ไฉนทหารพม่าเดินตาม ทหารอินโดฯ ไม่สำเร็จ? / กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ไฉนทหารพม่าเดินตาม

ทหารอินโดฯ ไม่สำเร็จ?

 

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนถึง 4 ฉากทัศน์ หรือ scenarios ที่มีความเป็นไปได้สำหรับวิกฤตเมียนมา

เป็นการประเมิน “ความเป็นไปได้” ของแต่ละสูตรขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่าย

แต่ “ฉากทัศน์ที่ 5” น่าจะเป็นความหวังและความฝันของคนพม่าวันนี้

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเห็นบ้านเมืองตัวเองก้าวเข้าสู่ยุคที่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมและอนาคตของตนได้

ภายใต้ “ฉากทัศน์ที่ 5” นี้คือภาพของการรัฐประหารที่ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

และรัฐบาลพลเรือนเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านของประเทศสู่ประชาธิปไตย

นั่นหมายถึงการออกแบบระบอบการเมืองของพม่าใหม่ที่กองทัพจะต้องกลับสู่กรมกรอง และไม่มีอำนาจในโครงสร้างทางการเมือง

อีกทั้งยังหมายถึงการวางแผนที่ประเทศที่จะนำไปสู่การตั้ง “สหพันธรัฐพม่า” ที่ชาติพันธุ์ทั้งหลายจะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

สูตรนี้จะเกิดได้อาจจะต้องมีการ “รัฐประหารซ้อน” ภายในกองทัพเพื่อให้มีกลุ่มผู้นำทหารใหม่ที่ยอมรับระบบการเมืองที่ทหารต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

แน่นอนว่าฉากทัศน์นี้อาจจะถูกมองว่าเป็น “ฝันลมๆ แล้งๆ” ในขณะที่ทหารและตำรวจยังไล่ยิงประชาชนและจับนักการเมืองที่ประชาชนเลือกมากักขังและถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องอยู่ขณะนี้

แต่ทุกวิกฤตย่อมนำมาซึ่งโอกาสที่คาดไม่ถึงได้เสมอ

 

ภายใต้ “ฉากทัศน์ในอุดมคติ” ที่ว่านี้ เหล่าบรรดา ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งโดยประชาชนจะกลับเข้าไปนั่งในรัฐสภาและจะมีการตั้งคณะกรรมการที่มีทุกฝ่าย (รวมทั้งฝ่ายกองทัพ, ประชาสังคมและกลุ่มชาติพันธุ์) มาร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ทั้ง 5 ฉากทัศน์จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดย่อมอยู่ที่แรงกดดันและพลังการต่อสู้จากทั้งภายในประเทศและประชาคมโลก

ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้มากที่สุดอาจจะเป็นส่วนผสมผสานของทั้ง 5 สูตร

แต่จะมีส่วนผสมจากแต่ละฉากทัศน์มากน้อยและเข้มข้นเพียงใดยังเป็นประเด็นที่ต้องถกแถลงกันต่อไป

แต่ไม่ว่าจะเป็นสูตรใด สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนอื่นใดก็คือการหยุดการฆ่าฟันประชาชนโดยฝีมือของเผด็จการทหารที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้

 

นักวิเคราะห์เปรียบเทียบพม่าวันนี้กับอินโดนีเซียที่ได้ข้ามพ้นระบอบเผด็จการมาเป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างเต็มตัว

ผู้นำทหารพม่าเคยมองรูปแบบอินโดนีเซียเป็นตัวอย่างของการอ้างบทบาทของกองทัพในระบอบการเมือง

กองทัพอินโดฯ เคยตั้งพรรค Golkar เป็นเครื่องมือทางการเมืองของตน

กองทัพพม่าก็ตั้งพรรค USDP วันนี้ตามรอยเท้าของอินโดฯ

ซูฮาร์โตปกครองประเทศด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จยาวนานถึง 32 ปี

แต่ความแตกต่างอยู่ที่ว่านายพลซูฮาร์โตของอินโดฯ รู้จังหวะของการต้องก้าวลงจากอำนาจเมื่อ “ความชอบธรรม” ของการกุมอำนาจรัฐหดหายไป

หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 (ช่วงเดียวกับวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ของไทย) ซูฮาร์โตเห็นแล้วว่าเขาไม่สามารถจะอ้างความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศแบบเดิมอีกต่อไป

เพราะวิกฤตครั้งนั้นนำมาซึ่งความทุกข์ยากอย่างยิ่งของประชาชน

และก่อให้เกิดจลาจลกลางถนนอันเกิดจากปัญหาปากท้องและความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติอย่างรุนแรง

กลุ่มก้อนภายในกองทัพอินโดฯ เองในขณะนั้นก็เริ่มตระหนักว่าเมื่อผู้นำกองทัพขาด “ความชอบธรรม” เพราะไม่สามารถจะตัดสินใจแก้วิกฤตเศรษฐกิจได้

อัตราแลกเปลี่ยนของเงินรูปเปียห์ร่วงหล่นอย่างรุนแรง

อำนาจเด็ดขาดทางทหารไม่สามารถจะแก้อาการล่มสลายของปัญหาปากท้องได้

ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่กำลังก่อตัวก่อก็เริ่มจะกลายเป็นความหวังของประชาชนที่เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

จังหวะนั้นเอง ซูฮาร์โตก็ต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต

กลุ่มสายเหยี่ยวในกองทัพกดดันให้เขาประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อสกัดการชุมนุมของประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจเพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจ

ซูฮาร์โตตัดสินใจไม่เดินตามแรงกดดันของกลุ่มทหารขวาจัด

เขาถ่ายโอนอำนาจให้กับรองประธานาธิบดีบีเจ ฮาบีบี ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่ประกาศให้ประเทศอยู่ภายใต้ “ระเบียบใหม่”

