เครื่องเคียงข้างจอ : D-มีดี / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

D – มีดี

 

D-มีดี เป็นชื่อรายการครับ

รายการใหม่ที่ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มอบหมายให้เจ เอส แอล เป็นผู้ผลิตรายการให้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะของ กสทช. ออกอากาศทาง ททบ.5

D มาจากคำว่า Disable แปลว่า “คนพิการ”

ส่วน “มีดี” คือการที่คนพิการมีดีที่จะไม่ยอมแพ้ รู้จักพัฒนาตนเอง และมีดีในการรู้เท่าทันสื่อ ทั้งสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และออนไลน์

สำหรับคนทั่วไปที่ครบ 32 เชื่อว่าส่วนใหญ่จะมีความรู้เกี่ยวกับคนพิการน้อย ส่วนมากเราก็จะเห็นเชิงรูปธรรมว่า อ้อ คนนี้พิการขา คนนี้ตาบอด คนนี้หูหนวก เพราะเห็นเขาคุยกันด้วยภาษามือ หรือรับรู้ว่าคนนี้เป็นออทิสติก ซึ่งเป็นความพิการอย่างหนึ่ง

และเราอาจจะรับรู้ว่า โลกของคนพิการมีความยากลำบากกว่าปกติอยู่แล้ว อย่างคนตาบอดก็จะมองไม่เห็น ทำอะไรก็ลำบาก คนหูหนวกก็จะไม่ได้ยินเสียง คงขาดอรรถรสและข้อมูลในการใช้ชีวิตพอตัว คนที่นั่งวีลแชร์นี่ไปไหนก็ลำบาก ด้วยสภาพแวดล้อมของบ้านเรายังไม่เอื้อ

หรือจะมีก็มีแบบขอไปที ให้พูดได้ว่ามี แต่เวิร์กหรือเปล่าไม่รู้

เหมือนอย่างที่เราเห็นในข่าว ที่สัญลักษณ์สีเหลืองๆ บนทางเท้าสำหรับคนตาบอดใช้เป็นเครื่องมือนำทาง จู่ๆ ก็พาไปชนต้นไม้ซะยังงั้น แล้วก็จบแค่นั้น ไปไหนต่อก็ไม่บอก

หรือมีทางลาดสำหรับรถเข็นแต่ก็ชันราวกับต้องเข็นครกขึ้นภูเขา

 

เมื่อได้มาทำรายการกับคนพิการ ได้มาเรียนรู้ความคิดและวิถีชีวิตของเขา เราจะเกิดความเข้าใจมากขึ้น ที่จะเป็นประโยชน์มากกว่าแค่ “น่าสงสาร” เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่ต้องการโอกาสในสิ่งที่ควรได้รับ ต้องการสิทธิ์ในสิ่งซึ่งพึงมี

พอเราต้องทำงานเกี่ยวกับคนพิการ ได้ศึกษาเรื่องราวของพวกเขา ก็พลอยได้รู้อะไรมากขึ้นอย่างที่คิดไม่ถึง

อย่างกรณีของคนตาบอด พวกเขาสามารถเดินไปไหนมาไหนได้โดยมีไม้เท้านำทางประกอบกับสัญลักษณ์บนทางเท้า

ซึ่งพอเกิดโควิด-19 ชีวิตพวกเขาจะเปลี่ยนไป ยุ่งยากมากขึ้น เช่น เดิมอาจจะได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นที่มาแตะตัวพาเดิน หรือประคองช่วยเหลือ แต่พอเกิดโควิดต่างคนต่างกลัวการติดต่อกัน ความช่วยเหลือนี้ก็หายไปโดยอัตโนมัติ

หรืออย่างแต่เดิมเวลาเดินไปไหน จะใช้หูจับสังเกตเสียงเพื่อบอกตำแหน่งแห่งที่ได้ เช่น เดินมาเส้นนี้ทุกวัน พอถึงตรงนี้จะได้ยินเสียงพัดลมระบายอากาศก็บอกได้ว่าถึงร้านอาหารริมทาง เดินมาหน่อยได้ยินเสียงกระดิ่งสั่น แสดงว่าเป็นร้านสะดวกซื้อที่คนเปิดเข้า-ออกประตู

