ฝ่ายต้านรัฐประหารเมียนมาเริ่มก่อตั้งรัฐบาลและกองทัพใหม่ (1) / เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ฝ่ายต้านรัฐประหารเมียนมาเริ่มก่อตั้งรัฐบาลและกองทัพใหม่ (1)

 

“พวกนายพลได้ประกาศสงครามกับเราและกองทัพบกก็ฉวยริบเอาอำนาจที่จะเข่นฆ่าคน! ฉะนั้น เราจำต้องต่อสู้กับรัฐบาลเถื่อนชุดใหม่ที่เกิดจากรัฐประหารและก่อตั้งทางเลือกทางการเมืองใหม่ขึ้นมา!”

ข้อความข้างต้นเป็นตอนหนึ่งในคำให้สัมภาษณ์แก่บรูโน ฟิลิป ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เลอมงด์ของฝรั่งเศส โดยผู้ใช้นามว่า “ด๊อกเตอร์ซาซ่า” (Doctor Sasa) นักการเมืองชนชาติชีนและนายแพทย์ชาวเมียนมาผู้เพิ่งได้รับมอบหมายให้เป็น “ผู้แทนพิเศษ” ประจำองค์การสหประชาชาติของคณะกรรมการต่อต้านทหารของสภาแห่งสหภาพเมียนมาที่ได้รับเลือกตั้งชุดล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนศกก่อน ซึ่งเรียกตัวเองว่า Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw – CRPH ด๊อกเตอร์ซาซ่ายังให้คำมั่นว่าคณะกรรมการ CRPH จะก่อตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว” ใต้ดินขึ้นเร็วๆ นี้ (“En Birmanie, la r?sistance se structure”, Le Monde, 9 Mars 2021, p. 2)

และแล้ว CPRH ใต้การนำของสมาชิกสภาแห่งสหภาพเมียนมาสังกัดสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) ซึ่งมีออง ซาน ซูจี เป็นผู้นำ ก็ได้ประกาศแต่งตั้ง Mahn Win Khaing Than อดีตประธานสภาชาติพันธุ์ของเมียนมาให้เป็นรองประธานาธิบดีรักษาการเมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคมศกนี้ (https://asia.nikkei.com/Spotlight/Myanmar-Coup/Myanmar-provisional-government-appoints-leader-to-counter-junta)

องค์การต่อต้านเผด็จการทหารดังกล่าวซึ่งชาวเมียนมาทั่วไปพากันเรียกขานตามชื่อย่อว่า CRPH (คำว่า Pyidaungsu Hluttaw ในชื่อเต็มขององค์การเป็นคำเรียกขานสภาแห่งสหภาพเมียนมาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรกับสภาชาติพันธุ์) กำลังพยายามรณรงค์ทั่วประเทศเพื่อดึงเอาเหล่าเจ้าหน้าที่ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นระดับต่างๆ ตั้งแต่เทศบาล อำเภอถึงเขตปกครองมาเข้าข้างตน

บัดนี้ CRPH ตั้งหลักปักฐานได้ในเมืองและอำเภอจำนวนหนึ่งแล้ว

ด๊อกเตอร์ซาซ่า ผู้แทนพิเศษประจำสหประชาชาติของคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพเมียนมา & Mahn Win Khaing Than ผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีรักษาการแห่งรัฐบาลชั่วคราว

รัฐบาลชั่วคราว

ด๊อกเตอร์ซาซ่าเชื่อว่าถึงแม้รัฐบาลเถื่อนจะใช้ความรุนแรงสังหารผู้ชุมนุมประท้วงระบอบเผด็จการไปแล้วกว่า 50 คน และจับกุมไปอีกราว 1,700 คนก็ตาม ทว่าในสภาพที่เมียนมาชะงักงันเป็นอัมพาตไปแทบทั้งประเทศด้วยการนัดหยุดงานทั่วไปเช่นนี้ ฝ่ายทหารกำลังจะคุมสถานการณ์ไม่อยู่ ทุกวันนี้ โรงพยาบาลของรัฐเอย ทางรถไฟเอย ธนาคารเอย สนามบินเอย และองค์การรัฐทั้งหลายเอยพากันหยุดดำเนินการเกือบหมด หมอซาซ่าประกาศว่า :

“เราจะประกาศก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวเร็วๆ นี้ ขั้นตอนที่สองถัดจากนั้น เราจะก่อตั้งกองทัพสหพันธรัฐซึ่งจะผนึกรวมชนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ประกอบเป็นประเทศเมียนมาเข้าไว้ด้วยกัน”

