ปั๋นปอน แบบชาวล้านนา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ปั๋นปอน” แปลว่า ให้พร หรือให้ศีลให้พร

 

ทุกปีในวันสงกรานต์จะมีการดำหัวอันเป็นพิธีกรรมดีงามเสริมสิริมงคล ถือเป็นการขอขมาลาโทษผู้อาวุโส พร้อมทั้งแสดงคารวธรรมต่อผู้มีพระคุณแห่งตน

มีผู้ใกล้ชิด คนในครอบครัว เป็นต้นว่า พ่อ-แม่ ญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ หมอประจำบ้าน หมอตำแย กระทั่งคนในสังคม เช่น พระสงฆ์เจ้าอาวาส ข้าราชการชั้นสูง ผู้บริหารองค์กร ผู้ว่าราชการจังหวัด อธิการบดีมหาวิทยาลัย

กล่าวถึงการดำหัวตามประเพณีสงกรานต์ในครอบครัว นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่ในบ้านกับลูกหลาน

เป็นการแสดงออกซึ่งความรักความอบอุ่น

เป็นการคารวะระบบอาวุโสในหน่วยพื้นฐานที่สุดของสังคม

ซึ่งจะนำมาซึ่งความสามัคคีความสงบสุขในสังคมโดยรวม

 

ในวันนั้น ผู้น้อยจะเตรียมพานใส่ข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียน น้ำเข้าหมิ้นส้มป่อย สิ่งของอุปโภคบริโภคเช่นข้าวสาร หอม กระเทียม ผลไม้ ผ้านุ่ง เสื้อ ผ้าขนหนู ฯลฯ ตามแต่เห็นสมควร

การดำหัวจะเริ่มต้นด้วยการกล่าวขอขมาของหัวหน้าผู้น้อย (หากไปกันหลายคน) กับการที่อาจจะล่วงเกินผู้ใหญ่ ทั้งกาย วาจา ใจในขวบปีที่ผ่านมา และแสดงความปรารถนาขอรับพรปีใหม่

จากนั้นผู้อาวุโสจะรับการขอขมาและอวยพรให้ลูกหลานเป็นร้อยกรองภาษาล้านนาที่ไพเราะ ด้วยท่วงทำนองที่มีจังหวะจะโคน นับเป็นคำพรที่งดงามถ่ายทอดออกมาจากใจ

ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“เอวัง โหนตุ ดีและ อัชชะในวันนี้ก็เปนวันดี สะหรี ศุภะมังคละอันวิเศษ เหตุว่าระวิสังขานต์ ปีเก่าก็ได้ข้ามล่วงล้นพ้นไปแล้ว ปีใหม่แก้วพญาวันก็มารอดเถิงเทิงยาม บัดนี้ท่านทังหลายได้ไหลหลามตกแต่ง แปลงพร้อมน้อมนำมายังมธุปบุปผา ลาชา ดวงดอก เข้าตอกดอกไม้ เทียนงาม มาแปลงห้างหื้อเปนสิ่งคาระวะสระเกล้าดำหัว ยังตนตัวแห่งผู้ข้า บัดนี้ผู้ข้าก็มีธัมมเมตตาอว่ายหน้าปฏิคหะรับเอาแล้ว เพื่อหื้อแล้วเสียคำมักคำผาถนา แล้วจักลดโทษานุโทษ โผดอโหสิกัมม์ ปันพรงามปีใหม่ หื้อมียศใหญ่วัยงาม โชคลาภตามบังเกิด สุขะเลิศเพิงพาว อายุหมั้นยืนยาวร้อยซาวขวบเข้า นั้นจุ่งจักมีเที่ยงแท้ดีหลี

สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสตุ

มา เต ภวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ

อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน

จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง”

เฉพาะภาษาล้านนา แปลความได้ว่า กาละวันนี้เป็นวันดี ศรีศุภมงคลอันวิเศษ เหตุว่าวันสงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว วันแห่งปีใหม่แก้วได้มาถึง บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันจัดหาธูปเทียน ข้าวตอก ดอกไม้ เพื่อน้อมนำเป็นเครื่องสักการะสระเกล้าดำหัวแก่ข้าพเจ้า แลบัดนี้ข้าพเจ้าก็มีธรรมเมตตารับเอาไว้แล้ว เพื่อให้ลุแก่ความปรารถนาที่ได้ตั้งไว้ ข้าพเจ้าขออโหสิกรรม (ในสิ่งที่เคยล่วงเกิน) และขออำนวยอวยพรให้ได้รับยศตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่ มีวัยอันงดงาม โชคลาภตามบังเกิด

มีสุขอันประเสริฐและอายุยืนยาว อย่างน้อยร้อยยี่สิบพรรษา จงประสบเที่ยงแท้ (เทอญ)

 

หากใครเคยสัมผัสการประกอบพิธีดำหัวญาติผู้ใหญ่ในบ้านมาก่อน จะรู้ซึ้งถึงความเข้มขลังของคำพรจากผู้อาวุโสอย่างประทับใจยิ่ง

สมัยนี้การให้พรด้วยถ้อยคำที่สวยงามเช่นนี้อาจจะหดสั้นลง บางที่เหลือเพียง “อายุวัณโณ สุขังพะลัง” ด้วยซ้ำ คำพรแบบดั้งเดิมกำลังจะสูญหายไปตามกาลเวลา

คนรุ่นอาวุโสทุกวันนี้น่าจะรื้อฟื้นคำพรมาประสาทให้กับคนรุ่นหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้ประเพณีดีงามสูญหายไปไหน

หลังจากขอสูมาโต้ดแล้ว แม่อุ๊ยก่จะปั๋นปอน

แปลว่า หลังจากขอขมาลาโทษแล้ว คุณยายก็จะให้พร