วิรัตน์ แสงทองคำ/SCB-SCG

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

SCB-SCG

 

ว่าด้วยความเป็นไป ธุรกิจดั้งเดิม ภายใต้แรงเสียดทานและผลพวงวิกฤตการณ์

อย่างที่นำเสนอเกี่ยวข้องผลประกอบการปี 2563 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ท่ามกลางช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาด COVID-19 ซึ่งสั่นสะเทือนทั่วโลก

สำหรับกรณีธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และเครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี (ภายใต้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ-ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC) เครือข่ายธุรกิจซึ่งมีภูมิหลังและโครงสร้างสำคัญเชื่อมโยงกัน คงต้องพิจารณาแผนการและภาพกว้างขึ้น ภายใต้สถานการณ์ข้างหน้าดูจะท้าทายต่อเนื่อง

ทั้งสองกิจการ ผู้คนมักให้ความสนใจเสมอมา ไปยังบรรทัดท้ายๆ ว่าด้วยการจ่ายเงินปันผล

ที่แรกตกใจเล็กน้อย เมื่อ SCB ประกาศจ่ายปันผลประจำปี 2563 เพียงหุ้นละ 2.30 บาท หรือรวมกันไม่ถึง 1 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนๆ มากพอควร จนต้องมีถ้อยแถลงทางการอย่างจริงจัง ผู้คนจึงจะพอเข้าใจได้

“การจ่ายเงินปันผลในครั้งนี้รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 7,818 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 28.1 ของกำไรสุทธิประจำปี 2563 ตามงบการเงินเฉพาะธนาคาร ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารสามารถจ่ายได้ตามหนังสือเวียนของธนาคารแห่งประเทศไทย… เรื่องนโยบายการจ่ายเงินปันผลเพื่อเสริมสร้างเงินกองทุนสำหรับรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิของปี 2563 และต้องไม่เกินอัตราการจ่ายเงินปันผลในปี 2562 ด้วย ทั้งนี้ ให้คำนวณอัตราการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะธนาคาร”

และอ้างอิงเปรียบเทียบกับปีที่แล้วไว้ด้วย

“ธนาคารได้จ่ายเงินปันผลประจำปี 2562 เป็นจำนวน 6.25 บาทต่อหุ้นรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,245 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 28.1 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะธนาคาร หรือร้อยละ 52.5 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม”

ถ้อยแถลงมีขึ้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2564 วันเดียวกับที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารมีมติเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2563 พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2563 ต่อไป

เมื่อดูตัวเลขกำไรที่นำเสนอ เป็นเหตุเป็นผลกัน ถือว่าลดลงจากปีก่อนๆ ค่อนข้างมาก

แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลลงลึกจะพบเงื่อนไขที่แตกต่าง

“กำไรสุทธิตามงบการเงินรวม จำนวน 27,218 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 32.7 จากจำนวน 40,436 ล้านบาทในปี 2562 การลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจากฐานของปีก่อนที่มีรายการพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในไตรมาส 3/2562 และสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อคุณภาพของสินเชื่อโดยรวม ถ้าไม่รวมรายการพิเศษครั้งเดียวจากการขายบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตที่บันทึกในไตรมาส 3/2562 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากปีก่อน…”

อย่างไรอย่างนั้น เมื่อพิจารณาข้อมูลย้อนหลังในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาสะท้อนแนวโน้มซึ่งท้าทายต่อเนื่องมาแล้ว

ส่วนเอสซีจีคงจ่ายเงินปันผลเท่ากับปีที่แล้ว ตามมาตรฐานและแผนการค่อนข้างเคร่งครัด จ่ายเงินปันผลในสัดส่วน 40-50% ของกำไรสุทธิ แม้ว่ารายได้จะลดลง แต่กำไรกลับเพิ่มขึ้นนิดหน่อย อย่างไรก็ดีทิศทางเป็นไปอย่างท้าทายเช่นกัน

 

ทั้งนี้ SCB และ SCC ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสามารถจ่ายเงินปันผลรวมกันราวๆ หนึ่งแสนล้านบาทแล้ว

SCB ธนาคารเก่าแก่ที่สุด มีความเชื่อมโยงยุคสมัยสังคมไทยค่อนข้างเข้มข้น เชื่อว่าคงเป็นไปขณะดำเนินแผนการปรับตัวอย่างกระฉับกระเฉง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา

แผนสำคัญที่ต่อเนื่องมาในปัจจุบัน เปิดฉากเป็นผู้นำกระแสเมื่อต้นปี 2560 ด้วย “นำกลยุทธ์ Going Upside Down” หรือ “กลับหัวตีลังกา” ถือว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกช่วงหนึ่ง เชื่อมต่อระบบธนาคารดั้งเดิมกับระบบดิจิตอล ในช่วงความสามารถในการทำกำไร (หรืออัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น-return on equity หรือ ROE) จะลดลงเหลือเพียง 8-10% ตามคาดการณ์กันว่าด้วยแนวโน้มธนาคารระดับโลกเผชิญความท้าทายใหม่ (อ้างจาก McKinsey Global Banking Annual Review 2017) ทั้งระบุด้วยว่า สำหรับบางธนาคารแล้ว ต้นทุนเกี่ยวกับสาขาธนาคารมีมากถึงครึ่งหนึ่งของต้นทุนการดำเนินการทั้งหมด

แผนการหนึ่งซึ่งสั่นสะเทือน SCB ได้ลดจำนวนสาขาลงมากที่สุดในระบบธนาคารไทย จากสูงสุด 1,210 แห่งในปี 2558 เหลือเพียง 854 แห่ง (สิ้นปี 2563) หรือเหลือเท่าๆ กับเมื่อ 13 ปีที่แล้ว (อ้างจาก Analyst Meeting Presentation for 2020- 22 January 2021)

ขณะอีกด้านหนึ่ง ผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบดิจิตอลมากขึ้น เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะมีแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากวิกฤตการณ์ COVID-19

ดูเหมือนว่าจะเป็นไปตามแนวทางสำคัญ SCB พยายามเข้าถึงฐานกว้างสังคมไทย ผู้บริโภครายย่อยและปัจเจกวงกว้าง ตามกระแสสังคมที่เป็นไป แต่ช่วงวิกฤตการณ์ที่เพิ่งผ่านมา ข้อมูลบางอย่างสะท้อนว่า SCB คงให้ความสำคัญธุรกิจใหญ่เป็นพิเศษ (พิจารณาจากข้อมูลสินเชื่อ)

SCB มีความพยายามเชื่อมโยงกับความเป็นไปสังคมไทย คงเป็นไปตามลักษณะและธรรมชาติธุรกิจด้วย

 

ขณะ SCG มีแนวทางยืดหยุ่นที่แตกต่างออกไปบ้าง

“ยุครุ่งโรจน์ รังสิโยภาส มีผลงานจับต้องได้มากมาย รวมทั้งสร้างฐานกำไรขึ้นสู่ระดับใหม่ ภายใต้โครงสร้างรายได้ซึ่งอยู่ระดับเดิมมานาน ฐานรายได้คงระดับเดิมมามากกว่า 5 ปี ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ว่าได้” อย่างที่เคยว่าไว้เมื่อต้นปีแล้ว (“ก้าวย่างใหม่ของ ‘เอสซีจี’ หลังพ้นวิกฤตปี 2540” มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2563) ยังเป็นเช่นนั้น

ขณะในนั้นปรากฏความพยายามใหม่ๆ ด้วยแผนการลงทุนเชิงรุก พิจารณาจากสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา งบฯ การลงทุนใหม่ยกระดับขึ้นอย่างมาก ช่วงปี 2562-2564 มีวงเงินสูงเกือบเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกันช่วง 3 ปีก่อนหน้านั้น

โอกาสและความท้าทาย คงโฟกัสขยายธุรกิจเคมีภัณฑ์ให้มีความสามารถแข่งขันระดับโลก ทั้งนี้ SCG ดำเนินแนวทางธุรกิจภูมิภาคอย่างชัดเจนมากขึ้น ในฐานะผู้นำธุรกิจอาซียนอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ตามมุมมองเชิงบวกที่น่าสนใจ ภูมิภาคที่ GDP เติบโตถึง 1.5 เท่าของ GDP โลก มีประชากรมากกว่าสหรัฐถึง 2 เท่า และจะมีประชากรเมืองใหญ่ถึง 500 ล้านคนใน 3 ทศวรรษข้างหน้า

เชื่อด้วยว่า SCB และ SCG ได้วิเคราะห์เฉพาะสังคมไทยไว้อย่างเจาะลึกด้วย