คุยกับคนเลี้ยงมด มองว่าเป็นสัตว์สังคม มีระบบชั้นวรรณะ บางรังขายได้ถึงหลักแสน!

เปลี่ยนผ่านบุญญฤทธิ์ บัวขำ

เรื่องของ ‘มด’จาก ‘สัตว์รุกราน’ สู่ ‘สัตว์เลี้ยง’ ราคาแพง!

ในชีวิตประจำวัน เราอาจจะมองว่า “มด” เป็นเพียงแค่แมลงชนิดหนึ่งที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนยังอาจมองว่า “มด” เป็นสัตว์รุกรานที่สร้างปัญหาให้คนไม่รู้จบ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว “มด” คือ “สัตว์เลี้ยง” ที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย แถมยังสร้างรายได้จากการซื้อ-ขายได้ด้วย

โดย “มด” บางชนิดมีมูลค่าร่วมหนึ่งแสนบาทเลยทีเดียว ดังนั้น ถ้าเราลองศึกษาวิถีชีวิตของสัตว์ชนิดนี้ เราอาจจะเริ่มสนใจและอยากนำ “มด” สายพันธุ์ต่างๆ มาเลี้ยง

เหมือนที่ “กานต์ รมยาสัย” หนุ่มวัย 30 ปี ยอมผันตัวมาเป็น “คนเลี้ยงมด”

“การเลี้ยงมด” เพิ่งเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเมื่อไม่นานมานี้ หากค้นหาข้อมูลจะพบว่ามีคนศึกษาการเลี้ยงมดและเริ่มเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างจริงจังมาประมาณ 10 กว่าปีเท่านั้น

เท่าที่มีหลักฐานอัพโหลดลงบนโซเชียลมีเดีย “คนเลี้ยงมด” เจ้าแรกๆ คงหนีไม่พ้นยูทูบเบอร์ช่อง “AnsCanada” ซึ่งได้ทำคลิปบอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตของมดแบบครบวงจร กระทั่งมีผู้ติดตามช่องรวม 4 ล้านคน และมียอดเข้าชมมากกว่า 440 ล้านครั้ง

กลับมาที่เมืองไทย “กานต์ รมยาสัย” ถือเป็นหนึ่งใน “คนเลี้ยงมด” รายแรกๆ ของบ้านเรา และเป็นเจ้าของเพจ “คนเลี้ยงมด : Ant Keeping Thailand” ซึ่งมีผู้ติดตามราวๆ 1 แสนคน

กานต์สนใจเลี้ยงมดมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เพิ่งเริ่มศึกษาและเลี้ยงอย่างจริงจังมาประมาณ 4 ปี

เขาเล่าว่า ช่วงแรกๆ เพื่อนฝูงมักจะถามว่า “บ้าหรือเปล่า? ไม่มีอะไรเลี้ยงเหรอ? ถึงได้มาเลี้ยงมด”

แต่มิตรสหายเหล่านั้นอาจไม่ทราบว่ามดคือ “ตัวเลือก” ที่น่าสนใจมากๆ หากคุณอยากมีสัตว์เลี้ยงของตนเอง

“เริ่มต้นคืออยากจะเห็นว่า (โลก) ใต้ดินของมดเนี่ย เขาทำรังยังไง? เขามีวิถีชีวิตยังไง? เขาเลี้ยงไข่เลี้ยงตัวอ่อนยังไง? เพราะว่ามดทั่วๆ ไปที่เราเห็นบนดินเนี่ย มักจะเป็นมดงานที่ออกเดินหาอาหาร มันไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ

“แต่โลกจริงๆ ของมดเนี่ย มันอยู่ใต้ดิน มันเป็นเมืองเมืองหนึ่งที่อยู่ใต้ดิน เราจึงจำลองโลกของมดที่อยู่ใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน เพื่อที่เราจะศึกษาวิธีการใช้ชีวิตของเขา”

กานต์เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเลี้ยงมดของตนเอง

การจำลอง “โลกของมด” หรือ “รังมด” ขึ้นมาเพื่อใช้เลี้ยงมดนั้น สามารถสร้างได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเลี้ยงใน “หลอดแก้ว” หรือจะเป็น “กล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่” ก็ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและขนาดของรังมดนั้นๆ เป็นหลัก

