เปิดสมรภูมิ ‘สายเขียว’ (3) : กลิ่นรสเทอร์พีน กับปุ๊นไฟฟ้า / ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

เปิดสมรภูมิ ‘สายเขียว’ (3)

: กลิ่นรสเทอร์พีน กับปุ๊นไฟฟ้า

 

“ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา หน้างานสุขสันต์รื่นเริง เถิดเทิงสนุกเฮฮา”

ท่อนหนึ่งจากเนื้อเพลงจากยุคเบบี้บูมเมอร์นี้ ย้อนกลับมาในห้วงความคิด ตอนที่ได้อ่านคอมเมนต์ในเฟซบุ๊ก เพราะมีท่านอาจารย์เภสัชท่านหนึ่งได้ให้เกียรติมาคอมเมนต์ในบทความสายเขียวตอนที่แล้วว่า “ถ้าเป็นสายเขียว เขาจะชอบต้นจริงค่ะ”

ซึ่งถ้ามองในมุมแพทย์แผนไทย ประเด็นนี้น่าสนใจ

เพราะในชิ้นส่วนพืชไม่ได้มีสารออกฤทธิ์เพียงแค่เตตระไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol; THC) หรือว่าแคนนาบิไดออล (Cannabidiol; CBD) แต่มีสารออกฤทธิ์อื่นๆ อีกมากมายนับร้อยนับพันชนิด ที่แม้จะไม่ได้มีปริมาณมากเหมือนกับแคนนาบินอยด์สองตัวหลักนั่น แต่ก็อาจจะช่วยเสริมฤทธิ์ และเสริมรส ที่ช่วยให้ชีวิตดี๊ด๊ากว่าใช้แค่สารสกัดแค่ตัวสองตัว

ไอเดียที่สารอื่นในพืชจะช่วยเสริมฤทธิ์ให้ THC และ CBD มีความฟินยิ่งขึ้นในกลุ่มผู้นิยมสายเขียวมักจะเรียกว่า “ผลจากผู้ติดสอยห้อยตาม” หรือ “Entourage effect”

ซึ่งในเชิงการแพทย์ยุคใหม่จะไม่ค่อยชอบเอฟเฟ็กต์แบบนี้เท่าไร เพราะไม่สามารถบอกได้ว่ามีสารอะไรบ้างที่ออกฤทธิ์ และตัวไหนมีคุณ ตัวไหนมีโทษ ทำให้คะเนผลการรักษาได้ยาก

ยิ่งถ้าปลูกในแปลงกลางแจ้งแบบที่ไม่คุมสภาพแวดล้อมแล้วด้วย ยิ่งคาดคะเนได้ยากไปใหญ่เลยว่าสารออกฤทธิ์แต่ละชนิดที่พืชจะผลิตออกมานั้นจะมีอัตราส่วนและปริมาณอยู่มากน้อยเพียงไร

การเอาไปใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้หรือเจอผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ก็เป็นได้

ในฉบับสัปดาห์ก่อนๆ ได้กล่าวถึงเทรนด์แวดวงกัญชงกัญชาในต่างประเทศตอนนี้ ที่หันไปเน้นการนำเทคโนโลยีชีวภาพยุคใหม่ที่เรียกว่าชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างสารออกฤทธิ์ทางการแพทย์ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการบำบัดโรค

ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์นั้น ก็คือใช้เวลาต่อรอบเก็บเกี่ยวสั้นกว่าอย่างมหาศาล เพราะหลังจากสร้างสายพันธุ์ยีสต์ผลิตสารออกฤทธิ์ที่ต้องการได้สำเร็จ ก็แทบจะไม่ต้องยุ่งกับต้นไม้อีก อยากผลิตก็เอายีสต์ลงถังหมักในโรงงาน ไม่กี่วันก็ได้แคนนาบินอยด์ที่ต้องการออกมาในน้ำเลี้ยงยีสต์จากถังหมักแล้ว

ว่องไว รวดเร็ว คุมต้นทุนและคุณภาพได้ง่ายกว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

และที่เด็ดที่สุดก็คือ ได้สารออกฤทธิ์ที่บริสุทธิ์ และในทางทฤษฎีจะไม่มี THC ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งในทางการแพทย์ส่วนใหญ่จะไม่ต้องการเจือปนมา

