จีนอพยพใหม่ในไทย (27) พิจารณ์ พิเคราะห์ และพินิจ (ต่อ) /วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนอพยพใหม่ในไทย (27)

พิจารณ์ พิเคราะห์ และพินิจ (ต่อ)

 

นอกจากนี้ รายงานนี้ยังได้แยกเพศ อายุ วัฒนธรรม (ความคิดความเชื่อทางศาสนาหรือลัทธิ) อาชีพ สถานะทางการเงิน (รวมทั้งการส่งเงินกลับประเทศ) ตลอดจนการตั้งครอบครัวของชาวจีนอพยพในที่ต่างๆ อีกด้วย

โดยตัวเลขทั้งหมดนี้ยึดเอาเฉพาะชาวจีนที่มีถิ่นกำเนิดในจีนแผ่นดินใหญ่แล้วไปใช้ชีวิตยังต่างแดน

หากจะมีที่น่าสังเกตอันใดในตัวเลขเหล่านี้แล้ว สิ่งนั้นน่าจะอยู่ตรงที่รายงานนี้ไม่มีข้อมูลชาวจีนที่อยู่ในลาวและกัมพูชา ทั้งๆ ที่ราวสองทศวรรษที่ผ่านมามีชาวจีนเข้าไปทำการค้าการลงทุนในทั้งสองประเทศนี้มากมาย

เป็นไปได้หรือไม่ว่าชาวจีนในสองประเทศนี้มิได้อยู่ถาวร หรือเดินทางเข้าออกระหว่างจีนกับสองประเทศนี้เป็นประจำ

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากรวบรวมและแยกแยะตัวเลขชาวจีนอพยพดังกล่าวให้เห็นแล้ว รายงานนี้ก็สรุปจำนวนชาวจีนอพยพตั้งแต่ ค.ศ.1990 จนถึง ค.ศ.2017 อยู่ที่ 9,962,058 คนทั่วโลก

โดยประเทศที่มีชาวจีนอพยพมากที่สุด ณ ค.ศ.2017 คือ สหรัฐ และฮ่องกง

คือมีเกือบสองล้านห้าแสนคน

ซึ่งทิ้งห่างจากอันดับสามคือ ญี่ปุ่น ที่มีชาวจีนอยู่ที่ 741,022 คน และที่น้อยที่สุดคือ บราซิล อยู่ที่ 23,769 คน ทั้งนี้ เป็นการสำรวจจาก 25 ประเทศทั่วโลก โดยไทยมีชาวจีนอพยพอยู่ที่ 76,595 คน จัดเป็นอันดับที่ 16

สิ่งที่น่าสังเกตในเบื้องต้นก็คือ เมื่อดูจาก 25 ประเทศที่ชาวจีนอพยพไปอยู่แล้วจะพบว่า ส่วนใหญ่มักจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยในภูมิภาคที่พัฒนามากแล้ว (More developed regions) จะมี 5,537,168 คนหรือมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนชาวจีนอพยพทั้งหมด

ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least developed countries) มีเพียง 246,610 คน

 

จากตัวเลขดังกล่าวรายงานนี้ได้ให้หมายเหตุไว้ว่า แม้จะใช้เกณฑ์เฉพาะชาวจีนที่ถือกำเนิดในจีนแล้วมาใช้ชีวิตยังต่างแดนก็ตาม แต่เมื่อแยกเป็นรายประเทศแล้วก็ยังพบว่า นิยามของชาวจีนอพยพยังผันแปรไปตามแต่ละประเทศ

และตัวเลขของประเทศโดยส่วนใหญ่จะประมาณการจากชาวจีนที่เกิดในจีน (โดยไม่คำนึงถึงการได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองของประเทศปลายทางนั้น) ส่วนประเทศที่เหลือจะประมาณการจากที่ชาวจีนอ้างว่าตนเป็นพลเมืองจีนและมีถิ่นพำนักอยู่ที่จีน

ที่สำคัญ ตัวเลขเหล่านี้มาจากฝ่ายประชากรของกองกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ค.ศ.2017 (United Nation, Department of Economic and Social Affairs. Population Division, 2017)