แต่พอเกิดโควิดจำเป็นต้องล็อกดาวน์ เสียงที่ช่วยบ่งบอกสถานที่หล่านี้จะพลอยหายไปด้วย

และที่อันตรายอย่างไม่เคยนึกเลยคือ ตรงทางแยกที่มีไฟสัญญาณคนข้ามถนน ตอนไฟแดงคนข้ามจะหยุดรอ พอไฟเขียวจะมีเสียงสัญญาณดังบอกให้เดินได้แล้วจ้า เดิมถึงแม้จะมีสัญญาณไฟให้เดินดังขึ้น คนตาบอดจะยังไม่เดินทันที จนได้ยินเสียงคนข้างๆ เดินจึงออกเดินตามเพื่อความปลอดภัย เพราะไม่รู้ว่าถนนว่างให้เดินจริงไหม

พอเกิดโควิด คนออกจากบ้านกันน้อย เลยไม่มีคนที่ยืนรอข้ามด้วยกันให้จับสังเกตว่า เขียวแล้ว ข้ามได้ ซึ่งเสี่ยงกับการถูกรถชนได้ไม่น้อย

 

สําหรับคนหูหนวกที่สื่อสารกันด้วยภาษามือ ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ อย่างภาษามือที่ใช้จะไม่ได้มีหลากหลายคำศัพท์หรือความหมายเท่าภาษาพูดปกติ จึงต้องมีทักษะในการสื่อสารเฉพาะไปอีก เช่น ทำภาษามือด้วยท่าเดียวกันนี้ ถ้าประกอบด้วยสีหน้าแบบหนึ่งความหมายก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นสีหน้าอีกแบบความหมายก็จะเปลี่ยนไป

เราจึงได้เห็นคนหูหนวกคุยกันแล้วจะมีสีหน้าที่แสดงออกชัดเจนมาก จนบางคนไม่รู้พลอยไปหัวเราะขำเขา หารู้ไม่ว่าที่ต้องแสดงออกเยอะอย่างนั้นเพราะเขากำลังสื่อสารความหมายที่ต้องการบอกให้ชัดเจนต่างหาก

หรือเสื้อผ้าก็มีปัญหา เช่น ถ้าเสื้อที่ใส่มีลายมาก การมองภาษามือนานๆ จะเวียนหัวได้ ถ้าสวมเสื้อสีอ่อน ภาษามือที่อีกคนมองก็อาจจะไม่ชัดเจนเท่าใส่เสื้อสีเข้ม เป็นต้น

ทุกวันนี้เราจะได้เห็นในรายการทีวีจะมีเจาะช่องภาษามือเพื่อช่วยในการเสพสื่อให้เข้าถึงสำหรับคนหูหนวกได้มากขึ้น แต่ก็จะมีจำกัดเฉพาะรายการข่าว คนหูหนวกที่อยากชมรายการประเภทอื่นเลยดูแบบไม่เข้าใจ หรือขาดอรรถรสไปเลย

คนหูหนวกคนหนึ่งชอบดูละครมาก ลำพังฟังไม่ได้อยู่แล้ว ก็อาศัยไปหาซื้อหนังสือที่มีเรื่องของละครนั้นตีพิมพ์มาอ่าน อ่านเป็นสิบๆ เที่ยวให้จำได้ เวลามาดูภาพ เคลื่อนไหวก็จะจินตนาการตามได้ว่า ในละครแสดงเนื้อหาอะไร พระเอกพูดกับนางเอกว่ายังไง

 

ในรายการ D-มีดี นอกจากเรื่องราวของแขกรับเชิญที่เป็นคนพิการที่จะมาบอกถึงการใช้ชีวิตท่ามกลางความพิการของพวกเขาว่ามีปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงสื่ออย่างไรบ้าง ยังจะมี “ภารกิจ” ให้พวกเขาทำ บางคนได้ภารกิจที่เป็น “คนทำสื่อ”