ถ้ามองให้ดี แนวโน้มทางเทคโนโลยีแบบนี้กำลังจะมาดิสรัปต์ (disrupt) วงการเกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการสมุนไพรที่เน้นจ้างปลูก และรอสกัดสารออกฤทธิ์จากพืช

เพราะในขณะที่เราเป็นน้องใหม่เพิ่งจะเริ่มตื่นตัวในตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ บริษัทและสตาร์ตอัพทางเทคโนโลยีหลายๆ แห่งก็เริ่มเปลี่ยนความสนใจจากสารออกฤทธิ์สำคัญในกัญชากัญชงอย่าง CBD ไปโฟกัสกับแคนนาบินอยตัวอื่นที่แม้จะมีปริมาณน้อยแต่ถ้าพูดถึงฤทธิ์ทางยาอาจจะกินขาด

โดยมากก็จะเน้นไปที่การผลิตสารแคนนาบินอยด์ตัวแม่ที่เรียกว่าแคนนาบิเจอรัล (cannabigerol; CBG) ซึ่งที่เรียกว่าเป็นตัวแม่ก็เพราะว่า CBG คือสารตั้งต้นตัวแรกๆ ของวิถีแห่งการสร้างสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ ในต้นพืช รวมทั้ง THC และ CBD ด้วย

และนั่นอาจทำให้ต้องตีความทางกฎหมายอีกครั้งว่า ถ้าผลิตออกมาในรูปนี้ จะยังถือเป็นสารที่ต้องควบคุมมากน้อยเพียงไร เพราะในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น สารสกัด CBD จากกัญชงสามารถนำใช้ได้แล้วอย่างถูกกฎหมาย

แต่แม้ว่าสารสกัดบริสุทธิ์จะมีศักยภาพในการนำไปเป็นวัตถุดิบของการผลิตนวัตกรรมทางอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สกินแคร์ โลชั่น และอื่นๆ อีกมากมาย แต่คำถามก็คือสารสกัดค่ายซินทีติก (synthetic) จะเหนือกว่าค่ายออร์แกนิก (organic) จริงหรือ?

 

อิพิดิโอเลกซ์ (Epidiolex) เป็นยาแคนนาบิไดอัล หรือ CBD ตัวแรกที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้โดยองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อบรรเทาอาการโรคลมชัก (seizures) แต่จากการวิเคราะห์สำรวจงานวิจัยอย่างเป็นระบบ (meta-analysis & systematic review) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Neurology ในปี 2018 พบว่าถ้าจะใช้ CBD บริสุทธิ์ (อิพิดิโอเลกซ์) เพื่อรักษาอาการลมชักรุนแรง จะต้องให้ CBD ในปริมาณที่มากกว่าถึงเกือบห้าเท่าของปริมาณ CBD ที่พบในสารสกัดจากต้นพืช จึงจะส่งผลการรักษาได้แบบเดียวกัน

“นี่เป็นเพราะการเสริมฤทธิ์ แค่มี THC ปนมานิดหน่อย หรืออาจจะเป็นผลมาจากเทอร์พินอยด์ เช่น ลินาลูล ก็ได้ การเสริมฤทธิ์เพียงเล็กน้อยสามารถสร้างความแตกต่างที่เห็นได้อย่างเห็นได้ชัดทั้งในกลุ่มควบคุมและกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากพืช” นพ.อีธาน รัสโซ (Ethan Russo) จากสถาบันวิจัยกัญชาและแคนนาบินอยด์นานาชาติ (International Cannabis and Cannabinoids Institute) กล่าว

“สารสกัดจากต้นพืช ไม่เพียงแค่มีประสิทธิผลมากกว่า แต่เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เยอะเท่า จึงอาจจะมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์น้อยกว่าที่จะใช้ CBD บริสุทธิ์ที่โดสสูงๆ ด้วย และถ้าต้องใช้สาร CBD มากถึงห้าเท่าของที่ควรจะเป็นในการรักษาโรคใดโรคหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายว่าความ CBD ที่แยกออกมาได้นั้นจะไม่มีคุณภาพ แต่มันแค่หมายความว่าพืชยังทำได้ดีกว่า”

