เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / หัวใจของคนกระบี่คม

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

หัวใจของคนกระบี่คม

เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติ

อยู่กันอย่างเครือญาติไม่เหยียบย่ำ

ทรงคุณค่าดีงามความเป็นธรรม

อ่าวลึกน้อยลึกล้ำ…นี้งามนัก!

 

ไปเยี่ยมชุมชน ต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ มาเมื่อวันที่ 24-25 มีนาคมที่ผ่านมา ตามโครงการภูมิพื้นที่วัฒนธรรมของคณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรมในสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเที่ยวนี้มีสามโครงการพูดให้คล้องจองได้คือ

เยี่ยมชุมชน-ฟังดนตรี-เวทีเสวนา

ชุมชนอ่าวลึกน้อยนี้ชื่อชวนพิศวงว่า “ลึกน้อย” หรือ “อ่าวน้อย” คือรวมๆ ว่าอ่าวลึกแต่ลึกน้อย หรืออ่าวน้อยๆ แต่ลึกนะ ซึ่งไม่ใช่ทั้งสองความหมาย ที่จริงคือเป็นหนึ่งในอำเภออ่าวลึกซึ่งมีตำบลต่างๆ ที่ชื่ออ่าวลึกเหมือนๆ กัน นี่เป็นตำบลน้อยๆ ตำบลหนึ่งเท่านั้น

งงๆ อยู่ยิ่งงงใหญ่ เมื่อชาวบ้านและผู้นำชุมชนพาคณะเราฝ่าดงพงไพรปีนผาด้นดั้นขึ้นไปยังเชิงผาหน้าถ้ำชื่อพรุตีมะ มาจากพรุก็คือ พรุคือที่ลุ่มน้ำ ส่วนตีมะเหมือนจะเป็นชื่อคน เช่น ฟาติมะ อันเป็นชื่อชาวมุสลิมนั้น

ระยะทางราวสองร้อยเมตร แต่ราว “ล่องไพร” ยิ่งวัยปูนเราวันนี้จึงน่าจะเรียกว่า “ล่องไพรภาคชราภาพ” ประมาณนั้น เพื่อจะได้มาพบมาเห็นมหัศจรรย์ของภาพเขียนสีบนแผ่นผนังผา รูปช้างตัวน้อยๆ เท่าฝ่ามือสีดำ กับภาพลิงน้อยๆ เท่านิ้วมือเจ็ดตัวที่ต้องเพ่งมองกันนานๆ เช่นกันกับภาพคนตรงผนังผาด้านอื่นๆ อีก

สันนิษฐานเบื้องต้นว่าบริเวณนี้ต้องเป็นทะเลโบราณ ระดับสูงถึงเชิงผาประมาณรูปเขียนนี้ ชาวเรือคงแวะพักคูหาถ้ำใต้เพิงผาแล้วเขียนภาพไว้ สำคัญคือ มันบอกเล่าเรื่องราวแต่ยุคทะเลโบราณกระทั่งเหลือแต่เขาสูงกลางป่า ที่ชาวบ้านอ่าวลึกน้อยเพิ่งมาเห็นนี่แหละ

นานแค่ไหนอย่างไร ท้าทายให้ค้นคว้า

 

กระบี่ดูจะเป็นเมืองหลวงของสวนปาล์ม ที่อ่าวลึกน้อยก็มีสวนปาล์มติดป่าที่คณะ “ล่องไพรภาคชราภาพ” ได้ผจญมา คุณชัยยุทธ ทิพยุทธ หนึ่งในผู้นำทางเล่าอย่างภูมิใจนักที่ได้เริ่มคิดนำทางปาล์มมาทำเป็นเส้นตอกอย่างผิวไผ่ แต่นี่เป็นผิวทางปาล์มที่ให้ความเลื่อมเงาไม่แพ้ผิวไผ่ นำมาจักสานเป็นภาชนะบรรจุของได้สารพัด นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์โครงการวิสาหกิจเพื่อชุมชนของชาวอ่าวลึกน้อย

ทั้งภาพผนังผาและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้าน นี้คือหนึ่งในภูมิบ้านภูมิเมืองที่เมืองกระบี่มีอยู่อย่างน่าภูมิใจยิ่ง

 

