2503 สงครามลับ สงครามลาว (23) /พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (23)

 

สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง

บิลล์ แลร์ ไม่เห็นด้วย

บิลล์ แลร์ พยายามอย่างนุ่มนวลที่จะให้วังเปาเปลี่ยนใจจากการปักหลักป้องกันแบบแตกหักที่ป่าดอง แต่เขาก็ไม่ได้ออกคำสั่งให้วังเปาเลิกล้มความคิด เพราะเชื่อว่าการปล่อยให้วังเปาตัดสินใจเองจะมีผลดีกว่า แม้จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างก็ตาม

วังเปาจะต้องเรียนรู้ทุกประสบการณ์ทั้งสำเร็จและล้มเหลวในฐานะเจ้าของสงครามตัวจริง

วังเปาเองไม่เคยเชื่อถือคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรบแตกหักกับศัตรู เพราะเขามีความเชื่อมั่นอย่างลมๆ แล้งๆ ว่า ตราบที่ยังมีอเมริกาหนุนหลังอยู่ เขาจะไม่มีวันพ่ายแพ้

ดังนั้น เพียงเวลาไม่กี่เดือนวังเปาก็สามารถดึงหัวหน้าเผ่ากลุ่มต่างๆ เข้าเป็นพันธมิตร และตอนนี้หัวหน้าเผ่าพวกนี้ก็มีโอกาสได้สัมผัสเครื่องมือรบสมัยใหม่ อย่างเช่น ได้อยู่บนเครื่องบินแล้วมองลงยังสนามรบเบื้องล่างแบบผู้มีอำนาจเหนือ และยังได้เห็นได้ทำอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยแม้แต่จะฝันถึง

ตามความคิดของวังเปา บัดนี้ถึงเวลาในการยกระดับการรบแบบกองโจรเป็นกองกำลังประจำการที่ถึงพร้อมด้วยอาวุธหนักอันทันสมัยแล้ว

ภาพแห่งความทรงจำในอดีตครั้งที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพฝรั่งเศสบดขยี้กำลังทหารเวียดนามราวมดปลวกได้ปรากฏเป็นจริงสำหรับเขาแล้ว

 

สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง

แต่แล้วข่าวความล้มเหลวของอเมริกาที่อ่าวหมู คิวบา ซึ่งวังเปาได้รับฟังจากเครื่องรับวิทยุคลื่นสั้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2504 ก็ทำให้เขาเกิดอาการ “ตาสว่าง” ขึ้นบ้าง

วังเปาตั้งคำถามด้วยอารมณ์หงุดหงิดกับที่ปรึกษาอเมริกันของเขาว่า เหตุใดอเมริกามหาอำนาจที่มีชัยในสงครามโลกถึง 2 ครั้ง 2 คราจึงล้มเหลวในการบุกขึ้นฝั่งของเกาะเล็กๆ

เขาไม่อยากเชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง และเริ่มหวั่นไหวเนื่องจากต้องอาศัยบารมีอเมริกาในความพยายามรวมผู้นำเผ่าต่างๆ เข้าเป็นพวก

เจ้าหน้าที่ซีไอเอที่ทำงานกับวังเปาก็งุนงงกับเหตุการณ์นี้เช่นเดียวกัน จึงไม่อาจอธิบายให้วังเปาเข้าใจได้

สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงเริ่มพัดผ่านเหนือทุ่งไหหิน

 

ชิงความได้เปรียบ

พฤษภาคม พ.ศ.2504 ใกล้การประชุมเจนีวา ฝ่ายประเทศลาวและเวียดนามเหนือเร่งกดดันโจมตีฐานที่มั่นของพวกม้งตลอดทั่วบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาว

การสู้รบเพื่อแย่งชิงพื้นที่เป็นไปอย่างดุเดือด

พวกม้งก็พยายามรักษาพื้นที่ในครอบครองไว้อย่างสุดกำลัง

ขณะที่ข้าศึกก็พยายามเข้ายึดพื้นที่ให้ได้มากที่สุดก่อนที่การเจรจาหยุดยิงจะมีขึ้น

 

