การเดินทางของตำรวจไทย / บทความพิเศษ “นอกเครื่องแบบ”

บทความพิเศษ

“นอกเครื่องแบบ”

 

การเดินทางของตำรวจไทย (7)

 

การยุบรวมกรมตำรวจภูธรและกรมกองตระเวน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

รัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริว่า เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการบังคับบัญชา ประหยัดงบประมาณ และปรับปรุงประสิทธิภาพของตำรวจ

จึงทรงโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2448 ให้ยุบกรมตำรวจภูธรและกรมกองตระเวน รวมกัน แล้วเรียกว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมกองตระเวน”

โดย พล.ท.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ เป็นอธิบดีคนแรก

กรมใหม่นี้ขึ้นกับกระทรวงนครบาล ที่มีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นเสนาบดี

การรักษาความสงบเรียบร้อย

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา

ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยกลุ่ม “คณะราษฎร” ซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนาและคณะ เป็นผู้นำ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475

การรัฐประหารครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476 โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลคณะราษฎรกับบรรดาเจ้านายที่พิจารณาว่า รัฐบาลดูหมิ่นพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และเตรียมการนำประเทศไปสู่การปกครองระบอบสังคมนิยม จากแผนเค้าโครงเศรษฐกิจ (สมุดปกเหลือง) ของนายปรีดี พนมยงค์

พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

ผลจากการรัฐประหารครั้งนี้ ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ถูกบีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศไปฝรั่งเศส

จากนั้นเพียง 80 วัน ถัดจากการเกิดรัฐประหารครั้งแรก เมื่อถึงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ก็เกิดการรัฐประหารครั้งที่ 2 ขึ้นอีก โดยการนำของ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนากับพวกยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แล้วได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

การยึดอำนาจครั้งนี้ คณะรัฐประหารได้บีบบังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งทั้งหมด

ยิ่งกว่านั้น ตัวนายกรัฐมนตรี นอกจากออกจากตำแหน่งแล้ว ยังต้องออกไปอยู่นอกประเทศด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดาต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่ปีนังจนกระทั่งเสียชีวิตที่นั่น

ถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยที่ไปจบชีวิตในต่างแดน

หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์

113 วันต่อมาจากการรัฐประหารครั้งที่ 2 คณะบุคคลที่เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านเมือง” มี พล.อ.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นหัวหน้า และนายทหารผู้ใหญ่อีกหลายคนได้ก่อการกบฏขึ้นเป็นครั้งแรก (นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ.2475) เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2476

การเคลื่อนไหวเพื่อยึดอำนาจครั้งนี้ เป็นที่มาของชื่อ “กบฏบวรเดช”

และเมื่อทำการไม่สำเร็จเพราะถูกกำลังของฝ่ายรัฐบาลปราบปราม รัฐบาลขณะนั้นได้ถือโอกาสออกพระราชบัญญัติการจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 เพื่อการรักษาและป้องกันเสถียรภาพทางการเมือง ตลอดจนการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม

มีการตั้งศาลพิจารณาคดีการกบฏและจลาจล ซึ่งกระบวนการของศาลพิเศษ มิได้ปฏิบัติตามหลักแห่งการปกครอง หลักกฎหมาย และหลักนิติธรรม (Rule of Law) ตัดสินคดีของฝ่ายพ่ายแพ้โดยไม่ให้มีการอุทธรณ์ ฎีกา

พระราชบัญญัติฉบับนี้เปิดช่องทางให้รัฐบาลมีโอกาสกำจัดฝ่ายตรงข้ามได้โดยสะดวก ทำให้มีผู้ถูกจับกุมในข้อหาเป็นภัยต่อรัฐธรรมนูญจำนวนมาก

ระหว่างปี พ.ศ.2476-2481 ห้วงเวลาเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ตำรวจต้องมีหน้าที่ร่วมสืบสวน ปราบปรามและจับกุมตามคำสั่งและความต้องการของรัฐบาล

ด้วยเหตุดังนี้ ตำรวจยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาอำนาจของนักการเมือง ถูกกดดันจากนักการเมืองและผู้มีอำนาจ ให้ต้องปฏิบัติตามในสิ่งที่ผิดหลักการสำคัญของตำรวจ

ใช้วิธีการรุนแรงโหดร้ายกับประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างจากผู้มีอำนาจ

และมีการกระทำที่ละเมิดกฎหมายเสียเอง

นายปรีดี พนมยงค์

ในระยะหลังต่อมา ช่วงปี พ.ศ.2490 ตำรวจก็ได้เข้าไปพัวพันร่วมฆาตกรรมนายหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้นำชุมชนที่ชาวมุสลิมให้ความเคารพศรัทธา

และมีอีกหลายๆ คดีที่ตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ฆาตกรรมประชาชนและนักการเมืองในระดับต่างๆ ตั้งแต่หัวคะแนนจนถึงระดับรัฐมนตรี

แต่ที่นับเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่น่าเกิดบนแผ่นดินไทยที่สวยงาม คือเมื่อ พ.ศ.2514 ตำรวจได้ร่วมกับข้าราชการหลายหน่วยงาน ทั้งทหาร ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย และอาสาสมัคร ร่วมกันปฏิบัติการจู่โจมปิดล้อม ตรวจค้นหมู่บ้าน จับชาวบ้านจำนวนมากไปสอบสวนด้วยวิธีการที่โหดร้ายป่าเถื่อนอย่างที่สุด มีการซ้อม ทรมานในรูปแบบต่างๆ เช่น ให้ประชาชนถือมีดคนละเล่มดวลกัน แทงกันจนตาย โดยมีเจ้าหน้าที่ถือปืนคุมบังคับ และมีการจับประชาชนเผาทั้งเป็น

สภาพการณ์ความเสียหายในการทำงานตำรวจดำเนินเรื่อยมา หนักบ้างเบาบ้าง

กระทั่งถึงปี พ.ศ.2541 ในช่วงรัฐบาลที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างขององค์กรตำรวจครั้งสำคัญ คือการโอนกรมตำรวจที่เคยขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ไปตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง แต่ให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

พระยาพหลพลพยุหเสนา