หรือที่เขาเรียกว่า New Order เพื่ออ้างความชอบธรรมที่จะสร้างกฎกติกาใหม่ให้กับอินโดนีเซีย

นั่นคือจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ…โดยที่ซูฮาร์โตเองไม่ได้มีเจตนาที่จะเต็มใจสละอำนาจ

แต่ประชาชนในภาวะความแร้นแค้นและโกรธเคืองกับความทุกข์ยากนั้นไม่อาจจะยอมให้เขายังกุมอำนาจกำหนดชะตากรรมของประเทศแบบเดิมได้อีกต่อไป

ประชาชนต้องการสิทธิและเสียงในการเขียน “ระเบียบใหม่” ของประเทศที่ไม่ใช่มาจากการออกแบบของกองทัพแต่เพียงฝ่ายเดียว

จังหวะก้าวย่างนั้นเองที่ผู้นำพลเรือนสวมบทบาทเข้าสู่การนำประเทศและบทบาทของทหารทางการเมืองก็ถูกปรับลดลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

กองทัพอินโดฯ ถูกเรียกชื่อใหม่ว่าเป็น Tentera Nasional Indonesia (TNI) อันหมายถึงหน่วยงานความมั่นคงเพื่อชาติในเดือนตุลาคมปี 1998

ความเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างกองทัพที่สำคัญที่สุดในปีนั้นคือการแยกอำนาจการควบคุมกลไกความมั่นคงภายในประเทศออกไปเป็น “กองบัญชาการตำรวจ” ในปีต่อมา

นั่นแปลว่าทหารลดบทบาทที่เคยกุมอำนาจด้านความมั่นคงทุกมิติอย่างชัดเจน

 

อีกก้าวหนึ่งที่สำคัญคือในปีเดียวกันนั้น จำนวน “โควต้า” ที่นั่งของกองทัพในรัฐสภาถูกลดลงตามลำดับพร้อมกับประกาศเป้าหมายท้ายสุดว่าจะให้เหลือศูนย์ในอนาคต

สัดส่วนของที่นั่งกองทัพในสภาท้องถิ่นทั้งหลายก็ลดลงจาก 20% เหลือ 10% เช่นกัน

ที่เป็นสัญญาณอย่างแจ่มแจ้งถึงการ “แยกทหารออกจากการเมือง” ก็คือการประกาศของกองทัพว่าจะไม่สนับสนุนพรรค Golkar ในการเลือกตั้งปี 1999

เท่ากับบอกกล่าวกับประชาชนว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสามารถเลือกตัวแทนของพวกเขาเข้าสภาอย่างเสรี ไม่จำเป็นต้องมีความหวาดกลัวว่าหากไม่หย่อนบัตรให้พรรคที่กองทัพเคยสนับสนุนแล้วจะต้องเผชิญกับภัยคุกคามอีกต่อไป

แม่ทัพนายกองของพม่าเคยพยายามจะเอารูปแบบของกองทัพอินโดฯ มาเป็นตัวอย่างการปรับตัว

กองทัพเมียนมาเคยประกาศว่าจะค่อยๆ ผ่องถ่ายอำนาจทางการเมืองออกจากตัวเองและให้ประเทศชาติเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยอย่างเป็นระบบ

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้นำกองทัพพม่าไม่ยอมเดินหน้าตามจังหวะที่ประชาชนคาดหวัง

เป็นลักษณะการเดินหน้า 1 ก้าวถอย 2 ก้าว

 

รัฐธรรมนูญพม่าปี 2008 ที่กองทัพเป็นคนร่างมีการระบุถึงเจตนารมย์ที่ทหารจะค่อยๆ ปล่อยวางเพื่อให้ประเทศชาติก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยในท้ายที่สุด

แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่ “นักเลงจริง” เหมือนผู้นำทหารอินโดฯ ในปี 1998

ก่อนหน้านั้นก็มีคำประกาศจากนายพลขิ่นยุ้น นายกรัฐมนตรีที่เคยกำหนดให้ประเทศมี Roadmap 7 ขั้นสู่ “ประชาธิปไตย” ภายในปี 2003

ดังนั้น เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญปี 2008 ก็เท่ากับเป็นการหลอกชาวบ้าน

ถึงปี 2003 ก็ยังไม่ไปถึงไหน…และปี 2008 ก็ยังร่างรัฐธรรมนูญที่ทหารยังมีจำนวน ส.ส.แต่งตั้งโดยกองทัพถึง 25% และอำนาจแฝงอื่นๆ ที่มากมาย

พอถึงปี 2012 มีการเลือกตั้งซ่อม กองทัพยอมให้ออง ซาน ซูจี ลงสมัครโดยแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตก

ออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งซ่อม…และนั่นคือจุดที่ประชาชนคนพม่าเริ่มตื่นตัว กระโจนสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างกระตือรือร้น

เมื่อพรรค NLD ของออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นปี 2015 นั่นคือการยืนยันความต้องการประชาธิปไตยของคนพม่า

และผลการเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายนปีนี้ตอกย้ำว่าคนพม่ากว่า 80% ต้องการให้พลเรือนปกครองประเทศต่อไป

กองทัพพม่าภายใต้ก็นำของมิน อ่อง ลาย ก็เห็นสัญญาณอันตรายสำหรับอำนาจและบารมีทหารที่กำลังจะดับวูบ

นำมาสู่การยึดอำนาจวันที่ 1 กุมภาพันธ์

คำมั่นสัญญาที่ผู้นำกองทัพพม่าจะเจริญรอยตามอินโดนีเซียที่จะถอยออกจากการเมืองก็เป็นอันถูกเป่าดับไปต่อหน้าต่อตา!