คู่ต่อสู้ที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ

ในสายตาของผู้คนทั่วไปเว้นวังเปาและพวก สองฝ่ายดูจะไม่ใช่คู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อกันนัก

ทหารเวียดนามเหนือได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเยี่ยม ไม่สะทกสะท้านต่อการสูญเสียหากจำเป็นทั้งมีทักษะการรบที่เหนือกว่า

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คืออำนาจการยิงจากปืนใหญ่ ซึ่งแม้พวกม้งจะใช้ความพยายามอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ม้งเชี่ยวชาญการรบแบบ “ตีหัวเข้าบ้าน” ของสงครามกองโจร

วิถีปฏิบัติแบบทหารประจำการนั้นไม่มีอยู่ในหัวสมองของพวกเขา

หากเสียงปืนข้าศึกดังกว่าเสียงปืนฝ่ายตน ทหารม้งพร้อมวิ่งหนีเอาตัวรอดทันที

และหากพวกเขาเกิดนึกอยากออกป่าล่าสัตว์หรือกลับไปเยี่ยมลูกเมียที่มีหมู่บ้านตน ก็จะไม่มีสิ่งใดมาฉุดรั้งไว้ได้

รวมทั้งการนับถือผีสางและความเชื่อถือในโชคลางซึ่งยังฝังจิตฝังใจชาวม้งอย่างเหนียวแน่น

ขวัญกำลังใจของพวกเขาถูกแขวนอยู่กับความเชื่อในดวงชะตา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อ่าวหมูก็ถือว่าเป็นลางร้ายสำหรับพวกเขา

จากทางใต้ของทุ่งหิน ข้าศึกเริ่มเคลื่อนกำลังมุ่งสู่ป่าดอง กองกำลังที่ว่านี้เป็นกองกำลังผสมระหว่างเวียดนามเหนือและพวกประเทศลาว

ข้าศึกเปิดฉากโจมตีบริเวณสันเขาที่แบ่งแยกระหว่างป่าดองและทุ่งไหหินที่อยู่ต่ำลงไป

แรกๆ ทหารม้งที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นพยายามต้านทานไว้เพราะเชื่อมั่นว่าหากยังมีพวกอเมริกันหนุนหลังอยู่ พวกเขาจะไม่มีทางพ่ายแพ้

แต่เมื่อการระดมยิงด้วยปืนใหญ่จากฝ่ายข้าศึกหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ หน่วยกรีนเบเร่ต์ที่ประจำอยู่กับทหารม้งก็ตัดสินใจว่าถึงเวลาจะต้องทิ้งฐานที่มั่นป่าดองเพื่อแยกย้ายและไปรวมพลกันใหม่ในสถานที่อื่นห่างออกไปอีก

 

เสียป่าดอง

ทหารม้งไม่เชื่อกรีนเบเร่ต์แต่ยังยืนกรานปฏิบัติตามคำสั่งของบิลล์ แลร์ ที่ปล่อยให้การตัดสินใจเป็นของวังเปาแต่ผู้เดียว กระทั่งเมื่อการระดมยิงด้วยปืนใหญ่จากข้าศึกทวีความรุนแรงขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

วังเปาจึงตกลงใจเตรียมสละป่าดองแล้วแบ่งกำลังบางส่วนทยอยเดินเท้ามุ่งลงใต้สู่ที่ตั้งแห่งใหม่ในแนวหลังที่ผาขาวซึ่งอยู่ห่างไป 2 วันเดิน

3 พฤษภาคม พ.ศ.2504 มีการประกาศหยุดยิงชั่วคราวในลาวอย่างเป็นทางการก่อนเปิดประชุมกรุงเจนีวา แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติใดๆ ที่ป่าดองปืนใหญ่เวียดนามเหนือยังคงระดมยิงเข้าหาเป้าหมายทหารม้งหนักขึ้น และหนักขึ้น

