‘มโนฯ cracy’ : เรือเอเวอร์ กิฟเวน แห่งสยาม การรัฐประหาร 1 เมษายน 2476 ของพระยามโนปกรณ์นิธาดา / My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘มโนฯ cracy’

: เรือเอเวอร์ กิฟเวน แห่งสยาม

การรัฐประหาร 1 เมษายน 2476

ของพระยามโนปกรณ์นิธาดา

จากเหตุการณ์เรือขนส่งสินค้า เรือบรรทุกสินค้าเอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) ขวางคลองซูเอซ ประเทศอียิปต์ คลองนี้เป็นเส้นทางลัดในการขนส่งสินค้าที่สำคัญของโลก สินค้านานาชนิดตั้งแต่เชื้อเพลิง พืชผลการเกษตร ฯลฯ ที่เคยถูกถูกลำเลียงข้ามไปหล่อเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ของโลกถูกขัดขวางได้สร้างความเดือดร้อนแก่โลกเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ภาวะอุดตัน อุปสรรค ขัดขวางการไหลเลื่อนของความเจริญจึงเป็นสภาวะที่ไม่มีผู้ใดชื่นชอบ

ความคาดหวังจากสายธารของความเปลี่ยนแปลงภายหลังการปฏิวัติ 2475 เริ่มหยุดชะงักลงจากความขัดแย้ง ระหว่าง “คณะเจ้า”-กลุ่มอำนาจเก่า และ “คณะราษฎร”-กลุ่มอำนาจใหม่

เริ่มต้นนับแต่ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” (ยาตาเบ, 2550, 44) ลงในธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (27 มิถุนายน 2475) ฉบับที่ร่างโดยนายปรีดี พนมยงค์ หรืออาจเรียกว่า “ฉบับคณะราษฎร” ซึ่งในบัญญัติมาตรา 1 ปรากฏถ้อยคำที่ไพเราะและทรงพลังว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ด้วยเหตุของคำว่าชั่วคราวจึงนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ (10 ธันวาคม 2475) ในเวลาต่อมา

เครดิตภาพ จากเฟซบุ๊ก

ความเปี่ยมอุดมคติของคนหนุ่มอย่างนายปรีดี ผู้เป็นแกนนำสายพลเรือน ปรารถนาจะผลักดันการปฏิวัติทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องจากการปฏิวัติทางการเมือง ต่อมา ในกลางเดือนมีนาคม 2476 เขาเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ “สมุดปกเหลือง” เพื่อสร้างความสุขสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจ อันเป็นหลักการสำคัญในหลัก 6 ประการแก้ปัญหาประชาชนผู้ยากไร้จำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ถือครองโดยกลุ่มชนชั้นสูงและขุนนาง

โดยเขาเสนอให้รัฐออกพันธบัตรซื้อที่ดินทำกินทั้งหมด และเปลี่ยนให้ชาวนาชาวไร่มีสภาพเป็นลูกจ้างของรัฐร่วมกันประกอบการบนที่ดินนั้น

ด้วยเหตุที่แนวคิดการรวมที่ดินจำนวนมากให้เป็นผืนใหญ่ของนายปรีดีทำให้กลุ่มอำนาจเก่ารวมตัวกันเข้าต่อต้านโครงการดังกล่าวที่กำลังถูกเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นฝ่ายนิยมคณะราษฎรอย่างเข็มแข็ง

เนื่องจากหากโครงการนี้ผ่านสภาผู้แทนฯ ออกเป็นกฎหมายได้ ไม่แต่เพียงพวกเขาจะสูญเสียอำนาจการเมืองจากการปฏิวัติทางการเมืองที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่พวกเขาจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไปอีกชั้นหนึ่งด้วย

ดังนั้น รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ.2476 จึงเป็นการโต้กลับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกคำรบ โดยที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร มิให้สภาสามารถพิจารณาโครงการเศรษฐกิจนี้ได้ พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา

ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้ (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2543, 281-314) มีข้อความสรุปได้ว่า

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ ให้ประกาศทราบทั่วกันว่า สภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเป็นสมาชิกชั่วคราว ไม่เป็นการสมควรที่สภาจะเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจอันเป็น “รากเหง้าแห่งความเป็นความอยู่ของประเทศมาแล้วแต่โบราณกาล” แต่มีสมาชิกเป็นจำนวนมากแสดงความปรารถนาแรงเกล้าเพียรที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้น หากสภาประชุมต่อไป จะนำมาสู่ความไม่มั่นคงต่อประเทศ และทำลายความสุขสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎร

ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีให้

1. ให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

2. ให้ยุบคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน และให้มีคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่

3. หากยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ให้คณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกานี้เป็นผู้ใช้อำนาจต่างๆ ของคณะรัฐมนตรี

4. หากยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร และยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น ให้พระปกเกล้าฯ ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี

5. หากยังไม่ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้รอการใช้บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย ส่วนบทบัญญัติอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญนั้นให้เป็นอันคงใช้อยู่ต่อไป

(ราชกิจจานุเบกษา, 1 เมษายน 2476)

 

ต่อมารัฐบาลใช้กำลังทหารล้อมสภาไว้และสั่งปิดสภา ด้วยผลจากพระราชกฤษฎีกานี้ ทำให้สภาถูกปิด ไม่สามารถพิจารณาผ่านโครงการเศรษฐกิจเพื่อปฏิวัติทางเศรษฐกิจและสังคมนี้ได้

