หลังเลนส์ในดงลึก : ข้างนอกกับข้างใน

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

กลางเดือนสิงหาคม สายฝนในผืนป่าด้านตะวันตกโปรยปรายต่อเนื่อง ป่าหนาแน่นทึบเขียวชอุ่ม สายหมอกลอยระเรี่ยสันเขามองเห็นเพียงรางๆ หลายแห่งมีพายุฝน ลมกระโชกแรง อุณหภูมิลดต่ำและปริมาณน้ำฝนเพิ่มสูง โดยเฉพาะในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและด้านตะวันออก ป่าแม่วงก์ ป่าคลองลาน

แต่สำหรับป่าห้วยขาแข้งดูเหมือนคำว่า “เงาฝน” จะปรากฏให้เห็นชัด ท้องฟ้าจะมืดครึ้ม ลมพัดแรงบางวันเท่านั้นที่จะมีสายฝนโปรยปราย กว่าครึ่งเดือนแล้วที่ไม่มีสายฝนตกแบบกระหน่ำหนัก ทุกๆ เช้าหน่วยพิทักษ์ป่าทุกหน่วยรายงานสภาพอุณหภูมิรวมทั้งปริมาณน้ำฝนกับสถานีวิทยุแม่ข่าย ทุกพื้นที่มีฝนเบาบางไม่ถึง 10 มิลลิเมตร

“กลางเดือนตุลาคมโน่นแหละครับถึงจะเจอฝนหนักๆ” โก๊ะ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าพูดจากประสบการณ์ที่อยู่ป่าแห่งนี้มาเนิ่นนาน

ฤดูแล้งอันยาวนานถึง 8 เดือนในป่าห้วยขาแข้งทำให้สายน้ำหลักอย่างลำน้ำขาแข้งมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“ปีที่ผ่านมาช่วงแล้งจัดๆ ตอนบนๆ น้ำมีขาดเป็นช่วงๆ เหมือนกันนะครับ” โก๊ะบอก

“บางแอ่งน้ำขังปลามาตกคลั่กอยู่ตายเยอะเพราะจำนวนปลามากแย่งกันใช้ออกซิเจนหมด” เขาเล่าต่อ

“ยิ่งทางลำขาแข้งตอนใต้ๆ นั่นพวกวัชพืชขึ้นกลางๆ ลำน้ำกับริมฝั่งมาก ปีนี้ถ้าน้ำใหญ่ไม่มาช่วยกวาดไปบ้าง นกยูงคงต้องหาที่รำแพนใหม่แหละครับ”

หาดทรายริมลำห้วยซึ่งขยายกว้างในฤดูหนาวคือพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของนกยูงตัวผู้ซึ่งต่างจะเข้ามาจับจองเพื่อไว้เป็นที่สำหรับรำแพนหาง อวดความแข็งแรงสวยงามให้ตัวเมียเลือก หลายปีที่ผ่านมาพวกมันเพิ่มจำนวนประชากรมากขึ้น ที่เหมาะๆ ริมลำน้ำไม่เหลือ หลายตัวจำเป็นต้องหาที่โล่งๆ อย่างในโป่งเป็นอาณาเขตแทน

20 กว่าปีก่อนเชื่อกันว่านกยูงถูกคุกคามจนกระทั่งเกือบสูญพันธุ์ การพบเห็นตัวพวกมันคือความยากลำบาก ถึงวันนี้ป่าห้วยขาแข้งรวมถึงป่าแม่วงก์ การพบเจอนกยูงคือเรื่องปกติ ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือผลจากการปกป้องเหล่าสัตว์ป่าและแหล่งอาศัยของพวกมันอย่างเอาจริง

 

หน่วยพิทักษ์ป่าที่ผมอยู่ ไม่ไกลจากป่าแม่วงก์ เสียงวิทยุสื่อสารแจ้งเรื่องพายุฝนของหน่วยต่างๆ เราได้ยินเสมอ การทำงานที่ใช้วิธีกลับมานอนที่หน่วยพิทักษ์ป่าคือความสะดวกสบายบางวันเมื่อสายฝนปรอยๆ เป็นข้ออ้างที่เราจะไม่ออกไปไหน

ต้นไทรข้างบ้านออกลูกสุก ตลอดทั้งวันจึงมีความคึกคัก พญากระรอกดำ 2 ตัวเป็นเจ้าถิ่น มันทำท่าหวงเมื่อมีกระรอกเล็กๆ เข้ามา พวกมันว่องไวเคลื่อนที่ไปตามกิ่งไม้ได้รวดเร็ว บางทีกระโดดจากกิ่งบนลงมายังกิ่งไม้อีกต้นในระยะที่ต่ำกว่า 10 เมตร หางยาวช่วยในการทรงตัวเป็นอย่างดี

แต่ที่เป็น “เจ้าถิ่น” จริงๆ คือชะนีครอบครัวหนึ่งตัวแม่สีน้ำตาลอ่อน มีลูกสีดำที่โตแล้วเกาะอยู่ที่อก สีขนของชะนีมือขาวไม่เกี่ยวข้องกับอายุและเพศ สมัยเด็กๆ ผมมักได้ยินคนในป่าพูดกันว่าชะนีตัวผู้คือตัวสีดำ

ชะนีเป็นลิงไม่มีหาง แขนยาว ขาสั้น นิ้วหัวแม่มือแยกจากนิ้วชี้เป็นง่ามลึกลงในฝ่ามือ ทำให้มือชะนีมีรูปร่างยาวและแคบ ใช้ในการกำหรือจับต้นไม้ได้แน่น ชะนีเดินทางไปตามยอดไม้อย่างแคล่วคล่อง ความแตกต่างจากลิงคือเมื่อคลื่นที่พวกลิงจะไต่ไปตามกิ่งไม้ แต่ชะนีใช้วิธีโหนโยนตัวไป