และนั่นทำให้บริษัทต่างๆ ต้องย้อนกลับมาดูรายการสารออกฤทธิ์ในกัญชากันอีกครั้ง

 

ว่าแต่จากอดีตการพี้กัญชาต้องอาศัยบ้องไม้ไผ่ ซึ่งดูจะคลาสสิคนะ แต่เพื่อสะดวกรูปแบบบริโภคกัญชาเปลี่ยนจากพี้เป็นการสูบ เขามวนเอาเหมือนบุหรี่…

ถ้าดูจากจำนวนสถิติคนสูบบุหรี่ที่ลดฮวบลงจาก 40 เปอร์เซ็นต์ในปี 1960 เหลือแค่ 14 เปอร์เซ็นต์ใน 2018 ผนวกกับแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ที่ออกมาอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องในสหรัฐอเมริกา ในเวลานี้ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการยาสูบอย่างอัลเทรีย (Altria group) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่มาร์ลโบโร (Marlboro) ก็กำลังพยายามดิ้นสุดชีวิตเพื่อหาแนวทางการลงทุนในธุรกิจใหม่ ให้ทำกำไรบ้าง เพราะเงินทุนก้อนใหญ่ในธุรกิจยาสูบนั้น เริ่มดูไม่ค่อยไฉไลอย่างที่เคย

และเมื่อตลาดกัญชาดูยังมีอนาคตไกล ในขณะที่ตลาดบุหรี่กลับดูค่อยๆ เสื่อมถอยลง จึงไม่น่าแปลกใจ ที่บริษัทใหญ่อย่างอัลเทรียที่มีเงินทุนมหาศาลจะกระโดดลงมาเล่นในสนามกัญชา

ในปี 2018 อัลเทรียทุ่มเงินเกือบสองพันล้านเหรียญเพื่อซื้อหุ้นของโครนอส (Chronos) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการกัญชาแคนาดา

ที่จริง อัลเทรียเคยลงทุนไปแล้วรอบหนึ่งเพื่อเปิดดีลธุรกิจปากกาบุหรี่ไฟฟ้า (vape pen) กับจูลแลบ (Juul lab) แต่ดีลนี้ทำเอาอัลเทรียขาดทุนไปแบบสะบักสะบอม ที่อัลเทรียจะวางเดิมพันอีกทีเทคโนโลยีบ้องไฟฟ้าคราวนี้กับกัญชา และกับโครนอส

เพราะหลังจากนั้นไม่นาน โครนอสที่มีเม็ดเงินลงทุนอยู่ในบริษัทกว่าห้าพันล้านเหรียญสหรัฐ ก็ได้เริ่มพัฒนาบ้องพี้กัญชาไฟฟ้า (vaping) ขึ้นมา แข่งขันตีตลาดอเมริกาและแคนาดา ภายใต้แบรนด์ “พีช แนชูรัลส์ (Peace Naturals)” และ “สปิแนช (Spinach)” ซึ่งจะขายร่วมกันกับสารสกัดกัญชาออร์แกนิกที่สกัดมาจากต้นกัญชาที่ปลูกเลี้ยงในกรีนเฮาส์ของพวกเขา

ซึ่งหลายคนมองว่านี่อาจจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญก็ได้

 

ในเวลานี้ ปุ๊นหลากหลายสายพันธุ์จะถูกพัฒนาขึ้นโดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพืชในตระกูลกัญชากัญชง 3 ชนิด นั่นคือ Cannabis indica ที่มีปริมาณ THC สูง และสารเทอร์พีนที่เป็นเอกลักษณ์ กัญชาแคระ (Cannabis ruderalis) ที่มีขนาดต้นเล็กกว่า ออกดอกง่าย โตไว มีกลิ่นรสเฉพาะตัว แต่มี THC ในปริมาณที่น้อยกว่ากัญชา และกัญชง (Cannabis sativa) ที่มีต้นสูง ใบยาว เส้นใยเยอะ แต่จะผลิต THC น้อยที่สุด