บางคนได้ภารกิจในฐานะ “คนรับสื่อ” ซึ่งทุกวันนี้เราแต่ละคนล้วนเป็นคนรับสื่อที่มีอยู่จำนวนมากในโลก แล้วเราควรจะรับสื่ออย่างไร? แล้วคนพิการเองอีกล่ะ

เอาง่ายๆ ว่าคนธรรมดาเดี๋ยวนี้ ต่างถูก Cyber Bulling กันอยู่ทุกวัน ที่เลยไปถึงขั้นฟ้องร้องกันเป็นคดีความก็มี ยิ่งคนพิการยิ่งถูก Bully ในความพิการมากขึ้นไปอีก ทำให้เสียความรู้สึก ขาดความเชื่อมั่น และแน่นอนที่จะต้องทุกข์ใจ

แขกรับเชิญอย่าง “ฝ้าย บุญธิดา” กับ “รถเมล์” ที่แม้คนแรกพิการแขน และคนหลังเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ทั้งสองต่างมั่นใจในตนเอง และพยายามทำตัวเหมือนคนทั่วไป

ฝ้ายลุกขึ้นมาเป็น Blogger สอนแต่งหน้าด้วยเท้า

รถเมล์สนุกกับการแต่งคอสเพลย์ไปร่วมงาน เป็นสาวคอสเพลย์บนวีลแชร์ที่ใครๆ ก็มอง สิ่งที่ตามมาคือทั้งคู่ถูกการ Bully ในโลกไซเบอร์

พวกเขามีวิธีการรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรต้องติดตามดู ซึ่งสามารถใช้ได้แม้กับคนทั่วไป

 

การถ่ายทำรายการนี้มีความซับซ้อนกว่าการทำรายการปกติ เพราะเรามีพิธีกรหูดีและพิธีกรคนหูหนวกร่วมทำงานไปด้วยกัน จึงต้องมีล่ามภาษามือประกบการทำงานตลอดเพื่อช่วยในการสื่อสาร จึงพูดได้ว่าเป็นรายการที่มีล่ามภาษามือแบบเต็มตัวตลอดรายการ

หลังกล้องก็ต้องมีล่ามภาษามืออีกคนที่ทำหน้าที่เป็นกองงานเบื้องหลังในการช่วยสื่อสารกับพิธีกรคนหูหนวกหน้ากล้อง เวลาพิธีกรหูดีพูด ล่ามก็จะแปลให้พิธีกรคนหูหนวกได้ทราบ ซึ่งก็ต้องเลือกคำพูดหรือคำศัพท์ที่ไม่เป็นปัญหากับการแปลด้วย

เช่น เราอาจจะพูดสั้นๆ ว่า “สื่อ” ได้ แต่ในภาษามือไม่มีคำเฉพาะว่าสื่อ มีแต่เฉพาะไปเลยว่าสื่ออะไร เช่น ทีวี วิทยุ มือถือ คอมพิวเตอร์ หนังสือ เป็นต้น

และรายการนี้ก็มีเสียงบรรยายแทนภาพ หรือที่เรียกว่าระบบ AD และมีคำบรรยายแทนเสียง หรือระบบ CC ให้คนพิการต่างๆ ประเภทได้เลือกใช้ด้วย

 

ททบ.5 เห็นถึงความน่าสนใจของรายการและความสำคัญของคนพิการ จึงจัดเวลาอย่างดีให้สัปดาห์ละสองวัน คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.00-18.30 น. ซึ่งภารกิจของสถานีคือ เสริมสร้างความมั่นคงของชาติ การยกระดับคนพิการในการรู้เท่าทันสื่อก็เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมด้วยเช่นกัน โดยจะออกอากาศครั้งแรกวันเสาร์ที่ 3 และวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายนนี้

แล้วเราจะเข้าใจคนพิการมากขึ้น รวมทั้งได้เรื่องชวนรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่ออีกด้วย ที่จะทำให้เรารู้จักเลือกใช้ประโยชน์จากสื่อเป็น และไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อปลอมหรือสื่อที่บิดเบือนได้

ลองเปิดชมรายการ “D-มีดี” กันได้ หรือดูย้อนหลังได้ทาง YouTube และ Facebook ของ JSL Global Media และของ Thai Deaf TV นะครับ