เมื่อ ‘รัฐบาล’ คิดเผด็จศึก ‘ม็อบ’ ด้วยแผน ‘บันได 3 ขั้น’ / เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

ปรัชญา นงนุช

 

เมื่อ ‘รัฐบาล’ คิดเผด็จศึก ‘ม็อบ’

ด้วยแผน ‘บันได 3 ขั้น’

 

ผ่านมา 1 ปี ที่ “บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และ รมว.กลาโหม ต้องกรำศึกกับการชุมนุมทางการเมืองที่ใหญ่และยืดเยื้อที่สุด นับตั้งแต่ยุค คสช.ยึดอำนาจ

จากการจัด “แฟลชม็อบ” ตามมหาวิทยาลัย เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคอนาคตใหม่ ตอนต้นปี 2563

หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรกซาลง กระแสการประท้วงรัฐบาลและอำนาจรัฐโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็เริ่มกระจายตัว

ทั้งการชูป้ายประท้วงนายกรัฐมนตรีโดยแกนนำกลุ่มเยาวชนภาคตะวันออกเพื่อประชาธิปไตยที่ จ.ระยอง

การจัดการชุมนุมโดยกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีผู้ขึ้นไปปราศรัยชู 3 ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน บนเวที

มาถึงการชุมนุมตอนต้นเดือนสิงหาคม เมื่อ “ทนายอานนท์ นำภา” สวมชุดพ่อมดน้อย “แฮร์รี่ พอตเตอร์” เพื่อปราศรัยในประเด็น “ปฏิรูปสถาบัน” อย่างจริงจัง ซึ่งถือเป็น “จุดตัดสำคัญ” หรือการ “จุดไฟ-จุดแนวคิด” ของม็อบคนรุ่นใหม่ระลอกนี้

หนึ่งสัปดาห์ถัดไป “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ก็ได้จัดกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พร้อมชู 10 ข้อเสนอใน “การปฏิรูปสถาบัน” นับเป็นการเปิดบทบาทของ “รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” และ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์” อย่างเป็นทางการ

ก่อนที่กลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” ที่ยกระดับเป็น “ประชาชนปลดแอก” จะประมวลข้อเสนอต่อสังคมเป็น “3 ข้อเรียกร้อง” (หยุดคุกคามประชาชน – ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ – ยุบสภา) “2 จุดยืน” (ไม่เอารัฐประหาร – ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ) และ “1 ความฝัน” (ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ)

เข้าเดือนกันยายน แนวร่วมธรรมศาสตร์จัดการชุมนุมใหญ่ข้ามคืนที่ “สนามหลวง” พร้อมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะดังกล่าวเป็น “สนามราษฎร”

ก่อนที่อุณหภูมิการเมืองในเดือนตุลาคมจะร้อนระอุ เริ่มจากวันที่ 14 ตุลาคม ที่เครือข่ายการชุมนุมหลายกลุ่มในนาม “คณะราษฎร 63” ตั้งเป้าจะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล

ทว่ากลับเกิดเหตุการณ์ “ไม่คาดคิด” ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม.

ความตึงเครียดยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อตำรวจฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของเยาวชนบริเวณแยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม จนการชุมนุมขยายวงกว้าง และนายกฯ ต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

นับจากนั้น การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของ “ม็อบคนรุ่นใหม่” ก็เคลื่อนตัวเข้าสู่จุดแหลมคมยิ่งขึ้น ทั้งในเชิงสาระของคำปราศรัยและการเลือกพื้นที่รวมตัว

นำมาสู่มาตรการ “ตั้งรับ-รุกกลับ” ของฝ่ายรัฐ ผ่านการปรากฏตัวของ “ตู้คอนเทนเนอร์” หรือ “ทหารนอกเครื่องแบบ” รวมถึงการขู่จะใช้ “กฎหมายทุกฉบับ” ของนายกฯ

“ที่ผ่านมาอาจมีการอะลุ้มอล่วยกันบ้าง แต่ขณะนี้เกินเลยไปมากแล้ว จึงคิดว่าสิ่งที่ผมรับมาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เขายอมรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ ดังนั้น เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่และเป็นเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานตามหน้าที่อยู่แล้ว

“ดังนั้น ใครที่ไม่ทำความผิดก็ไม่น่าจะเดือดร้อน แต่คนที่ดูอยู่เขาก็จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งก็มีการร้องทุกข์กล่าวโทษในกฎหมายฉบับนี้ (ม.112) มาจำนวนมาก จึงต้องฟังเขาด้วย ไม่ใช่ฟังข้างใดข้างหนึ่ง”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งหลายคนมองว่ามีความสืบเนื่องกับคำสัมภาษณ์เมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งนายกฯ เคยระบุว่า

