เผด็จการไทยและพม่า…สืบทอดอำนาจ (1) สู้แบบมียุทธศาสตร์…ชาติจึงจะพ้นหายนะ / หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

เผด็จการไทยและพม่า…สืบทอดอำนาจ (1)

สู้แบบมียุทธศาสตร์…ชาติจึงจะพ้นหายนะ

 

10 เมษายน 2564 ครบรอบ 11 ปีของการล้อมปราบประชาชนปี 2553 ที่มีคนตายเป็นร้อย บาดเจ็บเป็นพัน การต่อสู้ยืดเยื้อมาจนบัดนี้ ในไทยวันนี้ไม่มีเสียงปืน แต่ที่พม่าคงดังก้องไปอีกนาน

เพราะเผด็จการทหารพม่า ใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจ และปกครอง

แต่ในไทยใช้ทหารในการรัฐประหาร แต่การรักษาอำนาจใช้ทั้งตุลาการ, องค์กรอิสระ, ส.ว., รัฐธรรมนูญ และเงิน ส่วนการเลือกตั้งเป็นฉากประกอบละครเรื่องประชาธิปไตย

เป้าหมายที่เหมือนกันของฝ่ายเผด็จการทุกยุคสมัยคืออยากสืบทอดอำนาจไปให้ยาวนานที่สุด

1 กุมภาพันธ์ 2564 ทหารพม่ารัฐประหารล้มผลการเลือกตั้ง ปลายปี 2563 เราได้เขียนถึงประวัติการใช้กำลังยึดอำนาจและการปราบประชาชนของเผด็จการทหารพม่าที่มีมาหลายครั้ง

วันนี้มาดูลีลาผู้อยากปกครองของไทยที่ประชาชนไม่เลือกแต่อยากเป็น ว่าเขาทำกันอย่างไร

ขอตัดตอนช่วงตั้งแต่รัฐประหาร 2549-รัฐประหาร 2557 มาจนถึงยุบพรรคอนาคตใหม่และเชื่อมโยงถึงศาลยกเลิกคำสั่งยึดทรัพย์นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย ม.44

ถ้าย้อนกลับไปดูจะพบว่าฝ่ายประชาธิปไตยของไทยถูกโจมตีและกดดันด้วยอาวุธไม่กี่ครั้ง แต่ส่วนใหญ่โดนกฎหมายในการโจมตีตลอด 15 ปีที่ผ่านมา

การโจมตีจุดตายฝ่ายประชาธิปไตย 20 ครั้ง

 

การเลือกตั้ง 2548 นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งมากเกินไป ได้ ส.ส. 377 จาก 500 คน เท่ากับ 3 ใน 4 จึงมีการสร้างกระแสเผด็จการรัฐสภา โจมตีอย่างต่อเนื่อง

การโจมตีครั้งที่ 1 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อเหลืองที่ร่วมกับบุคคลชั้นนำบางส่วนพุ่งเป้ากดดันให้ตัวนายกฯ ทักษิณลาออก สุดท้ายถึงขั้นยื่นถวายฎีกา ยื่นหนังสือถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และถึง ผบ.ทบ. พร้อมกันทั้งสามจุดในคืนวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549

ในที่สุดทักษิณก็ต้องประกาศยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขัน

ครั้งที่ 2 วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ เพราะการหันคูหามิชอบ กกต.สั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ 15 กันยายน ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 กกต. เพราะไม่เร่งสอบข้อเท็จจริงจ้างพรรคเล็ก

ครั้งที่ 3 วันที่ 19 กันยายน 2549 ฝ่ายตรงข้ามไม่ปล่อยให้มีเลือกตั้งใหม่ ที่ตัวเองจะพ่ายแพ้อย่างแน่นอน จึงใช้กำลังรัฐประหาร นายกฯ ทักษิณต้องลี้ภัยการเมือง

ครั้งที่ 4 วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทยและให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี 111 คน

ครั้งที่ 5 วันที่ 24 สิงหาคม คมช.ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 (ที่ร่างเอง และคิดว่าชนะแน่)

ครั้งที่ 6 วันที่ 23 ธันวาคม 2550 มีการต่อสู้ทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งทั่วไป แม้ถูกเอาเปรียบทุกทาง แต่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งที่ 7 วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 พันธมิตรฯ เสื้อเหลือง เริ่มต้นชุมนุม ยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ชุมนุม

