การศึกษา / คนไทยลุ้น ‘ต้มยำกุ้ง’ ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมฯ ยูเนสโก

การศึกษา

คนไทยลุ้น ‘ต้มยำกุ้ง’

ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมฯ ยูเนสโก

เรียบร้อยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดย ครม.ไฟเขียวตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอให้ “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก

โดยก่อนหน้านี้ ประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโกแล้ว 2 รายการคือ การแสดงโขนในประเทศไทย “Khon masked dance drama in Thailand” ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี 2561

และการนวดไทย “NUAD THAI” ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี 2562

การที่ ครม.เห็นชอบให้เสนอ “ต้มยำกุ้ง” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก เพราะเห็นความสำคัญของต้มยำกุ้ง เป็นอาหารประจำชาติที่ขึ้นชื่อ และคนทั่วโลกรู้จัก เป็นอาหารที่มีคุณค่า

สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางของไทย ที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารอย่างเรียบง่าย พึ่งพิงธรรมชาติ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีการสืบทอดการทำต้มยำกุ้งในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง มีผู้ประกอบวิชาชีพด้านอาหาร ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ บุคคล หน่วยงานต่างๆ ที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้

เพราะนอกจากภูมิปัญญาในการทำต้มยำกุ้งจะสืบทอดอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย ที่ตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิต และรสนิยมทางอาหาร ที่แตกต่างกันไปของคนกลุ่มต่างๆ!!

 

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ระบุว่า การเสนอ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยแล้ว

ยังกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญ และเห็นคุณค่าในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตน

ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในความหลากหลายของอาหารไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออาหารของไทยในระดับนานาชาติ

“อีกทั้งยังสร้างโอกาสทางการตลาดให้ธุรกิจอาหารไทย สร้างงานและรายได้ให้แก่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ทั้งในและต่างประเทศ” นายอิทธิพลกล่าว

จากนี้ วธ.จะจัดทำรายงานสถานะปัจจุบันของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่แสดงถึงผลสำเร็จ ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินการสงวนรักษา และดำเนินการตามมาตรการการสงวนรักษา “ต้มยำกุ้ง” อย่างเคร่งครัด เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและความมั่นคงด้านอาหาร และส่งเสริมการศึกษาวิจัยการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านอาหาร ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ อาทิ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการถนอมอาหาร คุณภาพของวัตถุดิบ การรักษาความสดใหม่ และคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มความต้องการการบริโภคอาหารไทยให้ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง

ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ!!

 

นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร คณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ได้แจกแจงให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นภายหลัง ครม.มีมติเห็นชอบให้เสนอ “ต้มยำกุ้ง” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

โดยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลมาเป็นระยะๆ เพื่อจัดเตรียมข้อมูลในการจัดทำเอกสารแบบฟอร์ม เสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

ซึ่งใจความสำคัญ จะมีทั้งคำนิยามของต้มยำกุ้ง ความเป็นมา กระบวนการมีส่วนร่วมของสังคม ซึ่งเป็นจุดเน้น รวมถึงการส่งเสริมพัฒนาให้เกิดการต่อยอด

ส่วนสาระของ “ต้มยำกุ้ง” จะเกี่ยวข้องกับมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ใน 3 สาขา คือ

สาขาภาษาและมุขปาฐะ

สาขาแนวปฏิบัติทางสังคมพิธีกรรมและงานเทศกาล

และสาขาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

 

คําว่า “ต้มยำกุ้ง” เป็นคำโดดในภาษาไทย มาจากคำว่า “ต้ม” และ “ยำ” มีความหมายที่แสดงกระบวนการทำอาหาร แสดงอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นอาหารของคนภาคกลาง แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำ มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหาร ด้วยการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้การประกอบอาหาร เช่น กุ้งในแม่น้ำ ต้มลงในน้ำเดือด ปรุงรสด้วยสมุนไพรต่างๆ รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ช่วยรักษาสมดุลของร่างกายได้

แต่เพื่อให้ตรงกับเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก จึงต้องจัดเตรียมข้อมูลให้รอบด้าน โดยกำหนดชุมชนที่เกี่ยวข้องกับต้มยำกุ้งให้ชัดเจน และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดทำมาตรการเพื่อการสงวนรักษา โดยมีคณะทำงานด้านการจัดทำข้อมูล พร้อมผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาที่สอนเรื่องต้มยำกุ้ง สมาคมผู้ประกอบการ ผู้ได้รับรางวัลเกี่ยวกับต้มยำกุ้ง และชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการทำเครื่องต้มยำ หรือปลูกสมุนไพร

โดยพบว่าชุมชนมีการสืบทอดและพัฒนาสร้างสรรค์การทำต้มยำกุ้งอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน ร้านอาหาร และสถาบันการศึกษา ทั้งในและนอกระบบที่มีการเรียนการสอน ทำให้สามารถอ้างอิงข้อมูลได้

 

เมื่อรวบรวมข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องรอบด้านแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนจัดทำสิ่งที่ต้องเสนอให้ยูเนสโกพิจารณา 4 รายการ ได้แก่ 1.ทำเอกสารตามแบบฟอร์ม 2.รูปภาพต้มยำกุ้ง จำนวน 10 รูป 3.วีดิทัศน์ ถ่ายทอดเรื่องราวของต้มยำกุ้งเป็นภาษาอังกฤษความยาว 10 นาที และ 4.เอกสารยินยอมเสนอให้ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ซึ่งต้องเป็นลายเซ็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ซึ่งการเสนอ “ต้มยำกุ้ง” ขึ้นทะเบียนต่อยูเนสโกครั้งนี้ ได้รวบรวมข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง ทั้งจากชุมชนและนักวิชาการกว่า 50 ราย

โดย วธ.ได้ยื่นเอกสารในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกภายในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเข้าสู่รอบการพิจารณาต่อไป!!

 

ปัจจุบัน “โนรา” และ “สงกรานต์ในประเทศไทย” หรือ Songkran festival ก็อยู่ในขั้นตอนเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโกนั้น

ล่าสุด “โนรา” ได้ขึ้นบัญชีเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโกในเดือนพฤศจิกายนนี้

ซึ่งก็ถือว่ามีความหวังกว่า 90% ที่ “โนรา” จะได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ…

จากนั้นจะเว้นวรรคไป 1 ปี เพื่อพิจารณา “สงกรานต์ในประเทศไทย” ที่ไทยได้เสนอไปแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก

ก่อนจะตามมาด้วย “ต้มยำกุ้ง” ในลำดับต่อไป!!