จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : พลังช้าง / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

พลังช้าง

 

พละกำลังของช้างบันดาลความพินาศได้ทั่วถึง

หลายปีมาแล้วหนังสือพิมพ์ลงข่าวช้างอาละวาดพังรถบรรทุกขนาดใหญ่ขณะขนย้าย รถกลายเป็นเศษเหล็ก

บ่อยครั้งคนที่เจอช้างคลั่งเพราะโกรธแค้นหรือตื่นตระหนก มักจบด้วยศพไม่สวย

พลังของช้างยุคไหนก็ไม่ต่างกัน หนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม” ของฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง (ฉบับกรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.2530) เล่าถึงพลังช้างไทยสมัยอยุธยาว่า

“…กำลังของช้างเหนือกว่ากำลังของสัตว์สี่เท้าทุกชนิด… เมื่อใดมันบ้าคลั่งขึ้นมาหรือตกใจกลัวเพราะเสียงดัง เช่น เสียงฟ้าร้องหรือเสียงปืนใหญ่ ซึ่งมันยังไม่คุ้นเคย เชือกที่โตๆ เท่ากำปั้น มันก็ดึงให้ขาดได้ง่ายดายเหมือนกับดึงเชือกเส้นเล็กๆ ให้ขาด…”

อย่าว่าแต่เชือกมหึมา แม้ท่อนซุงที่หนักกว่า ก็เป็นเรื่องเล็กสำหรับช้าง ดังที่เมอซิเออร์ หลุยส์ ฟิโนต์ บันทึกไว้ในเรื่อง “บันทึกการเดินทางสู่ประเทศสยาม” (จากหนังสือ “รวมเรื่องแปลหนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ 2 กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.2555) ตอนหนึ่งมีข้อความว่า

“…ช้างสามารถใช้งายกท่อนซุงหนักครึ่งตัน หรือลากท่อนซุงซึ่งหนักถึง 3 ตัน ไปตามพื้นดินได้อย่างสบาย…”

 

กวีผู้รู้ซึ้งถึงพลังช้างเป็นอย่างดีคือสุนทรภู่ ประสบการณ์เฉียดนรกเกิดขึ้นในป่าใกล้รุ่งสางท่ามกลางความสงบสงัด ขณะที่คณะเดินทางกำลังหลับสนิท พลันก็สะดุ้งเฮือกเพราะเสียงดังสนั่นหวั่นไหว ดังที่ “โคลงนิราศสุพรรณ” บรรยายว่า

“เกือบรุ่งฝูงช้างแซ่                  แปร๋แปร๋น

กรวดป่ามาแกร๋นแกร๋น            เกริ่นหย้าน

ฮูมฮูมอู่มอึงแสน                    สนั่นรอบ ขอบแฮ

คึกคึกทึกเสทือนสท้าน             ถิ่นไม้ไพรพนม ฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เสียงช้างจำนวนมากแผดร้องก้องป่าบวกกับเสียงผีเท้าโขลงช้างป่าที่กระหน่ำทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าทำให้สุนทรภู่และคณะอกสั่นขวัญแขวน สถานการณ์เริ่มคับขันเมื่อบรรดาช้างรู้ว่ามีคนซ่อนอยู่ในซอกเขา ก็ยิ่งสำแดงเดชข่มขวัญ ฟาดงวงฟาดงาโค่นต้นไม้หักสะบั้นแล้วย่ำจนแหลกลาญ

“อึกกทึกครึกครื้นนอก               กรอกทาง

หักโค่นต้นยูงยาง                     ย่ำค้น

เหมือนรู้ว่าอยู่กลาง                  กลีบช่อง ปล่องแฮ

จนรุ่งฝูงช้างร้น                       รุกร้องซ้องเสียง ฯ”

 

การเผชิญหน้ากับช้างบ้าคลั่ง ขืนชักช้าคงได้ไปเกิดใหม่ กะเหรี่ยงและละว้าพรานนำทางจึงรีบพาสุนทรภู่และพรรคพวกหนีตายขึ้นไปตั้งมั่นบน ‘ฉโงก โกรกสูง’ ชัยภูมิที่ได้เปรียบ มองลงมาแลเห็นช้างทั้งหลายชะเง้อคอมองขึ้นไป วินาทีนี้ช้างยิ่งรุกไล่ บางตัวท่าทีราวอันธพาล ส่งเสียงขู่ชูงวงกวัดแกว่งไปมา

