจะไม่เดินทางมาใช้บริการที่ร้านอาหาร ร้านอาหารก็จะเสียรายได้ในส่วนตรงนี้ไป ซึ่งควรต้องมีการทบทวน”

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพิษโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

 

ต้องติดตามกันต่อไปว่า ผลกระทบของโควิด-19 ในช่วงสงกรานต์นี้จะออกมาหนักหนาสาหัสมากน้อยแค่ไหน

จะลามไปถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เป็นอีกหนึ่งความหวังของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยามยากหรือไม่

นายแพยท์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กไว้ว่า

” …ถ้ามีผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ก็ไม่สามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทางการท่องเที่ยวได้ เพราะคงไม่มีใครอยากเดินทางมาในแหล่งระบาดของโรค”

“…ประเทศไทยยังน่าเป็นห่วงมาก โอกาสที่จะมีการระบาดเป็นระลอก 3 ระลอก 4 และเป็นกลุ่มก้อนในที่ต่างๆ ทั่วประเทศมีความเป็นไปได้ ถ้าพวกเราไม่ช่วยกัน”

ลุ้นหนักมากเลยทีเดียว!