วิรัตน์ แสงทองคำ/ แรงกระเพื่อม ‘โอสถสภา’

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

แรงกระเพื่อม ‘โอสถสภา’

 

บางแง่มุมเกี่ยวกับความอยู่รอดและการปรับตัวของธุรกิจครอบครัวเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในสังคมไทย

เรื่องราวธุรกิจครอบครัวเดินหน้าวาระ 130 ปี กำเนิดจาก “ร้านขายยาสมุนไพรแผนโบราณภายใต้ชื่อเต๊กเฮงหยู โดยคิดค้นยากฤษณากลั่น ตรากิเลน ที่มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดท้อง ท้องเสีย” เปิดฉากแรกสำคัญ (อ้างจาก https://www.osotspa.com/) ของบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

เรื่องราวผลิตภัณฑ์เข้าถึงผู้คนวงกว้างขึ้นๆ จากยุคหนึ่งสู่อีกยุค เป็นไปอย่างตื่นเต้น จากยาสมุนไพรแผนโบราณ-ยากฤษณากลั่น ตรากิเลน ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ยาสามัญประจำบ้าน-ยาทัมใจ ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาจนถึงเครื่องดื่มชูกำลัง M-150 ในยุคสมัยตลาดฐานกว้าง เป็นผลิตภัณฑ์มียอดขายมากถึงปีละราวๆ 2 หมื่นล้านบาท และมีสัดส่วนมากถึง 70% ของยอดขายทั้งสิ้น

บริษัทโอสถสภา จากยุคผู้ก่อตั้ง ก้าวมาจนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 4 รุ่น ถือว่าเป็นธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งคงอยู่ สามารถปรับตัวและเติบโต ธุรกิจครอบครัวภายใต้โครงสร้างความเป็นเจ้าของ การบริหารจัดการธุรกิจภายในตระกูลเป็นไปอย่างเข้มข้น อย่างต่อเนื่อง เป็นหนึ่งในไม่กี่ตระกูลธุรกิจสังคมไทยที่เป็นเช่นนั้น

เมื่อเร็วๆ นี้เรื่องราวการขยับปรับเปลี่ยนบางอย่าง เกี่ยวข้องกับโครงสร้างผู้ถือหุ้นโอสถสภาภายในครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่ตื่นเต้น เป็นที่น่าสนใจ

 

กรณีรายการซื้อ-ขายหลักทรัพย์บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) จำนวนมากครั้งเดียว เรียกกันว่า “Big Lot” 762,718,000 หุ้น คิดเป็น 25.39% ของทุนจดทะเบียน

มีการคำนวณกันคร่าวๆ อ้างอิงราคาซื้อ-ขายในตลาดหุ้น จะเป็นดีลมีเงินก้อนใหญ่กว่า 25,000 ล้านบาท

คำแถลงของโอสถสภาให้ข้อมูลเกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับหุ้นสัดส่วนราวๆ 12% กล่าวถึงผู้ขายซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 2 รายในกลุ่มเดียวกันที่เรียกว่า Orizon ซึ่งขยายความว่า “กลุ่มบุคคลที่กระทำการร่วมกัน หรือ acting in concert ประกอบไปด้วย นิติบุคคลในนาม Orizon Limited และบุคคลในครอบครัว เพชร-รัตน์ โอสถานุเคราะห์”

ส่วน Orizon Limited เป็นบริษัทตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายฮ่องกง ถือหุ้น 100% โดยอีกบริษัทหนึ่ง ทั้งนี้ระบุว่า ครอบครัวเพชรและรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ได้รับประโยชน์เท่าๆ กันในสัดส่วน 50/50 (อ้างจากบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) / แบบ 56-1 ONE REPORT 2563)

บทสรุปแห่งดีลที่เรียกกันว่าเป็นการซื้อ-ขายหุ้นอย่างเจาะจง (Private placement) โครงสร้างผู้ถือหุ้นโอสถสภามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะ

กลุ่ม Orizon เคยถือหุ้นใหญ่ที่สุด ในสัดส่วน 27.75% จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 มีสัดส่วนเหลือ 15.06%

ส่วนผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ขึ้นมาแทนที่ได้แก่ บุคคลในตระกูลโอสถานุเคราะห์เช่นกัน (นิติ โอสถานุเคราะห์) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 23.80% โดยเป็นผู้ซื้อรายใหญ่รายหนึ่งในดีลนี้

หากจะให้ตีความอย่างเจาะจง เป็นไปได้ว่าในกลุ่ม Orizon ซีกที่ขายหุ้นออกไปมากที่สุด คงเป็นเฉพาะครอบครัวเพชร โอสถานุเคราะห์

พิจารณาและอ้างอิงกรณีขายหุ้นในชื่อตนเองถือทั้งหมด และในฐานะประธานกรรมการบริหารโอสถสภา เขาได้แถลงเหตุผลอย่างทันท่วงที

“เนื่องด้วยทางครอบครัวของเรามีโครงการต่างๆ ที่ได้ไตร่ตรองมานานแล้ว กล่าวคือ โครงการด้านศิลปวัฒนธรรมและด้านการศึกษา จึงต้องใช้งบประมาณสนับสนุนสูงเกินกว่าที่ครอบครัวเราจะทำได้ ดังนั้น เรามีความจำเป็นที่จะต้องทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการลงทุน โดยการขายหุ้นบางส่วน…”