แต่ดังได้กล่าวไปแล้วว่า ทางการไต้หวันก็จัดทำตัวเลขของตนขึ้นมาด้วยเช่นกัน โดยจัดทำตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 (หนึ่งปีก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะยึดอำนาจการปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ จนรัฐบาลเดิมต้องย้ายสาธารณรัฐจีนมาที่ไต้หวันตั้งแต่ ค.ศ.1949 จนถึงปัจจุบัน) จนถึง ค.ศ.2016 ที่รายงานที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้นำมาใช้อ้างอิง (ใน ค.ศ.2019)

ทั้งนี้ ตัวเลขของไต้หวันได้รวมชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นที่ 1 และบรรดาลูกหลานเข้าด้วยกัน ตัวเลขของไต้หวันจึงสูงมาก กล่าวคือ ตัวเลขรวมจนถึง ค.ศ.2016 มีชาวจีนอพยพประมาณ 44,623,000 คน

และกล่าวเฉพาะตัวเลขที่อยู่ในไทยแล้ว ไต้หวันได้ให้ไว้เมื่อ ค.ศ.2014 ว่ามีอยู่ประมาณ 7,000,000 คน (ในขณะที่ตัวเลขทั่วโลกประมาณ 42,500,000 คน)

 

การที่ไต้หวันรวมเอาชาวจีนโพ้นทะเลและเชื้อสายเข้าด้วยกันนี้ทำให้เห็นว่า ไต้หวันใช้ความเป็นจีน (Chineseness) เป็นเกณฑ์พื้นฐานในการรวบรวม เกณฑ์นี้ในด้านหนึ่งเท่ากับสะท้อนว่า ไต้หวันให้ความสำคัญกับความเป็นจีนค่อนข้างสูง

และเนื่องจากเกณฑ์นี้ถูกใช้ตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ต่อกับยุคที่สาธารณรัฐจีนสูญเสียอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่ ความเป็นจีนจึงมีความสำคัญต่อรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ไต้หวันนำมาใช้เพื่อหาแนวร่วมในการต่อสู้กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในแผ่นดินใหญ่

และชาวจีนที่กระจายอยู่ทั่วโลกนับเป็นพลังแนวร่วมที่สำคัญยิ่ง ถึงแม้ทุกวันนี้ความหวังของไต้หวันในอันที่จะยึดคืนจีนแผ่นดินใหญ่กลับมาจะริบหรี่เต็มทีแล้วก็ตาม

 

กล่าวสำหรับจีนแผ่นดินใหญ่ที่ซึ่งปัจจุบันนี้มีความมั่นคงมากพอแล้วนั้น จีนไม่ต้องพะว้าพะวงกับการหาความยอมรับดังไต้หวัน หลายปีมานี้จีนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจการระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

และเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพนี้จีนมีความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration, IOM)*

จากความร่วมมือดังกล่าวจีนและองค์กรนี้ได้ศึกษาพบว่า มีชาวจีนอพยพใหม่ประมาณสิบล้านคนทั่วโลก ซึ่งตรงกับตัวเลขของสหประชาชาติ และมีผู้อพยพชาวต่างชาติอยู่ในจีนประมาณหนึ่งล้านคน

จากตัวเลขที่ตรงกันนี้ย่อมมีความน่าเชื่อถืออยู่ไม่น้อย แต่ก็เป็นตัวเลขที่อาจมีข้อจำกัดในบางประการดังที่จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า

ถึงกระนั้นก็ตามที ตัวเลขของไต้หวันเฉพาะที่ให้ไว้กับไทยที่ประมาณ 7,000,000 คนก็น่าสนใจยิ่ง ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่เป็นตัวเลขที่ห่างไกลกันลิบลับกับตัวเลขที่สหประชาชาติได้ให้ไว้ที่ 76,595 คน (เป็นตัวเลขใน ค.ศ.2017)

ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะได้ทำให้ตัวเลขของสหประชาชาติแคบลงมาที่ชาวจีนอพยพใหม่ โดยเฉพาะกับเกณฑ์ของสหประชาชาติที่ให้ความสำคัญกับถิ่นเกิดของชาวจีนเป็นสำคัญ ซึ่งก็คือมีถิ่นเกิดที่จีนแผ่นดินใหญ่

จากเหตุนี้ เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขของสหประชาชาติที่เริ่มที่ ค.ศ.1990 แล้วก็แบ่งเป็นช่วงๆ ละห้าปีก่อนที่จะมาจบลงที่ ค.ศ.2017 จะพบว่า ตัวเลขของชาวจีนอพยพในไทยจะไล่เรียงตามลำดับ ดังนี้

