ผู้หญิงญี่ปุ่นกับความไม่เท่าเทียม / บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

ผู้หญิงญี่ปุ่นกับความไม่เท่าเทียม

 

ในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นถูกจัดอยู่ในอันดับท้ายๆในเรื่องความเท่าเทียมกันของหญิงและชาย หนึ่งในเรื่องของความเหลื่อมล้ำนี้คือ เงินเดือน ค่าจ้าง ที่ผู้หญิงได้รับน้อยกว่าผู้ชาย(男女間賃金格差)โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ G7 ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับสุดท้าย

สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นศูนย์กลางมาแต่โบราณ เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ผู้หญิงมีโอกาสเรียนสูงขึ้น ได้ทำงานมากขึ้น มีจำนวนผู้หญิงทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี อีกทั้งยังมีภาระการดูแลภายในบ้านที่ยังเป็นหน้าที่หลักอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นก็อดทนทำหน้าที่และยอมรับสภาพนี้มาอย่างดี

ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ผู้หญิงญี่ปุ่นพยายามเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง เพราะตระหนักแล้วว่า แม้ภายในประเทศ ผู้หญิงญี่ปุ่นมีความพยายามอย่างมากในการยกระดับความรู้ ความสามารถของตนเองให้ไม่น้อยหน้าผู้ชาย แต่เมื่อเหลียวมองผู้หญิงในประเทศพัฒนาแล้วทั้งอเมริกา และยุโรป แม้ว่าไม่เท่าเทียมกับผู้ชายเสียทีเดียว แต่ต่างก็ได้รับการปฏิบัติที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าญี่ปุ่น เขาแซงหน้าญี่ปุ่นไปมากแล้ว ถ้าไม่รีบเร่งแก้ไขญี่ปุ่นจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังตลอด

ในปี 2019 จากการสำรวจสถิติโครงสร้างค่าแรงพื้นฐาน(賃金構造基本統計調査)ของกระทรวงสาธารณสุขและแรงงาน ในงานทั่วไป เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างต่อเดือนของผู้ชายประมาณ 338,000 เยน (ประมาณ 98,000 บาท) ผู้หญิงประมาณ 251,000 เยน (ประมาณ 72,800 บาท) หมายความว่า ผู้หญิงได้รับค่าจ้างเพียง 74.3% ของผู้ชาย ต่างกันถึง 25.7% ทีเดียว ในขณะที่ตัวเลขส่วนนี้ของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อยู่ที่ 80 – 90 % ส่วนต่างนี้ ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องใช้เวลาทำงานมากขึ้นไปอีก 5 เดือน 6 วัน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยเลย

ธุรกิจทุกประเภทของญี่ปุ่นล้วนมีความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงทั้งสิ้น แต่ที่ต่างกันมากที่สุดคือ ธุรกิจการเงิน การประกันภัย รองไปคือ งานวิจัยด้านเทคโนโลยี การแพทย์ เป็นต้น ส่วนงานที่มีช่วงห่างกันน้อยลง เช่น ธุรกิจบริการ ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจไปรษณีย์ ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น

ระยะเวลาการทำงาน หรือจำนวนปีที่ผู้ชายมักทำงานต่อเนื่องนานได้กว่าผู้หญิง และผู้หญิงมีตำแหน่งบริหารน้อยกว่าผู้ชายมาก ซึ่งตำแหน่งบริหารที่ย่อมมีเงินเดือน ค่าจ้าง มากกว่าพนักงานทั่วไป เป็นปัจจัยที่ทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมนี้อย่างชัดเจน

เมื่อจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย เริ่มเข้าทำงานในองค์กร เงินเดือนเริ่มต้นของผู้หญิงก็น้อยกว่าผู้ชายแล้ว เพียงแต่ต่างกันไม่มาก พอรับได้สำหรับผู้หญิง เหตุผลมักเกี่ยวกับงานที่ต้องเสี่ยงอันตราย งานที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งของร่างกาย งานที่ต้องการความชำนาญเป็นพิเศษ เป็นต้น แต่เมื่อทำงานไปหลายๆปี ช่วงความต่างนี้ก็กว้างมากขึ้นๆอย่างไม่มีทางไล่ตามทันเลย

แนวโน้มการทำงานต่อเนื่องของผู้หญิง มีลักษณะเหมือนกราฟรูปตัว M กล่าวคือ ช่วงอายุ 25 – 29 ปี มีสูงสุด 82.1% ช่วงอายุ 30 – 39 ปี เริ่มลดลง เป็น 73.4% เพราะมีภาระเลี้ยงดูลูก ช่วงอายุ 40 – 44 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 77% ตอนนี้ลูกโตขึ้นอยู่ชั้นมัธยมแล้ว ช่วงอายุ 45 – 49 ปี มีอัตราส่วน 79.4% ลูกๆต่างแยกตัวไปมีอิสระ เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ผู้หญิงจึงมีเวลาทุ่มเทกับงานมากขึ้น ช่วงอายุ 60 – 64 ปีลดลงเป็น 54.9% พออายุ 65 ปีก็ลดลงเหลือ 16.5% เพราะแทบไม่เหลืองานที่ให้ผู้หญิงทำได้แล้ว

จากรูปแบบวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น ที่ยึดหลักการจ้างงานตลอดชีพมาเป็นเวลานานมาก ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เมื่อพิจารณาจากด้านนายจ้าง องค์กร ก็มีแนวโน้มประเมินความทุ่มเทในการทำงาน จากการอุทิศตัวให้บริษัท ทำงานล่วงเวลา มาทำงานในวันหยุด เรียกใช้งาน สั่งงานให้ทำได้ตลอดเวลา เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า ไม่ต่างจากการ “พร้อมรบ 24 ชั่วโมง”(24時間戦う) ซึ่งผู้หญิงทำไม่ได้เพราะภาระดูแลลูก และยิ่งไปกว่านั้น คือ ดูแลสามีให้มีสุขภาพดีเพื่อให้พร้อมที่จะอุทิศตัวให้บริษัทนั่นเอง… ภาระนี้จะว่าไปแล้ว หนักยิ่งกว่าการทำงานในองค์เสียอีก แต่ไม่มีใครเคยคิด ทุกคนคาดหวังว่าผู้หญิงต้องทำได้ครบถ้วน หากบกพร่องเกิดเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อผู้อื่น สังคมรอบข้าง ก็ย่อมตำหนิผู้หญิง

มีเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปการทำงาน ให้มีการแก้ไขการพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งจากชั่วโมงการทำงานที่มากกว่า แม้จะทำงานด้วยช่วงเวลาที่สั้นกว่า แต่หากมีผลสำเร็จ ก็ควรประเมินให้เท่าเทียมกัน เพื่อผู้หญิงจะได้เลื่อนขั้น เป็นผู้บริหารได้มากขึ้น ซึ่งอาจช่วยแก้ช่วงห่างของรายได้ที่เหลื่อมล้ำได้บ้าง

ตามกฎหมายแรงงานมีข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าจ้างที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงและผู้ชายว่า “นายจ้างจะถือเป็นข้ออ้างว่าลูกจ้างเป็นผู้หญิง แล้วให้ค่าจ้างต่ำกว่าผู้ชายมิได้(男女同一賃金)” แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยหากคิดจะหลบเลี่ยง

กระทรวงสาธารณสุขและแรงงานทำการสำรวจ แนวโน้มของคนวัย 30 ปีที่ออกจากงาน คือผู้ชายวัย 30 – 34 ปีมี 12% ผู้หญิงวัยเดียวกัน 16.6% ผู้ชายวัย 35 – 39 ปี 8.6 % ผู้หญิง 14.8% ถ้าดูจากฝ่ายนายจ้าง เมื่อรับคนเข้ามาทำงานย่อมต้องลงทุนลงแรงกับการอบรม สอนงานต่างๆกว่าจะเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานของบริษัท พออายุย่างเข้า 30 ปี อยู่ในวัยโตเต็มที่พร้อมจะให้บริษัทใช้งานเก็บเกี่ยวต้นทุนคืน จากนี้ไปอีกหลายสิบปี ถ้าลาออกตอนช่วงวัยนี้ บริษัทก็ขาดทุน ดังนั้นหากต้องเลือกระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง แน่นอนว่าบริษัทต้องเลือกผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีแนวโน้มลาออกเมื่อแต่งงาน

ถ้าคิดด้วยใจเป็นธรรม ผู้หญิงก็อาจทำงานทุ่มเทให้บริษัทจนถึงเกษียณได้ ไม่ว่าจะแต่งงานหรือมีภาระเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ ส่วนผู้ชายอาจลาออกกลางคันก็ได้ ด้วยเหตุผลร้อยแปด ไม่มีใครรับประกันได้ผู้หญิงญี่ปุ่นยังคงต้องพยายามต่อสู้กับอคติเหล่านี้ให้ได้

ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นใหญ่ๆหลายแห่ง ได้พยายามปฏิรูปการทำงาน เมื่อเลิกงานแล้วควรให้เป็นเวลาส่วนตัวของพนักงาน ได้พักผ่อน ดูแลครอบครัว หรือหาความรู้เพิ่มเติมด้านอื่นๆซึ่งจะเป็นประโยชน์กับงาน เป็นต้น เมื่อหมดเวลางานแล้วผู้บังคับบัญชาต้องรู้จัก “รอจนกว่าจะถึงเวลาเริ่มงานพรุ่งนี้” ไม่ประเมินพนักงานจากการทำงานล่วงเวลาแต่ดูที่ผลลัพธ์ของงาน

อย่างน้อย…ก็อาจเป็นความหวังที่จะช่วยแก้ความเหลื่อมล้ำเรื่องค่าจ้างการทำงานระหว่าง

ผู้ชายและผู้หญิงญี่ปุ่นได้

——————————