วัชระ แวววุฒินันท์
Evening ride on a Japanese train. The image is a long exposure taken through the front window of a Japanese train in motion.

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

เรื่องของ OTT

ช่วงนี้คนทำงานสื่อ ได้รับรู้กับคำคำนี้ “OTT” อยู่ไม่น้อย

ความจริงคำนี้มีมาสักพักแล้ว แต่ที่มาใกล้ชิดมากขึ้นเพราะวงการสื่อสารบ้านเราเริ่มมีการใช้ OTT มากขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ

วันก่อนทาง กสทช. ก็ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องกับ OTT เข้าไปหารือ และขอความเห็นต่างๆ เพื่อจะได้จัดระเบียบเรื่อง OTT นี้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับเมืองไทย

OTT คืออะไร?

OTT มาจากคำว่า Over The Top

หมายถึง การสื่อสารภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต โดยไม่ต้องใช้เครือข่ายแบบที่ทีวีดิจิตอลทุกวันนี้ใช้กัน กล่าวคือ ทีวีดิจิตอล 24 ช่องที่ประมูลกันมาแพงๆ นั่น จะต้องมีค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งคือการจ่ายค่าบริการจากการใช้โครงข่ายเพื่อนำเนื้อหาของเราไปยังท่านผู้ชม

เหมือนรถยนต์ที่ต้องจ่ายค่าผ่านทางนั่นเอง ถ้าไม่จ่าย รถก็แล่นไปไม่ได้ เพราะเขาลงทุนมาให้เราจ่ายค่าใช้บริการ

แต่ถนนแบบ OTT เป็นถนนฟรี ไม่ต้องเสียค่าใช้บริการ จึงกลายเป็นช่องทางใหม่ที่ถูก ง่าย สะดวก และเข้าถึงผู้เสพได้มหาศาล

สำหรับ OTT ที่ชัดเจนที่แทบทุกคนรู้จักและใช้กันอยู่ประจำก็อย่าง Facebook และ

Youtube นั่นไง

เป็นที่ทราบกันดีว่า ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้โลกของการติดต่อสื่อสารทั้งระดับบุคคล และระดับมหภาค เป็นไปอย่างง่ายดายมากๆ ยิ่งทุกวันนี้เราไม่ได้ใช้เพื่อการสื่อสารส่วนตัวหรือส่วนบุคคลถึงเพื่อนฝูงคนรู้จักเท่านั้น แต่เราสามารถผลิตงานและเผยแพร่ผ่านพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างสบาย

และได้มีการใช้พื้นที่แบบ OTT นี้ทำมาหากินกันมานานแล้ว

ที่มีแฟนๆ ติดตามพวกเน็ตไอดอลต่างๆ ก็ด้วยการใช้พื้นที่เหล่านี้ทำหากินกันตรงๆ หรือสร้างเครือข่ายเพื่อทำธุรกิจทางอ้อม

เรารู้จักเว็บไซต์กันมานานแล้ว และนั่นก็เป็นศูนย์รวมของเนื้อหาที่หลากหลาย ที่มีแฟนๆ ประจำติดตามมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Sanook Pantip Kapook Dekdee และอื่นๆ อีกมาก

หรืออย่าง Johjaionline ของเจ เอส แอล ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราใช้สื่อสารกับแฟนๆ ของเรา

เป็นโลกการสื่อสารใหม่ที่ไม่ง้อช่องทางเดิมๆ

นักสื่อสารมวลชนหลายคนจึงทิ้งช่องทางเก่าคือ โทรทัศน์ มาพบปะแฟนๆ ของเขาผ่านช่องทางออนไลน์แทน

ตัวอย่างเช่น วูดดี้ ที่เลิกทำรายการ “เกิดมาคุย” และ “ตื่นมาคุย” ทางช่อง 9 อสมท.แล้วมาทำเนื้อหาทาง Facebook แทน โดยเฉพาะช่วงหลังมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook ได้แล้วที่เราเรียกกันว่า Facebook Live ก็ยิ่งทำให้เป็นช่องทางการสื่อสารเนื้อหา และทำมาหากิน ช่องทางใหม่ที่มาแรงไม่น้อย

วงในบอกว่า ในการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ หากให้วูhดดี้ทำการ Facebook Live ให้ด้วยจะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างเขาและการถ่ายทอดสดในหลักตัวเลขที่สูงพอตัว

แต่ก็มีเจ้าของงานที่ยินดีลงทุน เพราะเห็นผลชัดเจน ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสร้างกระแสได้ดี

หรืออย่างเจ้าของฉายากรรมกรข่าว อย่าง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” เมื่อไม่ได้ทำงานหน้าจอปกติแล้ว ก็หันไปทำรายการผ่าน Facebook แทน ซึ่งก็มีแฟนๆ ตัวเขาติดตามชมไม่น้อย