ค.ศ.1990 ประมาณ 58 คน ค.ศ.1995 ประมาณ 116 คน ค.ศ.2000 ประมาณ 200 คน ค.ศ.2005 ประมาณ 33,311 คน ค.ศ.2010 ประมาณ 68,811 คน ค.ศ.2015 ประมาณ 74,411 คน และ ค.ศ.2017 ประมาณ 76,595 คน

 

ในเบื้องต้นตัวเลขเหล่านี้อาจชวนให้สงสัยได้ว่า เป็นตัวเลขของชาวจีนโพ้นทะเลหรือชาวจีนอพยพใหม่ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าจำนวนชาวจีน 58 คนเมื่อ ค.ศ.1990 นั้นอาจเป็นจีนโพ้นทะเลหรือจีนอพยพใหม่ก็ได้

เช่น เป็นไปได้ที่จะเป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มีถิ่นเกิดอยู่ในจีนยังหลงเหลืออยู่ แต่อยู่ในวัยชราและเหลือน้อยแล้ว หรือเป็นไปได้ที่จะเป็นชาวจีนอพยพใหม่ดังชาวจีนที่งานศึกษานี้ได้พบเพื่อสัมภาษณ์

แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับในแต่ละช่วงแล้วจะพบว่า ชาวจีนเหล่านี้น่าจะเป็นชาวจีนที่เพิ่งเข้ามาใหม่และมีถิ่นเกิดอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่ และตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างมากจะบอกได้ดี

โดยตัวเลขใน ค.ศ.2000 กับ ค.ศ.2005 ที่ก้าวกระโดดจากประมาณ 200 คนมาเป็น 33,311 คนนั้น ตัวเลขนี้เกิดในช่วงที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (ค.ศ.2001) และส่งผลให้ชาวจีนหลั่งไหลกันออกนอกประเทศกันอย่างมากมาย เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าผ่านการทำงานหรือทำการค้าการลงทุน

ซึ่งช่วงเวลานั้นชาวจีนมีฐานะที่ดีขึ้นแล้ว ดังที่งานศึกษานี้ได้กล่าวถึงประเด็นนี้เมื่อก่อนหน้านี้

แต่ถึงที่สุดแล้วตัวเลขนี้ก็ยังมีข้อจำกัด เพราะยังมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาหลังจีนเปิดประเทศได้ไม่นานที่ไม่ยอมเปิดเผยตัว และเราก็มิอาจรู้ได้ว่า ตัวเลขที่แท้จริงน่าที่จะประมาณเท่าไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ตัวเลขที่ศึกษาโดยองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ในที่นี้จึงเป็นตัวเลขที่จะใช้อ้างอิงโดยละไว้ในฐานที่เข้าใจถึงข้อจำกัดดังกล่าว

 

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรหรือด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ชาวจีนอพยพใหม่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้อพยพในสังคมโลกไปแล้ว

บทบาทของชาวจีนอพยพใหม่ย่อมมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมพลเมือง เศรษฐกิจ การเมืองหรือการปกครอง และวัฒนธรรมของรัฐปลายทาง และมีกับสังคมโลกที่มีผู้อพยพชาติอื่นๆ ปรากฏอยู่

บทบาทของชาวจีนอพยพใหม่ในที่หนึ่งจึงอาจส่งผลกับชาวจีนอพยพในอีกที่หนึ่ง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยเรื่อง ชาวจีนอพยพใหม่ในประเทศไทย โดยได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ความเห็นในรายงานผลการวิจัยเป็นของผู้วิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

*องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นถือกำเนิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.1951 โดยภารกิจเมื่อแรกก่อตั้งมีเป้าหมายอยู่ในพื้นที่ยุโรป องค์กรนี้มีการเปลี่ยนภารกิจและเปลี่ยนชื่อองค์กรไปตามกระแสปัญหาผู้อพยพอยู่เป็นระยะๆ จนมาเป็นชื่อปัจจุบันเมื่อ ค.ศ.1989 ปัจจุบันมีบุคลากรกระจายกันปฏิบัติภารกิจขององค์กรอยู่ตามประเทศต่างๆ มากกว่าร้อยประเทศ