การศึกษา / จับตา ‘ตรีนุช เทียนทอง’ รับมือสารพัดปัญหา ศธ.

การศึกษา

จับตา ‘ตรีนุช เทียนทอง’

รับมือสารพัดปัญหา ศธ.

ถูกจับตามาตั้งแต่มีชื่อ “ตรีนุช เทียนทอง” ติดโผนั่งกระทรวงครูในคณะรัฐมนตรี (ครม.) บิ๊กตู่ 2/3 กระทั่งเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็ถูกวิจารณ์ถึงความเหมาะสม

ทั้งคุณสมบัติที่ไม่ได้มาจากแวดวงการศึกษา

อ่อนประสบการณ์

ที่สำคัญยังเป็นการรับตำแหน่งที่มาจากการแบ่งโควต้าการเมือง…

เรียกว่ากดดันตั้งแต่ยังไม่เข้ากระทรวง!!

แถมยังถูกรับน้องจากกลุ่มนักเรียนเลวที่นำเค้กมาต้อนรับในวันเข้ารับตำแหน่งวันแรก 29 มีนาคมที่ผ่านมา

แม้บรรยากาศจะเป็นไปด้วยดี

แต่ก็ถือเป็นบททดสอบและสัญญาณเตือนให้เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งจากกลุ่มนักเรียนเลวและอีกสารพัดม็อบที่เตรียมจะตบเท้าเข้ามาเสนอข้อเรียกร้อง รวมถึงขอให้แก้ปัญหาต่างๆ

 

ทั้งนี้ การเข้ารับงานวันแรก แม้จะยังไม่มีนโยบายใหม่ให้หวือหวา แต่ก็ไม่ถึงขั้นไม่มีของติดมือ โดย “ครูเหน่ง” ประกาศสานต่อนโยบาย “ครูตั้น” ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ใน 4 วาระเร่งด่วน ดังนี้

  1. การผลักดันโรงเรียนคุณภาพของชุมชนและการพัฒนาเด็กปฐมวัย

เป็นการสานต่อนโยบายเดิมของ ศธ. ที่ต้องการขับเคลื่อนให้แต่ละชุมชนได้มีโรงเรียนที่มีคุณภาพอย่างน้อย 1 โรงเรียนขึ้นไปซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษา ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงโรงเรียนที่ดีใกล้บ้าน

ทั้งนี้ จะดำเนินการให้มีความพร้อมทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการส่งเสริมการศึกษา ตลอดจนด้านการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วม โดยทั้งสามด้านดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกคือ “สวัสดิการครู” เพื่อเป็นการบำรุงขวัญกำลังใจของครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ปฏิบัติงาน

สำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้น ขณะนี้มี พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.2562 ซึ่งโดยหลักการสอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการและคาดว่าจะประกาศใช้เร็วๆ นี้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาอย่างดี โดยเชื่อว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพนั้นเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยต่อมา จึงพร้อมที่จะดำเนินการต่างๆ ให้สอดรับกับกฎหมายแม่บทต่อไปอย่างแน่นอน

  1. ความปลอดภัยของสถานศึกษา

โรงเรียนทุกแห่งในประเทศไทยถือเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ทั้งจากการบูลลี่และการทารุณกรรมเด็ก

โดยสำหรับนักเรียนแล้วโรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของพวกเขา ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็กและผู้ปกครอง ในระยะแรกจึงต้องมีการดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดกับผู้กระทำความผิดต่อนักเรียนที่ถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ไม่ว่าด้านชีวิต ร่างกาย เพศ หรือจิตใจ

อันจะนำมาสู่การดำเนินการในระยะต่อมา

คือการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่ายในการวางตัวและการปฏิบัติต่อกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเรียนกับครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่จะมีตั้งแต่การลงรายละเอียดเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม การผลิตและสนับสนุนสื่อทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเป็นวงกว้าง

ไปจนถึงการส่งเสริมระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทั้งที่จะพัฒนาใหม่และสานต่อโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น Youth Counselor ของ สพฐ. ให้มีการทำงานเชิงรุกตามสถานศึกษาต่างๆ มากยิ่งขึ้น

  1. ความรู้เรื่องดิจิตอลและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก่อให้เกิดความนิยมในรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ศธ.จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความพร้อมของโครงข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่จำเป็น ให้มีความทั่วถึง รองรับการใช้งานของผู้เรียนทุกระดับ

นอกจากนี้ การพัฒนาแหล่งข้อมูล แหล่งเรียนรู้ให้มีความหลากหลายก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยจะประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่มีศักยภาพในการรณรงค์เรื่องดังกล่าวเข้ามาทำงานร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิตอลแห่งชาติ (NDLP) และระบบฐานข้อมูลกลางทางการศึกษา หรือ Big Data เพื่อเตรียมคนไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นผู้ประกอบการและความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ

  1. การขับเคลื่อนภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษา

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนช่างฝีมือ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายด้านการศึกษาที่ไม่สอดรับกับการพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ประกอบกับทัศนคติของผู้ปกครองและผู้เรียนไทยที่มองว่าระบบอาชีวศึกษาเป็นที่รองรับของผู้เรียนที่ไม่สามารถศึกษาต่อในสายสามัญได้ จึงต้องมีการขับเคลื่อนภาพลักษณ์ที่ดีของการอาชีวศึกษาในประเทศไทยให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

โดยระยะแรกจะมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สถาบันอาชีวศึกษาที่มีมาตรฐานชั้นนำในระดับประเทศให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง เพื่อให้ผู้เรียนและผู้ปกครองเห็นถึงโอกาสในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความก้าวหน้าทางวิชาชีพ อันจะก่อให้เกิดความมั่นใจที่จะเลือกศึกษาต่อในสายอาชีวะมากยิ่งขึ้น

ควบคู่ไปกับการสนับสนุนผู้ประกอบการที่อำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาผ่านมาตรการจูงใจต่างๆ ต่อไป

 

นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอรูปแบบการทำงาน “TRUST”

หมายถึงรูปแบบการทำงานที่จะทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง ผู้เรียน และประชาชน กลับมาให้ความไว้วางใจในการทำงานของ ศธ.อีกครั้ง

พัฒนาต่อยอดจากรูปแบบการทำงาน “MOE ONE TEAM” หรือการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวของ ศธ.

จากนี้ต้องจับตาดูว่า ศธ.ภายใต้การกุมบังเหียนของ “ตรีนุช เทียนทอง” จะเป็นไปในทิศทางใด ที่สำคัญจะสามารถรับมือกับสารพัดปัญหาทั้งของเก่าและของใหม่ใน ศธ.ได้ดีหรือไม่…