ลูกชะนีสีดำเริ่มฝึกฝนการโหนกิ่งไม้ มันผละจากอกแม่บ้างแล้ว แม่ชะนีจะให้ลูกกินนมนานถึง 18 เดือน ใช้เวลาตั้งท้อง 120 วัน เจ้าตัวเล็กจะเกาะติดอยู่กับอกแม่นานถึง 2 ปี และจนกระทั่งอายุ 8-9 ปีจึงจะย้ายออกไปสร้างครอบครัวใหม่ โดยปกติชะนีจะใช้ชีวิตอยู่ตามยอดไม้โดยไม่ลงพื้น อาหารหลักเป็นยอดไม้อ่อนๆ ใบไม้ ผลไม้ รวมถึงแมลงบางชนิด จากการศึกษาชะนีพบว่าพวกมันกินผลไม้มากกว่าอาหารชนิดอื่นๆ นั่นคือชะนีมีหน้าที่ปลูกต้นไม้ที่สำคัญ ชะนีกินน้ำโดยเลียน้ำค้าง น้ำฝนที่เกาะตามใบไม้

อาศัยอยู่เป็นครอบครัว พ่อ แม่ ลูก มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น พวกมันส่งเสียงร้องประกาศความเป็นเจ้าของอาณาเขต ตัวผู้เสียงจะมีทำนองขึ้นๆ ลงๆ ส่วนตัวเมียจะเริ่มตั้งแต่เสียงต่ำ สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสุดเสียงและเริ่มต้นใหม่

ชะนีสีดำตัวหนึ่งไม่ฟังเสียงร้องเตือน มันบุกรุกเข้ามาที่ต้นไทร ผลที่ได้รับคือบาดเจ็บเป็นแผลใหญ่ที่เหนือคิ้วซ้าย ต้องไปแอบอยู่บนคบไม้ต้นหนึ่งด้วยท่าทางเหงาๆ

ว่าไปแล้วชีวิตของชะนีน่าสนใจไม่แพ้คน หลายปีก่อนขณะอยู่ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ผมพบกับลิเดีย คุณแม่ลูกหนึ่งจากรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอมาทำปริญญาเอกเรื่องชะนี

ความสนใจของเธอคือเรื่องความสัมพันธ์ อันเป็นที่ “ปกปิด” ของเหล่าชะนี อย่างเช่น ชะนีตัวเมียแอบไปมีอะไรกับตัวผู้อีกตัว หรือลูกเลี้ยงมีอะไรกับแม่เลี้ยง ทำนองนี้

“เราเริ่มสนใจว่าความจริงแล้วสัตว์กับคนนั้นไม่มีความแตกต่างกันเลยค่ะ” เป็นสาเหตุหนึ่งอันทำให้เธอสนใจหัวข้อเหล่านี้ ขณะในหลายพื้นที่บนโลกนี้ ชะนียังเป็นแค่สัตว์น่ารัก ลูกชะนีถูกนำมาขายในตลาดค้าสัตว์ หลายตัวถูกขังในกรงแคบๆ

วิธีเดียวที่จะนำลูกชะนีออกมาจากป่าได้ คือยิงแม่ชะนีให้ตาย

 

“รอยกระทิง วัวแดง บนภูเขาเต็มไปหมดเลยครับ” มณฑล นำชุดลาดตระเวนกลับมาถึงหน่วยในสภาพมอมแมม พวกเขาหายเข้าป่าไปกว่าหนึ่งสัปดาห์

“คงไปหาหน่อไม้ หน่อรวกกินแหละ” เขาให้ความเห็น

จากสมุดบันทึกของผมเป็นเหตุการณ์ปกติ สัตว์ป่าเคลื่อนย้ายตามฤดูกาลโดยมีแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด ราวๆ เดือนตุลาคมบริเวณโป่งซึ่งสัตว์ป่าจะมากินเพื่อเอาเเร่ธาตุเสริมสร้างร่างกาย จึงจะคึกคัก

“วัวแดงตัวผู้ใหญ่เลยครับ โดนเสือล่าได้อยู่บนสันเขาโน่น” อ่อนสา เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาเสือโคร่ง ซึ่งเราเคยร่วมงานกันเล่าให้ฟัง

ชุดลาดตระเวนผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า เหลือเพียงอ้น ชายหนุ่มผู้ไม่กี่เดือนก่อนตกเป็นข่าวเพราะโดนเสือแม่ลูกอ่อนกระโจนใส่ขณะไปเดินลาดตระเวนและพบลูกเสือ

“เป็นแผลนิดเดียวครับ” อ้นยอมรับ เขาไม่เปลี่ยนเสื้อผ้า คล้ายจะเดินทางต่อ

“ไปทำธุระหน่อยครับ” อ้นว่าพลางเตรียมของวางท้ายมอเตอร์ไซค์

“มันเพิ่งแต่งงานไม่ถึงเดือนครับ เมียคนนี้อายุ 18 เอง” มณฑล กระซิบ ทุกคนมองหน้าอ้น เขายิ้มอายๆ


“เป็นเพราะอาบน้ำในลำขาแข้งนั่นแหละครับ” ผมนึกถึงประโยคที่เรามักชอบพูดกันเล่นๆ เมื่อพบว่าตัวเองกลับมาทำงานอยู่ในป่าอันคุ้นเคยอีก กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมๆ แบบที่ “เป็น” มาเนิ่นนานแล้ว เฝ้ารออยู่ในที่แคบๆ รอให้มีตัวอะไรเข้ามา

มองออกไป “ข้างนอก” เพื่อมองเห็นสิ่งที่อยู่ “ข้างใน”