บางตัวร้ายกาจถึงขนาด ‘เขย่งคึ่นยื่นงวงเหญ้อ ยุดไม้ไต่เขา ฯ’ เอางวงฉุดต้นไม้เหนี่ยวตัวไต่เขาจะขึ้นไปไล่ล่าคนให้ได้

ทั้งลูกจริงลูกเลี้ยงของสุนทรภู่ที่ร่วมเดินทางมา เมื่อเห็นช้างกระเหี้ยนกระหือรือวิ่งพล่านประกอบกับตัวเองปลอดภัยอยู่ภายในซอกเขาแล้ว ช้างไม่อาจทำอันตรายได้ ใจที่ ‘กลัว’ ก็เริ่ม ‘กล้า’ นึกสนุกขึ้นมาก็ระดมเอาก้อนหินขว้างใส่ช้างเบื้องล่างอย่างมันมือ

“ช้างยิ่งวิ่งพล่านเพลิน                พลอยคว่าง ช้างแฮ

ช้างแล่นแปร๋นฮูมห้อม               หืดฮื้ออื้ออึง ฯ”

คนสนุกแต่ช้างไม่สนุกด้วย การที่ ‘หนุ่มหนุ่มรุมโห่ขว้าง ช้างโขลง’ เท่ากับยั่วยุช้างให้โกรธเกรี้ยวเป็นทวีคูณ ‘ตามุ่งพลุ่งพลามโพลง พลั่งพลั่ง ปลั่งแฮ’ ช้างพากันจ้องเขม็งด้วยดวงตาโชนไฟโทสะ และผนึกกำลังกันใช้งางัดเสาหิน

‘ฮูมเค่าเสาหินไง้                      งัดง้างสล้างสลอน ฯ’

 

ลองนึกถึงภาพช้างแถวหน้ากำลังงัดเสาหิน ช้างแถวหลังบุกตะลุยป่าดาหน้ามาสมทบด้วยอารมณ์พลุ่งพล่านเดือดดาล ต่างก็เบียดเสียดยัดเยียดกัน ทั้งยังแหงนหน้ามองซอกเขาที่สุนทรภู่และคณะตั้งมั่นอยู่อย่างอาฆาตแค้น เป็นภาพชวนระทึก

“แลดูหมู่ช้างเถื่อน                   เกลื่อนโขลง

ลุยป่ามาผางโผง                     พวกพ้อง

ยัดเยียดเสียดแซกโยง              ยาวยืด มืดแฮ

แหงนน่างาเงยซ้อง                 สลับสล้างค่างเฃา ฯ”

ท่ามกลางช้างทั้งหลาย มีอยู่ตัวหนึ่งออกอาการฟิวส์ขาด โถมถลาเข้าไปกระหน่ำแทงเสาด้วยงาใหญ่ยาวเฟื้อยสุดแรงจนงาหักกระเด็น ก็ยังแทงแล้วแทงเล่าไม่ยอมหยุด ทำเอาช้างอื่นๆ พลอยบ้าเลือดไปด้วย

“ช้างบ้างาใหญ่เฟื้อย               เปลือยเปลา

ทลวงทลึ่งถึงแทงเสา               สวบง้าง

งากระเด็นเผ่นท้าวเทา            แทงอีก ฉลีกเอย

บ้าเลือดเดือดดุนช้าง              อื่นร้องซ้องเสียง ฯ”

นอกจากโขลงช้างป่าตัวเบ้อเริ่ม ยังมีช้างพิการประเภท ‘ช้างเตี้ยช้างค่อม’ ที่แม้ว่าตัวไม่ใหญ่โตเหมือนใครเขา ยังอุตส่าห์พยายามเล่นงานสุนทรภู่และคณะราวกับเป็นศัตรูตัวฉกาจ ช้างป่าโขลงนี้ ‘จองเวร’ ไม่เลิกราตั้งแต่เช้ายันเที่ยงจึงล่าถอยไป ที่ยอมถอยก็เป็นดังที่สุนทรภู่เล่าว่า

“เพลินดูหมู่ช้างคล่ำ                ต่ำสูง

เตี้ยค่อมปลอมแปลงฝูง           เฟ่าฉแง้

ขุดคัดงัดยางยูง                    ยับทับ สลับแฮ

จนเที่ยงเสียงเซงแส้               แสบท้องต้องถอย ฯ”

สุนทรภู่และพรรคพวกรอดพ้นพายุอารมณ์โขลงช้างป่ามาได้เฉียดฉิวเพราะช้างหิวแท้ๆ

พลังช้างยังแพ้ความหิว 555