 

เพชรกับรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เป็นพี่น้องกัน ถือเป็นรุ่นที่ 4 ของตระกูลธุรกิจครอบครัว เป็นทีมที่มีบทบาทสำคัญและต่อเนื่องในโอสถสภาจนถึงปัจจุบัน บิดาของพวกเขา-สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้นำในรุ่นที่ 3 ผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในยุคขยายตัวทางธุรกิจ เป็นบุตรคนที่ 2 ของสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ผู้วางรากฐานสำคัญอันมั่นคงให้กับโอสถสภา ภายใต้ตระกูลธุรกิจรุ่นที่ 2 ต่อจากยุคผู้ก่อตั้ง โดยแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ (เดิมแซ่ลิ้ม)

ส่วนนิติ โอสถานุเคราะห์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดรายใหม่ คนรุ่นที่ 4 เช่นเดียวกัน บิดาของเขา-สุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ ผู้เป็นน้องสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และบุตรชายคนสุดท้ายของสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ปัจจุบันสุรินทร์ในฐานะอาวุโส คงดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการโอสถสภา

เชื่อกันว่าจะมีการขยับปรับเปลี่ยนผู้คนและบทบาทภายในตระกูลโอสถานุเคราะห์ ซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ มากกว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนระดับโครงสร้างธุรกิจในโอสถสภา

 

ในมุมมองกว้างขึ้น การปรับเปลี่ยนบางอย่างภายในโอสถสภาที่ว่านั้น มีบางมิติ บางบริบท เป็นไป เปลี่ยนแปลงและเกี่ยวเนื่อง ทั้งมุมมองเชิงบวกและลบ

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของทุกภาคส่วนในปีที่ผ่านมา อุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจคือความไม่แน่นอน และผลกระทบที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจมากว่า 129 ปี …ทำให้โอสถสภาสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ” ตอนสำคัญของสาร Chief Executive Officer กล่าวไว้ (อ้างแล้ว) คงจะเป็นจริงตามนั้น เมื่อพิจารณาผลประกอบการในช่วงต่อเนื่อง 3 ปี (2561-2563) ไม่ว่ารายได้ (ระดับ 25,000 ล้านบาท) และกำไร (ระดับ 3,000 ล้านบาท) คงรักษาระดับไว้ เช่นเดียวกับราคาหุ้นในตลาดปัจจุบัน

ขณะอีกบางตอนได้รายงานแผนการสำคัญ “ในปี 2563 ยังมีอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของโอสถสภา ได้แก่ การเปิดโรงงานผลิตเครื่องดื่มแห่งใหม่ในเมียนมาอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563”

ถือเป็นโรงงานแห่งแรกในต่างประเทศของโอสถสภา ตามแผนการสร้างรากฐานธุรกิจอย่างแข็งขันในเมียนมา

“เครื่องดื่มตราสินค้าชาร์คจับกลุ่มพรีเมียม ครองอันดับหนึ่งในกลุ่มเครื่องดื่มบำรุงกำลัง และโอสถสภาคงความเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มบำรุงกำลังในเมียนมา”

ทว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมาตั้งแต่ต้นปี 2564 เปลี่ยนแปลงไปมากอย่างคาดไม่ถึง ยากจะคาดเดา เชื่อว่าส่งผลสะเทือนถึงความเป็นไประยะข้างหน้าของโอสถสภา ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่มากก็น้อย

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ Covid-19 และความรุนแรงในเมียนมา เป็นเพียงหนึ่งในความท้าทายสำคัญในช่วงกว่าศตวรรษของโอสถสภาที่เผชิญมา

จะว่าต่อให้ละเอียดขึ้นในคราวหน้า

 

เหตุการณ์สำคัญ

 

2434

ก่อตั้งร้านขายยาสมุนไพรแผนโบราณภายใต้ชื่อเต๊กเฮงหยู โดยคิดค้นยากฤษณากลั่น ตรากิเลน

2475

ย้ายไปถนนเจริญกรุง และเปลี่ยนชื่อร้านเป็น “โอสถสถานเต๊กเฮงหยู” นอกจากมียากฤษณากลั่นตรากิเลน ยังได้ผลิตยาสามัญประจำบ้านอื่นๆ อีกหลายชนิด ที่น่าสนใจคือ “ยาทัมใจ”

2492

ตั้งโรงงานย่านซอยหลังสวนด้วยเครื่องจักรทันสมัย และจดทะเบียนเป็นบริษัท โอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) จำกัด

2508

เปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังเป็นครั้งแรกในประเทศไทย-ในแบรนด์ “ลิโพวิตัน-ดี (Lipovitan-D)” โดยได้รับ licensee จาก Taisho Pharmaceutical Co. ประเทศญี่ปุ่น

2517

ควบรวมสำนักงานเจริญกรุงและโรงงานซอยหลังสวนมาอยู่ที่เดียวกัน ณ สำนักงานใหญ่ ริมถนนรามคำแหง หัวหมาก เนื้อที่กว่า 70 ไร่ จนถึงทุกวันนี้

2528

เปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังในแบรนด์ของตนเอง M-150

2538

เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท โอสถสภา จำกัด”

2558

ร่วมทุนกับ Loi Hein Company Ltd. แห่งเมียนมา เพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มในประเทศเมียนมา

2561

เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ ‘OSP’