แต่ถ้าว่ากันด้วยความสุนทรีย์ กลิ่นรส (flavor) ของกัญชาและกัญชงนั้นจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับ THC หรือแคนนาบินอยด์มากนัก แต่จะขึ้นกับน้ำมันหอมระเหย ที่เรียกว่า “เทอร์พีน (terpene)” ที่นอกจากจะมีกลิ่นรสเฉพาะตัวแล้ว ยังอาจจะมีคุณสมบัติเพิ่มเติม เสริมฤทธิ์ (entourage effect) สารพวกแคนนาบินอยด์ได้อีกด้วย

ซึ่งหลังจากการผสมข้ามไปข้ามมาโดยอยู่หลายทศวรรษ ปัจจุบัน สายพันธุ์กัญชากัญชงจึงมีอยู่มากมาย แต่ละสายพันธุ์ก็จะมีกลิ่นรสที่แตกต่างกันไป เป็นซิกเนเจอร์ของตัวเอง

ในปัจจุบัน นักผสมพันธุ์พืชก็ยังผสมกัญชา กับกัญชาแคระ หรือกัญชงในสายพันธุ์ต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างโปรไฟล์ของเทอร์พีนและแคนนาบินอยด์ใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับเข้าไป ได้ฟินกันในแบบที่หลากหลาย

เช่น กัญชาสายพันธุ์บลูดรีม (Blue dream) จะมีกลิ่นเหมือนอยู่ในทุ่งบลูเบอร์รี่ ซึ่งจะมีเทอร์พีนตัวหลักที่เจอเป็นไมเออร์ซีน (myrcene)

ในขณะที่กัญชาสายพันธุ์เวดดิ้งเค้ก (Wedding Cake) ที่มีกลิ่นคล้ายๆ กับกลิ่นทะเลทราย ก็จะมีเทอร์พีนตัวหลักๆ ที่เจอเยอะๆ เป็นเบต้าแคโรฟิลลีน (beta-caryophyllene) อัลฟาฮิวมูลีน (alpha-humulene) และลิโมนีน (limonene)

ดังนั้น สำหรับบุปผาชนสายพี้ ผู้นิยมความสุนทรีย์แห่งความเขียว ที่นิยมต้นจริง เทอร์พีนจะมีผลค่อนข้างมากในการเลือกสายพันธุ์กัญชามาเชยชม

 

แต่อย่างที่บอกไปแล้วในตอนต้น ถ้าปลูกลงแปลง สภาพแวดล้อมเปลี่ยน ปริมาณ อัตราส่วนเทอร์พีนก็อาจจะเปลี่ยนได้ ขึ้นกับสภาวะในการปลูกเลี้ยง ทำให้นักวิจัยจึงเริ่มหาวิธีใหม่ในการแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ของกัญชาขึ้นมา

สตาร์ตอัพ “ทรูเทอร์พีน (true terpenes)” ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเฟ้นหาเทอร์พีนต่างๆ (ที่พบในกัญชา) แต่จะเน้นสกัดมาจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่จากกัญชา ด้วยเหตุผลทางราคา และกฎหมาย เช่น ลินาลูล (linalool) อาจจะสกัดมาได้จากดอกลาเวนเดอร์ และลิโมนีน (limonene) มาจากมะนาว

ทรูเทอร์พีนร่วมมือกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกัญชา เพื่อหาโปรไฟล์ของเทอร์พีนในกัญชาแต่ละสายพันธุ์ ก่อนที่จะสร้างคลังเทอร์พีนที่หลากหลายจากพืชชนิดต่างๆ และเขียนออกมาเป็นสูตรลับสำหรับการสร้างปุ๊นสังเคราะห์ที่แต่ละสูตรจะมีอัตราส่วนของเทอร์พีนแต่ละชนิด ราวๆ 40 ตัวที่แตกต่างกัน

ซึ่งทรูเทอร์พีนสามารถนำมาใช้ในการผสมเพื่อเลียนแบบกลิ่นรสของปุ๊นที่เป็นซิกเนเจอร์ของกัญชาแต่ละสายพันธุ์จริงๆ ได้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เหมือนเป๊ะ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตัวหลักๆ ก็ถือว่าใกล้เคียง

