ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | เมนูข้อมูล |
เผยแพร่ |
เมนูข้อมูล
นายดาต้า
คำตอบที่ท้าทาย ‘ปชป.’
อาจจะเป็นเพราะผลการเลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราช และซ้ำอีกทีที่เลือกตั้งผู้บริหารเทศบาลทั่วประเทศ ที่พ่ายยับเยิน ที่ทำให้เรื่องราวของ “พรรคประชาธิปัตย์” กลายเป็นประเด็นที่พูดถึงในมุมของความเป็นไปในอนาคตอย่างกว้างขวางอีกครั้ง
ที่เป็นแค่อีกครั้งเพราะก่อนหน้านั้น “อนาคตของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร” ได้รับการวิเคราะห์ประเมินมาตลอดหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดที่ “ประชาธิปัตย์” หลุดจากพรรคที่ได้คะแนนอันดับหนึ่ง หรือ 2 มาเป็นอันดับ 4 รองจากเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอนาคตใหม่
ก่อนหน้านั้นประชาธิปัตย์คือพรรคการเมืองที่เป็นแคนดิเดตผู้ชนะมาตลอด แม้จะพ่ายแพ้มาบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยหลุดจากพรรคอันดับ 2
เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านหลุดอันดับไปไกล พ่ายแพ้ต่อ “พลังประชารัฐ” ยังพอเข้าใจได้ เนื่องจากแม้จะเป็นพรรคใหม่ แต่ผู้สมัครหรือกลุ่มการเลือกที่ถูกดึงมาร่วมเป็นมือเก่า เก๋าเกมแทบทั้งสิ้น แต่ที่สร้างความตื่นตะลึงคือแพ้ต่อ “อนาคตใหม่”
ซึ่งไม่ใช่แค่พรรคใหม่ แต่ผู้สมัครส่วนใหญ่ในแวดวงการเลือกไม่มีใครรู้จัก ล้วนแล้วแต่เป็นมือใหม่ถอดด้ามทั้งหมด
การหลุดความเป็นแคนดิเดต สร้างคำถามมากมาย ที่คำตอบส่วนหนึ่งเลยไปถึงผลกรรมที่ทำเข็ญให้กับ “ประชาธิปไตยไทย” ไม่ว่าจะเป็นการนำการเลือกตั้งมาเล่นกันบนท้องถนน ต่อต้านการเลือกตั้ง เรียกทหารออกมาทำรัฐประหาร และอีกบางคำตอบเลยไปถึงการเป็นรัฐบาลที่ประชาชนซึ่งมีความคิดต่างทางการเมืองถูกล้อมปราบจนเสียชีวิตจำนวนมาก
แต่แม้ข้อวิจารณ์ดังกล่าวจะทำให้อนาคตของประชาธิปัตย์เป็นที่น่าห่วงใยแล้ว
การกลับคำจากที่เคยประกาศไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช.โดยพลิกไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ยิ่งกระตุ้นให้คำถามกระจายกว้างขึ้นไปอีก
คำตอบนั้นยิ่งนับวันยิ่งออกไปในทางเห็นว่า “จะไม่มีเหลือ”
ใน “อำนาจที่ชวนให้รื่นรมย์” นั้น ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ย่อมไม่อยากได้ยินการวิจารณ์ที่ขัดหู เพียงแต่เมื่อถึงเวลาไม่มีอะไรหนีความจริงได้พ้น
เป็นวาระของ “นิด้าโพล” ที่ทำเป็นปกติมาหลายปี คือ “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส” เมื่อปีนี้ผ่าน 3 เดือนแรก ผลการสำรวจครั้งแรกของปี 2564 จึงออกมา
ในคำถาม “บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้” คำตอบมากสุดคือร้อยละ 30.10 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, ร้อยละ 28.79 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 12.09 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ร้อยละ 8.72 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส, ร้อยละ 6.26 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ร้อยละ 3.25 ไม่ตอบ ไม่สนใจ, ร้อยละ 2.70 นายกรณ์ จาติกวณิช, ร้อยละ 2.02 นายอนุทิน ชาญวีรกูล, ร้อยละ 1.90 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, ร้อยละ 1.15 นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์
สำหรับคนของ “ประชาธิปัตย์” เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ “อื่นๆ” ที่หมายถึงคนอื่นๆ รวมกันเป็นร้อยละ 3.02 ในนั้นมีหัวหน้าพรรคต่างๆ ที่เหลือซึ่งมี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หรือแม้กระทั่งนายชวน หลีกภัย รวมอยู่ด้วย
ว่ากันตรงๆ คือ “นิด้าโพล” ไตรมาสแรกปีนี้ ผู้นำ “ประชาธิปัตย์” แทบไม่เหลือซากในความนิยมของประชาชน
และเมื่อถามถึง “พรรคการเมืองที่ประชาชนให้การสนับสนุนในวันนี้” ร้อยละ 29.82 ไม่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย, ร้อยละ 22.13 พรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 16.65 พลังประชารัฐ, ร้อยละ 13.48 ก้าวไกล
สำหรับประชาธิปัตย์ยังอยู่ในอันดับที่ 5 ร้อยละ 7.10
ห่างชั้นความเป็นแคนดิเดตแบบไม่เห็นฝุ่น
ดูจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนไม่น้อย ว่า “อนาคตประชาธิปัตย์” จะเป็นอย่างไร
การปรับเพื่อให้เห็นความเปลี่ยนแปลงดูจะเป็นคำตอบ
แต่การปรับอย่างไรให้หลุดจากผลแห่งกรรมที่ทำไว้กับ “ประชาธิปไตย” ได้
ดูจะท้าทายยิ่งกว่า