จาก PodCast ถึง ClubHouse ยุคทองของ ‘สื่อเสียง’ แต่ WHO เตือน ควร ‘ถนอมหู’ ไว้บ้าง / บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก PodCast ถึง ClubHouse

ยุคทองของ ‘สื่อเสียง’

แต่ WHO เตือน ควร ‘ถนอมหู’ ไว้บ้าง

 

ผมเคยเขียนถึง “ยุคทองของสื่อเสียง” มาแล้วครั้งหนึ่งใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้ ชื่อตอนว่า “จาก Podcast ถึง Radio Garden “วิทยุ” สื่อสุดท้ายยุค Disruption”

ในห้วงเวลาที่ Podcast กำลังได้รับความนิยมสูงสุด และเว็บไซต์รวมคลื่นวิทยุโลกอย่าง Radio Garden ก็ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในแวดวง DJ ระดับสากล

แต่ทำไปทำมา อยู่ๆ โลกของเราก็ได้ให้การต้อนรับ ClubHouse ที่เปิดตัวอย่างฮือฮาเมื่อต้นปี และความนิยมก็กำลังพุ่งกระฉูด ยื้อไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ อยู่ในเวลานี้

การที่ Podcast ได้รับความนิยมก็ดี การดำรงอยู่ของ Radio Garden ก็ดี หรือการขึ้นสู่จุดสูงสุดในปัจจุบันของ ClubHouse ก็ดี ชี้ให้เห็นว่า “เสียง” เป็น “สื่ออมตะ” ที่ “ฆ่าไม่ตาย”

 

ประการหนึ่ง ต้องยอมรับว่า “การฟัง” เป็น “ช่องทางรับสื่อ” ซึ่ง Classic ที่สุด

เพราะ “การฟัง” เป็นทักษะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งกำเนิดขึ้นก่อนการพูด การอ่าน และการเขียน

นอกจากนี้ “การฟัง” ยังเป็น “ทักษะการใช้ภาษา” ที่มนุษย์เรา “ใช้มากที่สุด” ในชีวิตประจำวัน และเป็นทักษะทางการสื่อสารที่เป็น “พื้นฐานในการรับสาร” ที่สำคัญ

ประการหนึ่ง ต้องยอมรับว่า “สื่อเสียง” ระดับ “ตัวพ่อ” นั้น ต้องยกให้ “วิทยุ” ซึ่งตีคู่มากับ “สื่อรุ่นพี่” คือ “สิ่งพิมพ์” ในศตวรรษที่ 19 แต่เพราะยุคนั้น คนไม่รู้หนังสือ “อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้” มีมาก “วิทยุ” จึงได้รับความนิยมในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

และเพราะรากฐานของ “สื่อเสียง” มีอิทธิพลสูงมากในยุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะ นิทานปรัมปรา และการกระจายข่าวสารแบบ “ปากต่อปาก” ก็เป็น “การสื่อสารที่เก่าแก่” ที่ได้ส่งทอดประสิทธิภาพต่อมาถึงเทคโนโลยี “วิทยุ” ในที่สุด

แม้ในปัจจุบัน ที่ก็ยังมีเกษตรกรและชาวประมง ซึ่งทุกเช้าค่ำ ต้องคอยเฝ้าฟัง “ข่าวพยากรณ์อากาศ” เพื่อวางแผนการทำมาหากิน ส่วนมากก็จาก “สื่อวิทยุ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสพ “สื่อเสียง” อย่าง “วิทยุ” หรือ PodCast และปัจจุบันก็คือ ClubHouse ทำให้เรามีสมาธิมากกว่า สำหรับทำสิ่งต่างๆ หรืองานอื่นๆ “ไปด้วย” เช่น ขับรถ รีดผ้า ทำกับข้าว อ่านหนังสือ ทำการบ้าน รดน้ำต้นไม้ ล้างห้องน้ำ ฯลฯ

เพราะเราคง “ขับรถ” ไป “ดู YouTube” ไป “ไม่ได้” นอกจากจะผิดกฎหมายจราจรแล้ว ยังอันตราย เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย แต่ถ้าเราเสพข่าวสารโดยใช้วิธี “ฟัง” เช่น “ฟังวิทยุ” เราก็สามารถ “ขับรถ” ไปด้วย “ได้”

“รีดผ้า” ก็เช่นกัน “ทำกับข้าว” ก็เช่นกัน เพราะกิจกรรมในชีวิตประจำวันบางอย่าง “ตาดู” ไปด้วยทำกิจกรรมไปด้วย “ไม่ได้” เพราะจะเกิดอันตราย แต่ถ้าใช้เพียง “หูฟัง” แล้วทำกิจกรรมดังกล่าวไปด้วยนั้น “ได้ครับ”

อย่างไรก็ดี แม้ว่ายุคนี้จะเป็น “ยุคทองของสื่อเสียง” ไม่ว่าจะเป็น “วิทยุ” ที่ยังคงมีการดำเนิน “ธุรกิจวิทยุ” กันอยู่ และความรุ่งเรืองของ PodCast ที่ก็ยังไม่เสื่อมความนิยมลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเฟื่องฟูของ ClubHouse ในปัจจุบัน