13 พฤษภาคม พ.ศ.2504 ทหารเวียดนามเหนือเข้าโจมตียึดที่มั่นเมืองนัทที่อยู่ห่างไปทางตะวันออกของป่าดองประมาณ 100 กิโลเมตร แม้จะประสบการสูญเสียอย่างหนักแต่ทหารเวียดนามเหนือก็สามารถยึดไว้ได้

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 วันเดียวก่อนการเปิดเจรจาสันติภาพที่เจนีวา ข้าศึกเปิดฉากโจมตีป่าดองเต็มรูปแบบ ทหารเวียดนามเหนือสามารถยึดแนวสันเขาที่กั้นขวางฐานที่มั่นกับทุ่งไหหินเป็นผลสำเร็จโดยต้องแลกกับการสูญเสียอย่างหนัก

จากนั้นได้สร้างถนนใหม่ขึ้นหลายสายจากเมืองนัทเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธหนัก นอกจากนั้น ยังได้สร้างฐานปืนใหญ่ซุกซ่อนตัวอยู่ในแนวกำบังของสันเขาป้องกันการยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 4.2 นิ้ว อันเป็นอาวุธหนักชนิดเดียวที่ทหารม้งมีใช้

วังเปาพยายามป้องกันป่าดองอย่างเต็มกำลังความสามารถ จนในที่สุดเมื่อไม่มีทางเลือกวังเปาก็ตัดสินใจสละฐานที่มั่นที่ป่าดอง แต่ก็ยังดีที่มิได้สูญเสียกำลังพลมากนัก

ทว่าขวัญกำลังใจของชาวเขาถูกสั่นคลอนลงอย่างมาก แม้ยังคงมีการช่วยเหลือจากอเมริกัน แต่พวกเขาก็ยังมิใช่คู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกับ “เครื่องจักรสงคราม” อย่างทหารเวียดนามเหนือ

 

ฟ้าผ่าวังเปา

27 มิถุนายน พ.ศ.2504 เคนเนดี้สั่งให้ซีไอเอยุติการขนส่งอาวุธทางอากาศแก่พวกม้ง เว้นข้าวสารและเสบียงอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาวุธ ขณะที่การเจรจาที่เจนีวายังดำเนินต่อไป อเมริกาต้องการให้ทั่วโลกเข้าใจว่าการช่วยเหลือพวกม้งของอเมริกาเป็นการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพภัยสงครามเท่านั้น

คำสั่งของเคนเนดี้ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากไตร่ตรองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับส่วนที่เหลือของเอเชียรวมทั้งผลกระทบต่อกำลังทหารของอเมริกาในทวีปยุโรปซึ่งทวีความตึงเครียดขึ้น เคนเนดี้ล้มเลิกความคิดที่จะส่งทหารประจำการเข้าลาว แล้วมุ่งไปที่การสถาปนาความเป็นกลางในลาว

แต่หากภายหลังเวียดนามเหนือฝ่าฝืนข้อตกลงความเป็นกลาง ก็คงไม่สายเกินไปที่จะแก้เกม และที่จะมีผลให้โฉมหน้าของความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลก็คือ การยกระดับความสำคัญในการต่อสู้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไปที่เวียดนามใต้ซึ่งมีความพร้อมกว่าลาว

ในเวียดนามใต้มีทั้งท่าเรือ ถนนหนทาง และทางรถไฟ รวมทั้งทหารเวียดนามใต้ก็มีความเป็นทหารอาชีพกว่า

และที่สำคัญ เคนเนดี้ยังเชื่อว่า โซเวียตก็ไม่มีความต้องการจะส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงในลาวเช่นเดียวกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก “ผลาญชาติ” โรเจอร์ วอร์นเนอร์/ไผท สิทธิสุนทร แปล