โดยองค์ประกอบหลักในการจำลองโลกของมดคือ

1. ส่วนของรังเป็นที่อยู่ของมดทุกตัวรวมทั้งนางพญา, ไข่ และตัวอ่อน ซึ่งผู้เลี้ยงมักจะใช้หลอดแก้วทำเป็นรัง โดยช่วงท้ายหลอดจะกั้นด้วยทรายเพื่อให้อุ้มน้ำเอาไว้ทำความชื้นเข้าสู่ภายในหลอด และมีทรายเป็นพื้นผิวด้านบนเพื่อให้มดรู้สึกเหมือนอยู่ในธรรมชาติ

และ 2. พื้นที่ใช้สอยหรือที่คนเลี้ยงมดเรียกว่า “outworld” ซึ่งจะใช้เป็นพื้นที่หาอาหารและทิ้งขยะของมด

“มดหนึ่งรังเนี่ย หลักๆ จะประกอบไปด้วยนางพญามด มดงาน มดทหาร ไข่มด ตัวอ่อนมด ดักแด้มด หน้าที่หลักๆ ของนางพญามดคือออกไข่ เพื่อสร้างประชากรมดงานให้มากขึ้นเรื่อยๆ

“ส่วนหน้าที่ของมดงานคือดูแลทั่วๆ ไป อย่างเช่น ให้อาหารตัวอ่อน ทำความสะอาดนางพญา ป้อนอาหารนางพญา ออกไปหาอาหารข้างนอกรัง เดินลาดตระเวน

“ส่วนหน้าที่ของมดทหารคือปกป้องรัง เพราะว่ามดทหารเนี่ยเขาเป็นมดที่มีขนาดใหญ่กว่ามดงานทั่วไป สามารถต่อสู้กับศัตรูที่ตัวใหญ่กว่าตัวเขาได้”

กานต์พูดถึงโครงสร้าง-การทำหน้าที่ในโลกของมดอย่างละเอียด

 

“หนุ่มนักเลี้ยงมด” อธิบายเพิ่มเติมว่า หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามดมีอายุขัยยาวนานถึง 20 ปี แต่ห้ามให้นางพญาตายเด็ดขาด เพราะถ้าหากนางพญามดเสียชีวิตไป ก็เท่ากับว่าโลกทั้งใบในรังนั้นจะถึงกาลอวสานลงด้วย เพราะไม่มี “แม่มด” ที่จะมาออกไข่เพิ่มปริมาณมดงานได้อีก

ทั้งนี้ เราไม่สามารถหา “นางพญาตัวอื่น” มาทดแทน “นางพญาตัวเดิม” ได้ เนื่องจากบรรดาสมาชิกในรังมดหนึ่งรังจะสื่อสารกันด้วย “สารฟีโรโมนเฉพาะ” เท่านั้น

หน้าที่สำคัญของ “คนเลี้ยงมด” จึงได้แก่การดูแลนางพญามดให้ดีในช่วงแรกๆ และหากผ่านพ้นไปถึงช่วงที่นางพญาออกไข่มดงานได้แล้ว ก็แสดงว่ามีโอกาสรอดชีวิตค่อนข้างสูง

สำหรับสาเหตุที่คนไทยรู้จัก “มด” เพียงแค่มดดำ มดแดง และมดตะนอย ก็เพราะมดเหล่านั้นมีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด

แต่จริงๆ แล้วมดในโลกนี้มีไม่ต่ำกว่า 15,000 สายพันธุ์ และในพื้นที่ประเทศไทยเองก็มีไม่ต่ำกว่า 1,000 สายพันธุ์ ยังไม่นับรวมกับมดที่ถูกค้นพบแล้วแต่ยังไม่ได้ตั้งชื่ออีกกว่า 600 สายพันธุ์ โดยมดแต่ละสายพันธุ์ก็มีเอกลักษณ์และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป

กานต์ยกตัวอย่างมดสายพันธุ์ “ฮันนี่พอต” ที่อาศัยในทะเลทรายแถบประเทศสหรัฐอเมริกา เอกลักษณ์ของมดชนิดนี้คือการกินน้ำหวานแล้วนำไปเก็บไว้ในท้องจนป่องเป็นลูกกลมๆ ซึ่งเราสามารถมองทะลุเห็นสีของน้ำหวานที่มดกินเข้าไปได้อย่างชัดเจน

มดอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่น่าสนใจจากสหรัฐคือ “ลีฟคัตเตอร์” เอกลักษณ์ของมดชนิดนี้คือการตัดใบไม้เพื่อนำกลับมาสร้างเป็นเชื้อรา โดยเชื้อราเหล่านั้นจะถูกใช้เป็นทั้งบ้านและอาหารของตัวมดเอง

มดสายพันธุ์นี้เป็นมดที่มีระเบียบสูงมาก หากเราสร้างรังแล้วแบ่งเป็น 3 โซน พวกเขาจะใช้ห้องตรงกลางเป็นที่อยู่ ส่วนห้องซ้ายและขวาจะใช้เป็นห้องเก็บอาหารและทิ้งขยะ

หลายคนคงสงสัยว่าในเมื่อมดเป็นสัตว์ที่มีความน่าสนใจขนาดนี้ แต่ทำไมการเลี้ยงมดจึงเพิ่งมาเป็นที่นิยม?

กานต์ตอบคำถามข้อนี้ว่า เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มักมองว่ามดเป็น “สัตว์รุกราน” ที่อยู่อาศัย แถมยังคอยรบกวนจิตใจเจ้าของบ้านอยู่ประจำ

ดังที่หลายๆ ประเทศยกให้มดเป็นหนึ่งใน “สัตว์รุกรานถิ่นที่อยู่” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะมดสายพันธุ์ที่มีความก้าวร้าวสูงและมีพิษ ยิ่งต้องคอยเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากผู้ที่แพ้พิษถูกกัด อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

เช่นเมื่อ พ.ศ.2559 มีรายงานผู้เสียชีวิตจาก “มดคันไฟสายพันธุ์อิวิกต้า” ถึง 80 ราย

กานต์ระบุว่า “มดอันตราย” จัดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “มดมีเหล็กใน” และ “มดไม่มีเหล็กใน” และพฤติกรรมการกัดของมดก็แบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยเช่นกัน คือ “กัดธรรมดา” (ใช้เขี้ยวกัด) และ “ต่อยด้วยเหล็กใน” (ซึ่งจะอยู่ตรงก้นของมด)

โดยพิษของ “มดที่มีเหล็กไน” นั้นมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต เราจึงควรหลีกเลี่ยงมดเหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่าเราจะแพ้พิษของมันหรือไม่

 

ปัจจุบัน “สังคมคนเลี้ยงมด” เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แถมนับวันยิ่งมีผู้คนสนใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ กานต์จึงตัดสินใจเริ่มต้น “ธุรกิจการขายมด” ของตนเอง

โดย “มดพันธุ์ไทย” อย่าง “มดตะลาน” นั้นมีมูลค่าถึงรังละ 300-700 บาท ในหนึ่งรังจะประกอบด้วยนางพญามดและมดงานอีก 3-5 ตัว

แต่หากเป็น “มดต่างประเทศ” ก็จะยิ่งมีมูลค่าสูงมาก ประหนึ่ง “สินค้ารุ่นลิมิเต็ด” โดยบางสายพันธุ์อาจมีราคาสูงเกิน 100,000 บาทต่อรัง

จากประสบการณ์ของกานต์เอง เขาเคยอยู่ในสถานการณ์ที่มีการซื้อ-ขายมดในมูลค่าประมาณ 70,000 บาท นั่นคือ “มดกระสุน” จากป่าแอมะซอน

“มดเป็นแมลงที่น่าสนใจมากๆ เพราะว่ามดเป็นสัตว์สังคม เขามีระบบชั้นวรรณะ การนั่งเฝ้าดูวิถีชีวิตของมดเนี่ย มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเพลิดเพลินมาก อยากให้ทุกคนลองเปิดใจ มันเป็นเหมือนการที่เราเล่นเกม ‘เดอะซิมส์’ เพียงแต่นี่มันเป็นเกมที่อยู่ในชีวิตจริง มันคือเมืองที่เราสามารถเลี้ยง (ประชากรในเมือง) ได้จริงๆ”

“หนุ่มเลี้ยงมดชาวไทย” กล่าวทิ้งท้าย