และแม้ว่า หลายท่านจะเสพ “สื่อเสียง” จาก “ลำโพง” ไม่ว่าจะเป็น ลำโพงมือถือ ลำโพงคอมพิวเตอร์ ลำโพงโทรทัศน์ หรือลำโพงวิทยุ ทว่า ก็ยังมีอีกหลายท่านที่นิยมเสพ “สื่อเสียง” ด้วยการ “เสียบอุปกรณ์” ไว้ที่ “หู” หรือที่เรียกกันว่า “หูฟัง”

ซึ่งผ่านมา มีข้อมูลจากงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ว่า การ “เสียบหูฟัง” เป็นประจำ จะทำให้หูของเราชินกับความดันคลื่นเสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเร่งระดับเสียง “หูฟัง” ติดต่อกันเป็นเวลานาน ความดันของคลื่นเสียงจะทำลายเซลล์ประสาทหู และเซลล์ขนในหู

ส่งผลต่อระบบประสาทการได้ยิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะทำให้เซลล์ประสาทรับสัญญาณในหูเสื่อมลงทีละน้อย และเสื่อมลงเรื่อยๆ ส่งผลให้เราสูญเสียการได้ยิน สะสมวันแล้ววันเล่า จนกระทั่งเกิดอาการ “หูตึง” หรือ “หูหนวก” ในที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ “ติดหูฟัง” ไม่ว่าจะเป็นการ “ฟังเพลง” หรือใช้ SmallTalk ในการคุยโทรศัพท์ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง หรือทั้งวัน ทุกวี่วัน

ยิ่งเร่ง Volume เสียงให้ดังมากเท่าไหร่ ผนวกกับความถี่ของการ “เสียบหูฟัง” ที่ยิ่งใช้เป็นประจำ หรือบ่อยครั้งมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเพิ่มโอกาสของการ “หูตึง” และ “หูหนวก” ให้เกิดขึ้นมากกว่าคนที่ “ไม่เสียบหูฟัง” มากขึ้นเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเร่ง Volume เสียงให้ดังกว่าเกินกว่า 105 Decibel จะส่งผลให้ “หูตึง” และ “หูหนวก” มากกว่าคนที่ “ฟังเสียง” ในระดับปกติ คือไม่เกิน 85 Decibel

ทั้งนี้เนื่องเพราะ “หูมนุษย์” นั้น มีความทนต่อเสียงในขอบเขตที่จำกัดนั่นเองครับ

 

ล่าสุด “องค์การอนามัยโลก” หรือ WHO (World Health Organization) ได้ออกโรงมาเตือนภัยสุขภาพ เกี่ยวกับปัญหาการได้ยินแล้ว

ดร. Tedros Adhanom ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่า ในปี ค.ศ.2050 ประชากรโลกมากถึง 1 ใน 4 อาจเผชิญกับ “ปัญหาการได้ยิน”

“องค์การอนามัยโลกขอเตือนว่า ในอีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า ผู้คนทั่วโลกราว 25% อาจเผชิญกับปัญหาการได้ยิน” ดร. Tedros Adhanom กระชุ่น

“โดยในปัจจุบัน ประชากรโลกราว 1 ใน 5 หรือ 20% กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน WHO คาดว่า ในปี ค.ศ.2050 จะมีผู้คนที่สูญเสียการได้ยินเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านคน” ดร. Tedros Adhanom กล่าว และว่า

“คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก หรือราวและ 700 ล้านคน ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องได้รับการป้องกันโดยด่วน”

ดร. Tedros Adhanom บอกต่อไปว่า ประเด็น “ปัญหาการได้ยิน” ในรายงานของ “องค์การอนามัยโลก” ดังกล่าว ครอบคลุมสาเหตุที่หลากหลาย

“ปัญหาการได้ยิน ที่เราพูดถึงนั้น ครอบคลุมทั้งจากสาเหตุการติดเชื้อในหู หรือภาวะจากโรคต่างๆ กระทั่งความบกพร่องทางการได้ยินมาแต่กำเนิด” ดร. Tedros Adhanom ชี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียการได้ยินจากมลภาวะทางเสียง และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อปัญหาการได้ยิน อาทิ การใช้ “หูฟัง” เป็นประจำ และการเร่ง “เสียงหูฟัง” เกินมาตรฐาน

 

อย่างไรก็ดี ปัญหาทั้งหมดนี้ เราสามารถ “ป้องกันได้” ดร. Tedros Adhanom กล่าว และว่า

WHO จึงขอเสนอ และเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลก ออกมาตรการรักษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการป้องกัน “ปัญหาการได้ยิน”

ดร. Tedros Adhanom บอกว่า “เราประเมินเบื้องต้นว่า อาจต้องมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยราว 1.33 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือราว 40 บาทต่อคนต่อปี”

หากรัฐบาลต่างๆ ไม่เร่งผลักดันการลงทุนเพื่อการรักษา และการป้องกันดังกล่าวเสียแต่เนิ่นๆ คือ ณ “วันนี้” ในปี ค.ศ.2050 ประชากรโลก 1 ใน 4 ต้องเผชิญกับ “ปัญหาการได้ยิน” อย่างแน่นอน

“และก็เป็นไปได้ว่า ‘ปัญหาการได้ยิน’ อาจสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีเลยทีเดียว” ดร. Tedros Adhanom ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ทิ้งท้าย