อีกทั้งยังมีผลทำให้รัฐบาลมีอำนาจเพิ่มขึ้นมาก ทั้งอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งหมายความรัฐบาลออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติแทนสภาได้

ทั้งนี้ ยาตาเบ ทูตญี่ปุ่น ผู้เห็นการปฏิวัติ 2475 บันทึกสาเหตุของการรัฐประหาร 1 เมษายนของพระยามโนปกรณ์ฯ ไว้ว่า เป็นความพยายามยุติโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี ซึ่งคณะรัฐมนตรีและพระปกเกล้าฯ ไม่เห็นด้วย

แต่นายปรีดีพยายามผลักดันเรื่องเข้าสู่สภา ประหนึ่งเป็นการต่อต้านรัฐบาลและพระปกเกล้าฯ อีกทั้งคณะรัฐมนตรีฝ่ายพระยามโนปกรณ์ฯ มีความต้องการกำจัดนายปรีดีออกไปจากรัฐบาล อีกทั้งคนบางกลุ่มต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ซื้อนายปรีดี แต่ยาตาเบประเมินว่า นายปรีดีไม่อาจซื้อได้ด้วยเงิน

ดังนั้น ยาตาเบเห็นว่า การรัฐประหารครั้งนี้ จึงไม่ใช่เป็นอุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยผลของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นการวางแผนที่เตรียมการมานานที่จะกำจัดนายปรีดีและกลุ่มของเขา

(ยาตาเบ, 2550, 85-88)

ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 2 เมษายน รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเองโดยไม่ผ่านสภา ชื่อ “พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476” เพื่อมิให้นายปรีดีเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการกล่าวหาว่า นายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และทำลายการจัดตั้งสมาคมคณะราษฎร อันเป็นพรรคการเมืองของคณะราษฎร

ต่อมา 12 เมษายน 2476 ก็มีการเผยแพร่หนังสือชื่อ บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ “สมุดปกขาว” ส่งผลให้นายปรีดีซึ่งเคยกล่าวว่าตนเองจะประกาศและเผยแพร่เค้าโครงเศรษฐกิจในนามตนเองตามลำพังไม่ได้ ถือเป็นการบีบให้นายปรีดีเดินทางออกนอกประเทศในวันเดียวกันกับที่มีการเผยแพร่หนังสือบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยฯ นั้น

นายปรีดีถูกโจมตีอย่างหนักว่า ต้องการโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเดียวกับคอมมิวนิสต์ ดังข้อความว่า “ข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้” แต่ทั้งสองโครงการเหมือนกัน

วิกฤตการณ์ทางการเมืองนี้ ยาตาเบเห็นว่า รัฐบาลโฆษณาเกินความจริงว่า นายปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ และมีความต้องการคุกคามสวัสดิภาพของประชาชน เขาเห็นว่า การป้ายสีเหล่านี้มุ่งประหารชีวิตทางการเมืองของนายปรีดี (ยาตาเบ, 2550, 89)

ทั้งนี้ 1 เมษายนนี้เป็นการรัฐประหารด้วยการใช้กฎหมายในระดับพระราชกฤษฎีกา อันเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารซึ่งมีลำดับต่ำกว่าพระราชบัญญัติที่ออกโดยสภา

แต่พระยามโนปกรณ์ฯ กลับใช้พระราชกฤษฎีไปหยุดยั้งกฎหมายลำดับสูงสุด คือรัฐธรรมนูญ ได้อย่างฉงน

การดำเนินการของพระยามโนปกรณ์ฯ นั้นไม่อาจสามารถสำเร็จลงได้หากไม่มีกำลังทางการทหารและพลังอื่นให้ความช่วยเหลือการนี้

พระยามโนปกรณ์ฯ และกลุ่มอำนาจเก่าไม่เพียงต้องการขจัดบทบาทของคณะราษฎรสายพลเรือนเท่านั้น แต่มีความพยายามที่จะลดบทบาทและอิทธิพลของคณะราษฎรสายทหารอีกด้วย

แม้ว่ารัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ยังคงต้องพึ่งพาทหารซึ่งเป็นผู้คุมอำนาจในกองทัพ แต่มิใช่ทหารของคณะราษฎร ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามขจัดบทบาทของคณะราษฎรสายทหารยังคงดำเนินต่อไป

และไปสู่ความขัดแย้งและเหตุการณ์การรัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 เพื่อล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ ลง แต่กลุ่มอำนาจเก่ายังไม่ยอมจำนน นำไปสู่การใช้กำลังทางการทหารตัดสินอนาคตของสยาม ในเหตุการณ์กบฏบวรเดช ในปลายปี 2476

เมื่อกว่า 80 ปีมาแล้ว สังคมเราเคยมีคนหนุ่มที่มีความตั้งใจแก้ไขปัญหาโครงสร้างเพื่อสร้างความเสมอภาคและความสุขสมบูรณ์ให้กับสังคม แต่ความปรารถนานั้นมิอาจบรรลุได้ เนื่องจากมีความหวาดระแวงต่อคนรุ่นใหม่ พวกเขาไม่ปรับตัว ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและไม่มองไกลเกินกว่าผลประโยชน์แห่งตนเอง ทำตนกันท่าหรือขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้สะดวก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นจึงไม่บรรลุผล อย่างไรก็ตาม กระแสธารของความเปลี่ยนแปลงยังคงไหลไปต่อไปยังอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ใต้ภาพ

เครดิตภาพ จากเฟซบุ๊ก