จากนี้ไปฟังดนตรีที่ร้านเรือนไม้ เป็นวงพิเศษผสานกันสองวง คือวงพื้นบ้านดนตรีรองแง็งกับวงซิมโฟนีของ ดร.สุกรี เจริญสุข ในโครงการนำเพลงพื้นบ้านสู่สากล ด้วยความร่วมมือของกระทรวงอุดมศึกษาฯ (อว.) ที่มีคุณเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นเจ้ากระทรวง

และนี่เป็นโครงการหนึ่งในภูมิพื้นที่วัฒนธรรมที่คณะอนุกรรมาธิการศิลปวัฒนธรรมจะนำเสนอต่อรัฐบาลให้เป็นหนึ่งในการปฏิรูปงานด้านศิลปวัฒนธรรม

รองแง็งเป็นดนตรีชาวเล คือชาวทะเลสองฟากทะเลตะวันออกตะวันตกของถิ่นใต้สุดขึ้นมาซึ่งมักมีชาวทะเลที่ใช้ภาษาไทย-มลายูเป็นพื้น มีทำนองหลักเช่นเพลงตันหยง เป็นต้น

บันดาลใจจากวงรองแง็งเพลงตันหยงเคยนำมาแต่งไว้ดังนี้

๐ คลื่นเอยลมเอย มาชื่นมาเชย

เถิดอย่าไปไหน

ทะเลเป็นสาว      เจ้ายิ้มใส

ชื่นชวนยวนใจ    เสียจริงจริงเอย ฯ

การนำเพลงพื้นบ้านมาผสานสร้างสรรค์สู่สากลเป็นพัฒนาการที่โลกดนตรีดำเนินอยู่ตลอดเวลา เป็นสากล แปลกตรงว่า เพลงพื้นถิ่นพื้นฐานไทยเราเท่านั้นที่มีแต่จะหดหายไป เพราะขาดการเอาใจใส่เท่าที่ควร ส่วนหนึ่งด้วยอิทธิพลของวิถีสมัยใหม่ที่สร้างค่านิยมลักษณะ “ตามเขาแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่”

เสน่ห์ของเพลงและดนตรีรองแง็งอยู่ที่กลองชุดที่เรียกบรานอ กระหึ่มครึ้มใจกับเสียงไวโอลินที่เรียกซอยูลา และเสียงร้องที่กังวานไปพร้อมกัน เหมือนคลื่นทะเลกับเสียงกรีดของสายลมสอดพลิ้วไปกับเสียงคลื่นซัดสาดหาดทรายทั้งคลื่นลมระดมเท

น่าพิศวงที่วงซิมโฟนีถอดเสียงเพลงรองแง็งของชาวเลให้กระหึ่มครึ้มก้องแผ่นดินได้จริง

 

อีกเวทีคือเวทีสัมมนาที่โรงแรมกระบี่เมรีไทม์ ซึ่งโรงแรมนี้เจ้าของคือคุณพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล เพื่อนเราสมัยวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ ซึ่งวันนี้ได้มานั่งฟังเสียงจากเวทีด้วย

หนึ่งเสียงบนเวทีคือคุณวินัย อุกฤษ เจ้าของเพลงนกสีเหลือง เพลงที่เป็นดังตำนานยุคสมัยของคนหนุ่ม-สาวรุ่นสิบสี่ตุลาหนึ่งหก

คุณวินัย อุกฤษ เป็นคนกระบี่ เป็นกระบี่คมที่ซ่อนคม และเป็นผู้หนึ่งที่เราอยากพบแต่ยากพบ

สาระสำคัญจากเวทีสัมมนา หัวใจของเรื่องคือ “ภูมิบ้านภูมิเมืองกระบี่” ซึ่งรวบรวมชาวกระบี่และหน่วยงานเกี่ยวข้อง นอกจากบนเวทีที่ล้วนผู้เป็นเพชรพลอยภูมิเมืองกระบี่แล้วยังมีผู้ร่วมรับฟังและเสนอความเห็นที่เป็นดังเพชรภูมิเมืองกระบี่อีกราวร้อยคน ซึ่งคณะกรรมการวิชาการของอนุกรรมาธิการจะได้สังเคราะห์และกลั่นกรองนำเสนอผ่านสภาเพื่อเสนอรัฐบาลเร่งดำเนินการตามแผนปฏิรูปต่อไป โดยเฉพาะ

ปฏิรูปงานศิลปวัฒนธรรม