 

และแน่นอนที่สุด แต่ไม่ได้มีแค่สตาร์ตอัพอย่างทรูเทอร์พีนเท่านั้น ที่หันมาจับในเรื่องของนวัตกรรมเทอร์พีนเพื่อแต่งกลิ่นรสกัญชา โครนอสก็สนใจในเทคโนโลยีนี้เช่นกัน ดังที่บอกไปในสัปดาห์ก่อนว่าโครนอสทุ่มทุนมหาศาลในการทีมอัพกับบริษัทชีววิทยาสังเคราะห์ชื่อดัง กิงโกไบโอเวิร์กส์ (Ginkgo bioworks) เพื่อผลิตแคนนาบินอยด์สังเคราะห์จากยีสต์

และในส่วนของเทอร์พีน ทีมวิจัยจากโครนอสก็ใช้แนวคิดแบบเดียวกันเลยกับของทรูเทอร์พีนคือสกัดมาเก็บไว้ในคลัง แล้วเอามาปรุงแต่งเข้าสูตร เพื่อสร้างกลิ่นรสและประสบการณ์ปุ๊นให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าอยากได้ประสบการณ์การฟินในแบบใด

และเพราะในสหรัฐอเมริกานั้น น้ำมัน CBD ได้รับอนุมัติให้เริ่มเอามาใช้ได้แบบไม่ผิดกฎหมาย การเอาสารสกัด CBD มาเสพโดยใช้บ้องไฟฟ้านี้ จึงเป็นออปชั่นที่เหล่าบุปผาชนเริ่มให้ความสนใจ

ซึ่งถ้าเติมเทอร์พีนลงไป ก็จะเป็นการพี้อย่างมีสไตล์ ได้อรรถรส

แต่เทคโนโลยีนี้ก็เหมือนดาบสองคม เพราะถ้าเสพได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ปัญหาทางสังคมก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะทั้งในแคนาดาและสหรัฐอเมริกาเอง เวลานี้ก็มีนักวิชาการเริ่มออกมาแสดงความกังวลกันบ้างแล้วกับนวัตกรรมบ้องไฟฟ้าว่าท้ายที่สุด

อาจจะกลายเป็นอบายมุขใหม่ที่จะลวงล่อให้เด็กและเยาวชนติดกันงอมแงม กลายเป็นปัญหาทางสังคมขึ้นมาได้

แต่กฎหมายไทยห้ามสูบวีด ห้ามเสพปุ๊น อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้มีการซื้อขายอุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า (vaping) ในประเทศ

นั่นหมายความว่า ปุ๊นสังเคราะห์จากต่างประเทศ เสพผ่านระบบบุหรี่ไฟฟ้า คงจะยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเร็ววันนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการดี เพราะเราจะได้ไม่ต้องมากังวลเรื่องเด็กติดปุ๊น (ไฟฟ้า)…

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศเราจะตกเทรนด์การใช้กัญชาเพื่อความสุนทรีย์ไปเลยเสียทีเดียว เพราะในเวลานี้ ก็มีเครื่องดื่มบางยี่ห้อเริ่มแสดงความสนใจในการเอาเทอร์พีนมาใช้แต่งกลิ่นกัญชากัญชงลงไปในผลิตภัณฑ์กันบ้างแล้ว

ในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะเห็นเครื่องดื่มชูกำลังกลิ่นเทอร์พีน หรืออาจจะมีเบียร์กัญชากัญชงออกมาให้ชิมกันก็เป็นได้ ซึ่งก็คงต้องรอดูต่อไปแล้วครับ ว่านวัตกรรมทางอาหารใหม่ๆ เหล่านี้จะทำออกมาได้ถูกปากผู้บริโภคมากเพียงไร ใครจะรู้ล่ะครับ ในอนาคต เราอาจจะได้ยินเพลงบ้องกัญชาในเวอร์ชั่นใหม่ก็เป็นได้…

“กลิ่นรสหอมรื่นชื่นใจ พอดื่มเข้าไปกลายเป็นรสกัญชา เทอร์พีนสร้างความรื่นเริง เคลิ้มฝันบันเทิงสุดแสนเฮฮา!”