ครั้งที่ 8 วันที่ 9 กันยายน2551 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘สมัคร’ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีเป็นพิธีกรรายการทำอาหาร ‘ชิมไปบ่นไป’ พรรคร่วมรัฐบาล ตั้งสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งที่ 9 พันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ประท้วงต่อ ยึดสนามบิน จึงใช้องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ โค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน-มัชฌิมาธิปไตย-ชาติไทย ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ครั้งที่ 10 วันที่ 9 ธันวาคม 2551 ปชป.จัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ จากตุลาการภิวัฒน์ รัฐประหาร ในที่สุดแผนบันไดสี่ขั้นก็สำเร็จโดยมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล เทพประทาน ในค่ายทหาร สภาโหวตให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีโดยการสนับสนุนของงูเห่า

ตุลาการภิวัฒน์แบบสุกเอาเผากิน จึงถือเป็นทางออกที่ดีกว่ารัฐประหารซ้ำ

สู้กลับ…ถูกเล่นงานถึงชีวิต

 

การโจมตีครั้งที่ 11 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลสั่งยึดทรัพย์ทักษิณ 4.6 หมื่นล้าน คดีขายหุ้นชินคอร์ป (เกมตัดท่อน้ำเลี้ยง)

ครั้งที่ 12 คนเสื้อแดง (นปช.) ชุมนุมใหญ่เรียกร้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่

แต่เป็นม็อบไม่มีเส้นจึงอยู่ไม่ถึง 6 เดือน แบบพันธมิตรฯ เพียง 1 เดือนก็โดนสลาย…

10 เมษายน 2553 ทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ ถ.ราชดำเนิน มีผู้เสียชีวิตเป็นพลเรือน 21 คน ทหาร 5 นาย

13-19 พฤษภาคม 2553 สลายการชุมนุม นปช.ที่ราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิต 63 คน คนเสื้อแดงแค่ยึดถนนยังมีคนตายเป็นร้อย บาดเจ็บหลายพัน ถ้ายึดสนามบินแบบเสื้อเหลืองสงสัยตายเป็นพัน

ปี 2553 การสังหารหมู่กลางเมืองทำให้สังคมไทยยิ่งแตก แบบลงลึก และรอยแตกขยายกว้างกว่าเดิม ไปในขอบเขตทั่วประเทศ

ครั้งที่ 13 1 ปีผ่านไป 10 พฤษภาคม 2554 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาจัดการเลือกตั้งทั่วไปเพราะคิดว่าจะชนะ แต่ 3 กรกฎาคม 2554 ผลการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนก็ยังคงเลือกเหมือนเดิม

เพื่อไทยชนะ ได้เสียงเกินครึ่ง 265 ส.ส. (15.74 ล้านเสียง) ปชป. 159 ส.ส. (11.43 ล้านเสียง)

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งใครๆ ก็มองว่าไม่มีทางอยู่นานกว่านายกฯ สมัคร ถ้าอยู่ถึง 6 เดือนก็เก่งแล้ว

การโจมตีครั้งที่ 14 พฤศจิกายน 2556 แกนนำ กปปส.ที่มาจาก ส.ส.พรค ปชป. นำมวลชนชุมนุมไล่รัฐบาล 9 ธันวาคม ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา กลายเป็นรัฐบาลรักษาการ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ 2 กุมภาพันธ์ 2557

ครั้งที่ 15 พรรคประชาธิปัตย์ประกาศบอยคอตไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

2 กุมภาพันธ์ วันเลือกตั้งทั่วไป ผู้ชุมนุม กปปส.ขัดขวางไม่ให้จัดการเลือกตั้งในหลายเขตเลือกตั้ง

21 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถจัดได้ภายในวันเดียว (หน่วยที่ถูกขัดขวางต้องจัดเลือกตั้งใหม่ในภายหลัง)

ครั้งที่ 16 วันที่ 12 มีนาคม ศาลรัฐธรรมนูญตีตก พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน (รถไฟฟ้าต้องรอถนนลูกรังหมด แต่สร้างได้ในยุค คสช.)

ครั้งที่ 17 วันที่ 7 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นนายกฯ รักษาการของยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง ในกรณีย้ายเลขาธิการ สมช. ถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ถูกต้อง ที่ประชุม ครม.มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ยังไงรัฐบาลก็ไม่ล้ม

ครั้งที่ 18 วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ทำรัฐประหาร ใช้อำนาจการปกครองแบบชั่วคราวเกือบ 5 ปี และได้กระทำการสืบทอดอำนาจเหมือนเดิม

สรุปว่า 7 ปีแรก โดนเล่นงานจุดตาย 15 ครั้ง โดนทั้งแกนนำ พรรค และรัฐธรรมนูญ

คำถามคือ การใช้แนวทางการเลือกตั้งอย่างเดียวจะต่อสู้ได้หรือ กี่สิบล้านเสียงก็สู้ไม่ได้เพราะเขาใช้ทุกองค์กร ตบท้ายด้วยคำสั่งศาล ถ้ายังไม่ยอมแพ้ก็รัฐประหาร

(ต่อฉบับหน้า)