หมอซาซ่าไม่เปิดเผยว่าเขาให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากที่ใด ทั้งนี้เพราะตั้งแต่วันเกิดรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ศกนี้เป็นต้นมา เขาก็ต้องปลอมเป็นโชเฟอร์แท็กซี่แล้วหลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ในสถานที่ปิดลับ

สมาชิก CRPH ซึ่งเดิมทีประกอบด้วยสมาชิกสภาสังกัดพรรค NLD 15 คน และต่อมาขยายไปรวมสมาชิกสภาสังกัดพรรคชาติพันธุ์ส่วนน้อยอีก 2 คนก็ต้องพากันหลบหนีเช่นกัน

ส่วนรัฐมนตรีรักษาการสี่คนที่เพิ่งถูกระบุชื่อในคณะกรรมการ CRPH ก็ต้องลงไปเคลื่อนไหวใต้ดิน

พวกเขาทั้งหมดเสี่ยงกับโทษประหารด้วยข้อหา “ทรยศ” ชาติ หากถูกรัฐบาลทหารจับกุมได้

“ผมขอเรียกร้องความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศให้สนับสนุนเราทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผมขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศกำหนดมาตรการลงโทษที่เล็งเป้าใส่พวกนายพลที่กุมอำนาจอยู่

“ผมขอวิงวอนประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสให้ช่วยเหลือพวกเราต่อไปข้างหน้า ให้สนับสนุนทางทหารแก่กองทัพสหพันธรัฐของเราในอนาคต ผมขอเรียกร้องบริษัทโตตาลซึ่งทำธุรกิจอยู่ในเมียนมาด้วยว่าอย่าได้ร่วมมือทางเศรษฐกิจกับระบอบทหารอีกต่อไป”

ส่วนในพื้นที่จริง ระดับการปรากฏอยู่และแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลออกไปของ CRPH ในขั้นแรกเริ่มนี้ยังยากจะระบุชัด จากคำบอกเล่าทางโทรศัพท์ของชาวเมียนมาและชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์จำนวนหนึ่ง

“รัฐบาลประชาชน” คู่ขนานที่ CRPH ยืนยันว่าได้ก่อตั้งขึ้นใต้ดินแล้วนั้นมีฐานะความสำคัญแตกต่างหลากหลายกันไปแล้วแต่พื้นที่

 

สมัชชาลับของฝ่ายค้าน

บนหน้าเฟซบุ๊กที่ CRPH ได้สร้างขึ้น (www.facebook.com/crph.official.mm/) พวกเขากล่าวอ้างว่าได้เข้าควบคุมอำเภอสิบกว่าแห่งในเขตสะกาย (ภาคกลาง) และเมืองต่างๆ 8 เมืองรอบกรุงตองยี อันเป็นเมืองหลวงของรัฐฉานทางตะวันออก ว่ากันว่าพื้นที่เหล่านี้ทั้งหมดตกอยู่ใต้อำนาจหน้าที่ของ CRPH แล้วทุกวันนี้ พวกเขายังอ้างอีกว่า 82% ของอำเภอทั้งหลายในเขตมัณฑะเลย์ได้ประกาศตัวจะเชื่อฟังคำชี้นำของ CRPH ด้วย พร้อมทั้งยืนยันว่ามี 34 อำเภอจากทั้งหมด 45 อำเภอในเขตย่างกุ้งที่ได้ก่อตั้ง “คณะปกครองของประชาชน” หรือนัยหนึ่งสมัชชาลับของฝ่ายค้านขึ้นมาแล้ว

หมอซาซ่าระบุว่า : “เราได้ส่งสารและจดหมายถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งหลายเพื่อเรียกร้องให้พวกเขาเข้าร่วมกับเรา และอย่าได้เชื่อฟังคำสั่งของทางการรัฐประหารอีกต่อไป”

เขามองว่าการตกปากรับคำเข้าร่วม “การก่อกบฏ” ครั้งนี้เป็นลู่ทางบ่งชี้ “ความสามัคคีในอนาคตของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งปวงเพื่อต่อต้านกองทัพ”

อย่างไรก็ตาม โครงการของหมอซาซ่าที่จะรวบรวมกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เท่าที่ปรากฏถึง 135 กลุ่มในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้าไว้ใต้ร่มธงเดียวกันดังกล่าวออกจะเล็งผลเลิศอยู่มากในสภาพที่ไม่ว่าจะเป็นระบอบทหารหรือรัฐบาลประชาธิปไตยที่ได้รับเลือกตั้งมาหลังพม่าได้เอกราชในปี ค.ศ.1962 ต่างก็ขาดสมรรถภาพเหมือนๆ กัน

(ต่อสัปดาห์หน้า)