“สำนึกไว้ด้วยว่า มาตรา 112 ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดี และทำไมถึงมีคนฉวยโอกาสตรงนี้ขึ้นมา ทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ กำชับมากับผมโดยตรง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการใช้ 112 ทำไมไม่คิดตรงนี้ ลามปามกันไปเรื่อย”

มีบางฝ่ายวิเคราะห์ว่านายกรัฐมนตรีนั้นกล่าวถึง ม.112 ล่วงหน้า 5-6 เดือน ก่อนจะมีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด

นี่จึงอาจเป็นการ “ขุดบ่อล่อม็อบ” ที่รัฐบาลปล่อยให้สถานการณ์ต่างๆ สุกงอม รวมทั้งใช้เวลาในการติดตามวิเคราะห์ “โครงสร้างม็อบทั้งระบบ” เช่น ผู้นำความคิด มาสเตอร์มายด์ และฝ่ายสนับสนุนอื่นๆ

 

เดือนธันวาคม 2563 สังคมเริ่มได้ทราบข่าวความไม่เป็นเอกภาพใน “กลุ่มการ์ด” ของม็อบ นี่เป็น “จุดอ่อน” หนึ่ง ที่ฝ่ายความมั่นคงสามารถใช้แนวทางจรยุทธ์ “เจาะระบบม็อบ” ได้สำเร็จ

ขึ้นปีใหม่ 2564 การชุมนุมใหญ่ถูกเว้นวรรคไป แต่มีกลุ่ม “รีเดม” ออกมาระดมพลผ่านทาง “เทเลแกรม” แบบไร้แกนนำปราศรัย ไร้การจัดตั้งองค์กรชัดเจน และไร้การจัดระบบม็อบ

ขณะที่ “แกนนำคณะราษฎร” และแนวร่วมอื่นๆ ต้องทยอยขึ้นศาล และหลายคนไม่ได้รับประกันตัว โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่ม “รีเดม” ที่ไร้แบบแผน กับกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งใช้ท่าทีแบบดุดันยิ่งขึ้น นำไปสู่การใช้ “กระสุนยาง” และปฏิบัติการ “สลายการชุมนุมเต็มรูปแบบ” ถึงสองครั้งสองคราว

แม้ความรุนแรงจะเกิดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏขึ้นก็ทำให้มี “กระแสลบ” ต่อการชุมนุมอยู่ไม่น้อย

กระทั่งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่หลบฉากไปนาน ก็ได้ออกมาระดมพลบริเวณแยกราชประสงค์ โดยแกนนำที่ขึ้นเวทีปราศรัยได้แก่ “ครูใหญ่-อรรถพล บัวพัฒน์” “มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล” และ “เบนจา อะปัญ”

น่าสนใจว่ากิจกรรมคราวนี้มิได้นำไปสู่การสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง แม้จะมีไฮไลต์อยู่ตรง “การปราศรัยอันแหลมคม” ครั้งใหม่ของ “มายด์ ภัสราวลี”

ส่วนหนึ่งคงเพราะการเลือกสถานที่ชุมนุม ซึ่งเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมืองและไม่ได้เป็น “จุดยุทธศาสตร์ล่อแหลม” อีกส่วนคงเพราะนี่เป็นการชุมนุมอย่างมีระบบแบบแผนชัดเจน

ล่าสุด อัยการยังได้เลื่อนนัดฟังคำสั่งฟ้องคดี ม.112 จากการชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี ที่อรรถพล ภัสราวลี และเบนจา เป็นผู้ต้องหาอยู่ด้วย ออกไป

แต่ในเวลาใกล้เคียงกัน สังคมก็ได้พบเห็นปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าเคลียร์พื้นที่ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ข้างทำเนียบรัฐบาล อย่างถอนรากถอนโคน ณ ช่วงเช้ามืดจนถึงช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม

ในสถานการณ์ที่ “แกนนำม็อบ” ยังถูกจับกุมตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ว่ากันว่าทั้งหมดนี้อาจเป็นปฏิบัติการ “บันได 3 ขั้น” ที่เริ่มจากปฏิบัติการ “ขุดบ่อล่อม็อบ” ตามมาด้วย “จรยุทธ์เจาะฐาน” และปิดฉากด้วยการ “กระชับพื้นที่” ซึ่งต้องจบสิ้นภายในต้นเดือนเมษายน

เพราะงานนี้ “เขาลุยแน่”!!!