โฟกัสพระเครื่อง : เหรียญหลวงพ่อคูณ 2517 มงคลที่ระลึกงานสมโภช พระประธาน วัดแจ้งนอก

(ซ้าย) หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ (ขวา) เหรียญหลวงพ่อคูณ ปี 2517 (หน้า-หลัง)

โฟกัสพระเครื่อง–(สุรินทร์ สรรพคุณ)

โคมคำ / [email protected]

 

เหรียญหลวงพ่อคูณ 2517

มงคลที่ระลึกงานสมโภช

พระประธาน วัดแจ้งนอก

 

“พระเทพวิทยาคม” หรือ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” วัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เป็นพระสงฆ์ที่ชาวไทยให้ความเลื่อมใสศรัทธามากที่สุดอีกรูปหนึ่ง

เอกลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สนใจแก่คณะศิษยานุศิษย์ผู้พบเห็นคือ การนั่งยอง พูดกูมึง ดำรงตนแบบสันโดษ จนกลายเป็นภาพที่เห็นกันชินตา

ด้านวัตถุมงคลมีมากมายหลายประเภท ซึ่งล้วนได้รับความนิยมและเป็นที่แสวงหาทั้งสิ้น

นอกเหนือจาก “เหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อคูณ” สร้างในปี พ.ศ.2512 ขณะพำนักอยู่วัดแจ้งนอก ที่ระลึกในงานฉลองพระประธานวัดแจ้งนอก จ.นครราชสีมาแล้ว

ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ “เหรียญหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ปี 2517”

 

เมื่อปี พ.ศ.2517 ขณะที่หลวงพ่อคูณจำพรรษาอยู่ที่วัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา ระหว่างปี 2513-2527

ระหว่างนั้นเห็นถึงความยากลำบากของพระสงฆ์ที่อยู่ในวัด มีเพียงกุฏิสงฆ์มุงสังกะสีเล็ก เมื่อฝนตกลงมาหลังคาก็รั่ว เปียกฝน บางหลังก็อยู่พักไม่ได้

หลวงพ่อคูณจึงมีความคิดที่จะสร้างกุฏิสงฆ์หลังใหญ่ 2 ชั้นขึ้นมา เพื่อใช้เป็นทั้งศาลาการเปรียญ หอฉัน และห้องสำหรับพระสงฆ์พัก แต่ต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงได้สร้างเหรียญรุ่นปี 2517 ขึ้นมา และให้พุทธศาสนิกชนเช่าบูชา จนสามารถรวบรวมเงินบริจาค นำมาสร้างกุฏิสงฆ์หลังใหญ่ดังกล่าวสำเร็จ และใช้ประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับเหรียญรุ่นนี้ ลักษณะเหรียญปั๊มรูปไข่ ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อคูณครึ่งองค์ หันหน้าตรง ด้านบนเขียนคำว่า “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” ด้านล่างเขียนคำว่า “วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา” ตรงสังฆาฏิด้านหน้าตอกโค้ด “ปรธ” ภายในวงกลม เป็นตัวย่อมาจากคำว่า “ปริสุทโธ” ซึ่งเป็นฉายาของท่าน

ด้านหลัง มีอักขระยันต์อยู่ตรงกลาง มีตัวอักษรเขียนคำว่า “ที่ระลึกสร้างกุฏิสงฆ์วัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา” ด้านล่างมีจุดคั่น 2 จุด เขียนว่า “รุ่นพิเศษ ๔ ต.ค.๒๕๑๗”

ปัจจุบันหายาก

 

หลวงพ่อคูณเกิดในสกุลฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม 2466 ที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา บิดา-มารดา ชื่อนายบุญ และนางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน 3 คน ครอบครัวประกอบอาชีพชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ

ในวัยเยาว์ต้องสูญเสียโยมบิดา-มารดาในขณะที่ลูกทั้ง 3 คนยังเป็นเด็ก ท่านกับน้องๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว

เมื่ออายุ 6-7 ขวบ เข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ฉายและพระอาจารย์หล ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม นอกจากนี้ พระอาจารย์ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิทยาคมเพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ

กระทั่งอายุครบ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2487 ได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ

ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

 

หลวงพ่อแดงเป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด อีกทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก

อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาไปฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้เป็นสหธรรมิกกัน ต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิทยาคมเสมอ

เวลาล่วงเลยผ่านไป กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่าลูกศิษย์มีความรอบรู้ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริกไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป

ครั้งแรก ท่องธุดงค์จาริกอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจาริกออกไปไกลถึงประเทศลาวและประเทศเขมร

หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่กาลแล้ว จึงออกเดินทางจากประเทศเขมรเดินทางกลับสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตด้านจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับบ้านเกิด

 

จากนั้นเริ่มดำเนินการก่อสร้างวัดบ้านไร่ เริ่มสร้างอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย

กล่าวได้ว่าเป็นพระนักพัฒนา ที่มีสาธุชนให้ความศรัทธายิ่ง บริจาคทานจำนวนมหาศาล เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้แก่ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศและล่วงเลยไกลไปถึงในต่างแดนเลยทีเดียว

ลำดับสมณศักดิ์ วันที่ 12 สิงหาคม 2535 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระญาณวิทยาคมเถร

10 มิถุนายน 2539 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่พระราชวิทยาคม

12 สิงหาคม 2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่พระเทพวิทยาคม

ด้วยอายุขัยที่ล่วงเลยเข้าสู่วัยชราภาพ บ่อยครั้งทำให้ท่านอ่อนแรง สุขภาพไม่แข็งแรงดังเดิม กระทั่งอาพาธเป็นประจำ ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลหลายครั้ง

คณะแพทย์ขอให้ท่านพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชและได้ให้การรักษาอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

กระทั่งเวลา 11.45 น. วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2558 จึงมรณภาพลงอย่างสงบ

สิริอายุ 92 ปี พรรษา 71