‘พปชร.’ เปิดเกมรุกพรรคร่วม ชิงแก้ รธน. กินรวบทั้งกระดาน / บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘พปชร.’ เปิดเกมรุกพรรคร่วม

ชิงแก้ รธน.

กินรวบทั้งกระดาน

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชิงการนำพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราอีกครั้ง ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 มีนาคม คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ มาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเฉพาะตอบสนอง 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร

เนื่องการจากสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีความกังวลว่า การลงมติในวาระ 3 ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 อาจจะขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการทำประชามติ สอบถามประชาชนก่อนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่ม ส.ว.บางส่วนจึงยกเหตุผลว่าควรจะทำประชามติก่อนลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3

การชิงยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราของพรรค พปชร. ผ่านการเคลื่อนไหวของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. ฝ่ายกฎหมาย

ที่ขอยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น 13 มาตรา ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม

 

แม้แกนนำพรรค พปชร.จะออกมาชี้แจง ยกเหตุผลในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เพื่อแสดงถึงความจริงใจต่อพี่น้องประชาชน

แต่หากสแกนดูเนื้อหาสาระการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา ทั้ง 13 มาตรานั้น ต้องถือว่า เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราของพรรค พปชร. แทบจะกินรวบทั้งกระดาน

โดยเฉพาะประเด็นที่ 2 ที่ระบุว่า เพื่อแก้ไขปัญหาที่พรรคการเมืองในขณะนี้ ที่ต้องเจอกับการทำไพรมารีโหวตในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. จึงเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 45 โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 47 มาใช้แทน และขอแก้ไขระบบเลือกตั้งมาตรา 83, 85, 86, 90, 91, 92 และมาตรา 94

โดยแก้ไขให้การเลือกตั้ง ส.ส. กลับมาใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ จะเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 และให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมทั้งมีการแก้ไขให้การประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ประกาศผลภายใน 60 วัน ก็จะแก้ให้มีการประกาศผลภายใน 30 วัน

อีกทั้งจะแก้ไขให้พรรคการเมืองใดที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้วไม่น้อยกว่า 100 เขต ถึงจะมีสิทธิที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

เพื่อป้องกันไม่ให้มีพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่ส่งแต่ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

 

การแก้ไขระบบเลือกตั้งให้มีบัตร 2 ใบ เกมนี้พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในเขตพื้นที่ รวมทั้ง ส.ส.เขตที่มีคะแนนในตัวเองจะได้เปรียบ โดยเฉพาะพรรค พปชร.ที่มีนักเลือกตั้งและ ส.ส.ที่มีคะแนนเสียงของตัวเองเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะได้ประโยชน์ เนื่องจาก ส.ส.เขตที่ชนะเลือกตั้ง จะวัดจากคะแนนคนได้อันดับหนึ่งเป็นตัวชี้ขาด คะแนนของผู้แพ้ ไม่ว่าจะอันดับ 2 อันดับ 3 อันดับ 4 จะตกน้ำทันที จะไม่นำมาคิดคำนวณเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหมือนกับระบบการเลือกตั้งที่ใช้บัตรใบเดียว ที่อดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ได้อานิสงส์ ส่งผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อเข้าสภาได้กว่า 30 ที่นั่ง

ขณะเดียวกันระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะไปตัดตอนพรรคเล็ก พรรคใหม่ ที่ไม่มีฐานเสียงในพื้นที่แทบจะหมดโอกาสที่จะชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เขต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพรรค พปชร.ไม่ต้องอาศัยเสียงและการต่อรองของพรรคเล็กมาโหวตสนับสนุนค้ำสถานะในการจัดตั้งรัฐบาลอีกต่อไป

อีกทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราของพรรค พปชร. ยังเป็นการซื้อใจ ส.ว.ทั้ง 250 คน เพราะไม่มีการแก้ไขและตัดอำนาจของ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าได้สำเร็จ

 

แน่นอนแม้การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค พปชร.จะอยู่คนละจุดยืนและสวนทางกับการแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ยังยืนยันในหลักการอันแน่วแน่ของพรรค ปชป. ที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อปลดล็อกกุญแจและเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของ ส.ว. 1 ใน 3 คือ 84 เสียง ในวาระที่ 1 และวาระ 3 เป็นตัวชี้ขาด เพื่อทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น

พร้อมกับแก้ไขตัดอำนาจของ ส.ว.ไม่ให้มาร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. แม้จะสุ่มเสี่ยงที่ ส.ว.จะไม่ให้ความเห็นชอบ และอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปไม่ถึงฝั่ง

แต่พรรค ปชป.ก็ไม่เหลือทางเลือกอื่น เพราะได้ประกาศต่อสาธารณชนและสังคมไปแล้วว่า หลักการและเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค พปชร.จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256

อีกทั้งหากพรรค ปชป.ไม่ยืนยันหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ไว้ ก็จะไม่เหลือจุดยืนและจุดขายของพรรค ปชป.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 

เกมการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราของพรรค พปชร.ในครั้งนี้ สุดท้ายแล้วย่อมจะเข้าทางกินรวบทั้งกระดาน

เพราะด้วยเสียงของพรรค พปชร. 122 เสียง บวกกับ ส.ว. 250 เสียง ก็มีเสียงอยู่ในมือถึง 372 เสียง ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภาแล้ว แทบไม่ต้องง้อเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการชี้ขาดเนื้อหาสาระ และมาตราที่พรรค พปชร.ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จได้

รวมทั้งยังเป็นเกมการเมืองบีบให้พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรค ปชป. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) รวมทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกทางหนึ่งด้วย หากอยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ พรรคร่วมอื่นๆ ก็จะต้องมาสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของพรรค พปชร.

แม้ท้ายที่สุดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราของพรรค พปชร.อาจจะได้เนื้อหาสาระและประโยชน์ที่ตัวเองต้องการไม่ได้ทั้งหมด เพราะจะต้องมีการต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ต้องการด้วย

แต่ประเด็นที่พรรค พปชร.ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและตัวเองได้รับประโยชน์นั้น คงไม่ปล่อยให้หลุดมือไปแน่นอน

เกมการเมืองว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ หากไม่ไร้เดียงสา คงดูกันออก เดาได้ไม่ยากว่า แก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร และใครได้ประโยชน์ ตอบโจทย์ที่ว่า “เขาอยากอยู่ยาว”