ความเร็วและง่ายต่อการถ่ายทอดเนื้อหา ทำให้วงการข่าวสารเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะถ้าเป็นช่องหลักอย่างทีวีดิจิตอล กว่าจะนำเสนอข่าวเรื่องหนึ่งได้จะมีกระบวนการมากมาย ไหนจะต้องแข่งกับคู่แข่งเรื่องความไว แข่งกับความถูกต้องในฐานะสื่อมวลชน ไหนจะต้องปรับผังรายการกันตลอดเวลาหากมีเรื่องด่วนๆ จะนำเสนอ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายนัก

แต่ได้เกิดเว็บไซต์ที่ทำตัวเป็นสำนักข่าวขึ้นมาหลายเจ้า และก็สามารถผลิตเนื้อหาข่าวออกมาได้อย่างฉับพลันทันที ตื้นบ้างลึกบ้าง จริงบ้างหรือจริงบางส่วนบ้าง หรือยกเมฆข่าวเองก็มีเพื่อการสร้างกระแส

ซึ่งเว็บไซต์เหล่านี้ได้กลายเป็นคู่แข่งโดยตรงกับการทำงานของสื่อหลัก

และคนเสพก็พร้อมจะเชื่อได้ง่ายๆ โดยไม่ตรวจสอบ จนสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในหลายๆ เรื่องมาแล้วก็มี

บางเว็บไซต์มาแรงได้รับความสนใจ จนข่าวในช่องหลักยังเอาข้อมูลจากเว็บไซท์นั้นมาใช้ประกอบในการเสนอข่าวของตนด้วยซ้ำ

ไม่แต่เรื่องข่าว แต่เรื่องบันเทิงก็ได้มีการใช้ช่องทาง OTT นี้สร้างความนิยมคู่ขนานกับช่องหลักด้วย ดังตัวอย่างรายการ The Mask Singer ที่สร้างกระแสการติดตามชมรายการสูงมากในช่องทางออนไลน์ที่ก็ไม่ได้กระทบกับรายการทางทีวี แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อการรับชมได้แบบไม่มีข้อจำกัด

รายการของเจ เอส แอล เองก็มีการถ่ายทอดทาง Facebook Live คู่ขนานกับทีวีไปด้วย ทั้ง กิ๊กดู๋สงครามเพลง จันทร์พันดาว เจาะใจ และ Perspective ซึ่งก็มีการทำเนื้อหาใหม่ๆ แทรกลงไปด้วยเพื่อสร้างการติดตาม

จากข้อมูลของ OTT ในต่างประเทศ พบว่าไม่ได้ทำให้ยอดการชมทีวีลดลง หรือส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจทีวี แต่เป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อจุดประสงค์ของการสร้างยอดวิวให้สูงที่สุด จน OTT ได้กลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ใช้ทำมาหากินเพิ่มขึ้นด้วย

ในช่วงหลังนี้ ผู้เป็นเจ้าของ platform ที่มีชื่อเสียงหลายเจ้าก็ลุกขึ้นมาสร้างเนื้อหาของตนเอง เพื่อขยายธุรกิจออกไปมากกว่าแค่ให้คนอื่นมาเสนอเนื้อหาใน platform ของตน อย่าง Facebook Google Yahoo Amazon

เมื่อโลกของ OTT ขยายตัวอย่างมาก และในเมืองไทยก็ได้รับความนิยมไม่น้อย จึงมีความเสี่ยงต่อการนำเสนอเนื้อหาที่ล่อแหลม ไม่เหมาะสม และผิดกฎหมาย ทั้งโดยเจตนาและด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กสทช. จึงกำลังดำเนินการจัดระเบียบเพื่อไม่ให้ OTT ส่งผลกระทบต่อสังคม และความมั่นคงของประเทศ

ส่วนจะมีกรอบและแนวทางการปฏิบัติอย่างไรอีกไม่นานคงได้ทราบกัน

แต่ไม่ว่าอย่างไร โลกของการสื่อสารได้ขยายไปไกลกว่าที่เคยเป็นมาอย่างมาก เวลาแค่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้การสื่อสารตลอด 30-50 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

ภาระจึงตกอยู่กับ “ผู้เสพ” ที่จำต้องมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ในขณะที่ก็ต้องเรียกร้อง “ผู้ผลิต” ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม และสำนึกในความถูกต้องดีงามด้วย

ไม่อย่างนั้นเราก็จะได้เห็น การขายยาที่ไม่ได้รับการรับรอง ขายอาวุธสงคราม ขายยาเสพติด ไปจนขายตัว ผสมปนเปไปกับเนื้อหาที่ปลุกปั่น บ่อนทำลายสังคม และลดคุณค่าความเป็นมนุษย์

OTT เป็นโลกที่เราต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดจริงๆ