ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | มิตรสหายเล่มหนึ่ง |
เผยแพร่ |
มิตรสหายเล่มหนึ่ง
นิ้วกลม
อื่นๆ อีกมากมายเรื่องผัวเมีย
‘คนเราควรมีผัวเดียวเมียเดียว’
คุณคิดเห็นอย่างไรกับข้อความนี้
และคำว่า ‘ควร’ ที่แทนความหมายของสิ่งถูกต้องดีงามนั้นเราได้แต่ใดมา
อะไรคือสิ่งที่กำหนดให้เราคิดแบบนั้น
ถ้าเราลืมตาขึ้นมาดูโลกในดินแดนที่แตกต่างไปจะคิดเรื่องผัวๆ เมียๆ แบบที่เป็นอยู่แตกต่างไปอย่างไร
เรื่องนี้น่าคิด
ผมเคยเดินทางไปทำสารคดี ‘พื้นที่ชีวิต’ ในดินแดนที่ยังได้รับอิทธิพลจากโลกสมัยใหม่ไม่มากนักอย่างบรรดาชนเผ่าในหุบเขาโอโม่ ประเทศเอธิโอเปีย
พบว่ามีประเพณีและวัฒนธรรมเรื่องนี้ที่น่าสนใจแตกต่างกันไปตามเผ่า
เช่น ชนเผ่ามูซี่ที่มีข้อตกลงร่วมกันว่า หญิงสาวสามารถมีเพศสัมพันธ์กับชายที่ไม่ใช่สามีได้ แต่ต้องเป็นฝ่ายบอกเรื่องนี้กับสามีด้วยตนเอง
หากสามีรู้เรื่องนี้จากคนอื่นในเผ่า หญิงสาวคนนั้นจะต้องถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนประจานท่ามกลางสายตาชาวบ้าน
นิยาม ‘ชู้’ จึงอยู่ที่บอกหรือไม่บอก
ถ้าบอก สามีจะไม่โกรธ แถมยังขอบคุณภรรยาอีกต่างหาก
วัฒนธรรมผัว-เมียของชนเผ่าที่ห่างไกลจากโลกสมัยใหม่ ยังคงดำเนินไปในแบบดั้งเดิมจึงน่าสนใจและเขย่าการรับรู้รวมถึงมาตรฐานความดีงามในใจเราได้อยู่บ่อยๆ
ผมหยิบหนังสือ ‘ชาวเขาหาคู่’ โดย วิชัย ชินาลัย ขึ้นมาอ่านด้วยความตื่นตาตื่นใจ
เมื่อได้รู้ถึงวัฒนธรรมผัว-เมียและการแต่งงานที่ผู้เขียนซึ่งเดินทางไปยังดินแดนที่มีความหลากหลายของชนเผ่าที่คิดและปฏิบัติต่อเรื่องนี้แตกต่างกัน
เริ่มจาก ‘เผ่าหมอซู’ ที่ตั้งรกรากอยู่บริเวณชายแดนมณฑลเสฉวนติดกับมณฑลยูนนาน ซึ่งผู้หญิงจะเป็นฝ่ายหาคู่
เผ่านี้ผู้หญิงเป็นใหญ่ เป็นสังคมแม่ นับสกุลฝ่ายแม่ สมบัติก็แบ่งกันในหมู่ลูกสาว ลูกชายและลูกเขยได้แต่นั่งตาละห้อย หมดสิทธิ์ในสมบัติ หากจะมีคนปฏิบัติตามสังคมพ่อบ้างก็น้อยมาก
ตามธรรมเนียมแล้ว เมื่อผู้หญิงถึงวัยที่พร้อมมีคู่ครองก็จะออกจากบ้านไปหาผู้ชายที่ต้องใจ จีบมาเป็นคู่รักคู่นอนกัน ซึ่งไม่ว่าชายหรือหญิงจะมีคู่อยู่แล้วก็ไม่เป็นไร ไม่ถือ ทั้งฝ่ายชายและหญิงจะมีคู่รักคนเดียวหรือสองหรือสามคนก็ได้ ไม่มีใครว่า
สังคมนี้ไม่มีการแต่งงาน ไม่ได้อยู่กินด้วยกันทั้งกลางวันกลางคืน
เผ่าหมอซูจึงมีแต่คู่รัก ไม่มีผัว ไม่มีเมีย
เมื่อไม่มีการแต่งงาน ก็ไม่มีแม่ผัว-ลูกสะใภ้ พี่ชาย-น้องเขย พี่สะใภ้-น้องสะใภ้ อะไรแบบนี้ หมดเรื่องราวอิจฉาริษยา ชิงดีชิงเด่นกัน ทุกคนจะอาศัยอยู่กับแม่ตั้งแต่เล็กจนแก่เฒ่า ผู้หญิงอาจมีลูกกับผัวของพี่น้องด้วยก็ได้
เด็กๆ ถึงแม้จะรู้ว่าใครเป็นพ่อก็จะไม่เรียกพ่อ จะเรียกเป็น ‘น้า’ หรือ ‘ลุง’ และเรียกพี่สาวน้องสาวของแม่ว่า ‘แม่’ เหมือนกัน
ในบ้านหนึ่งจึงมีแม่หลายคน แต่ไม่มีพ่อ มีแต่พี่ชายหรือน้องชายของแม่
ผู้ชายเผ่าหมอซูจะอยู่กับแม่ไปจนแก่เฒ่า ไม่มีบ้านของตัวเอง คอยช่วยทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูกๆ ของพี่สาวน้องสาว ต่อให้มีลูกก็เหมือนไม่มี
หากหมดแรงทำงานให้กับบ้านนั้นแล้วก็อาจถูกทิ้งได้เหมือนกัน
ต่อไปคือ ‘เผ่าเหมินเปา’ หรือ Monba อยู่ทางตอนใต้ของจีนในมณฑลยูนนาน กระจัดกระจายไปจนถึงชายแดนจีน-ทิเบต จึงมีประเพณีคล้ายชนเผ่าทิเบต
ประเพณีการแต่งงานดั้งเดิมของชาวเหมินเปาเป็นการแต่งเข้าไปในครอบครัว
ถ้าแต่งกับครอบครัวไหนแล้วก็ถือว่าแต่งกันทุกคนในครอบครัว (ยกเว้นพ่อกับแม่)
เช่น เมื่อหญิงสาวแต่งงานเข้าไปในครอบครัวของสามี เมื่อพ้นช่วงเวลาข้าวใหม่ปลามัน เธอก็จะกลายเป็นเมียของพี่ชายและน้องชายของสามีทั้งหมด
ในทางกลับกัน ถ้าชายหนุ่มแต่งงานเข้าบ้านหญิงสาว ฝ่ายเมียก็ยินดีแบ่งผัวให้กับพี่สาวและน้องสาวของตัวเองที่อยู่ในบ้านนั้นด้วย
ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะในสมัยโบราณ ชนเผ่าเหมินปามีประชากรน้อย แต่ละบ้านขาดแคลนหนุ่ม-สาวที่จะมาสืบสกุล จึงมีธรรมเนียมเช่นนี้เพื่อเพิ่มจำนวนประชากร
มาดูเรื่องราวของ ‘เผ่านู่’ กันบ้าง
เผ่านี้อยู่ในยูนนานและบางส่วนอยู่ในแคว้นเว่ยซีของทิเบต
ชาวนู่นิยมแต่งงานกันเองในหมู่ญาติพี่น้องที่สนิทสนมกัน
บางกลุ่มอนุญาตให้หญิง-ชายแต่งงานกันได้เฉพาะคนในหมู่บ้านเดียวกันเท่านั้น เรียกได้ว่าทั้งหมู่บ้านเป็นพี่น้องสืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกันทั้งหมด
แต่ชาวนู่มีกฎห้ามแต่งงานระหว่างพ่อ-แม่กับลูก ห้ามแต่งงานระหว่างพี่น้องท้องเดียวกัน แต่ลูกพี่ลูกน้องแต่งงานกันได้
เรื่องน่าสนใจก็คือ ถ้าแต่งงานกันเป็นผัว-เมียแล้ว หากฝ่ายสามีตายจากไป ผู้หญิงที่มีชีวิตอยู่สามารถไปเป็นเมียของพี่ชายหรือน้องชายของสามีที่ตายไป เหมือนมอบมรดกให้เพื่อดูแลต่อ
คนที่ได้รับมรดกไปก็เหมือนได้เมียและลูกใหม่ในทันที
ส่วนในกรณีที่เมียตาย พ่อม่ายก็มีสิทธิ์เลือกที่จะแต่งงานกับพี่สาวหรือน้องสาวของเมียที่ยังไม่แต่งงานได้ เป็นการหาเมียใหม่มาช่วยงานในบ้านแทนเมียที่ตายไป
ที่เป็นแบบนี้เพราะในสมัยโบราณ การทำมาหากินลำบากกว่าปัจจุบันมาก หากใครสักคนตายจากไป อีกคนที่เหลืออยู่ต้องแบกรับภาระการดูแลบ้าน ทำงานให้ได้ผลผลิต แถมยังต้องดูแลลูก นับเป็นงานหนักหนามาก
ระบบประเพณีแบบนี้จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับวิถีชีวิตในยุคนั้น
มาถึง ‘เผ่าตู๋หลง’ ชนเผ่าเล็กๆ ที่มีประชากรเพียง 5,000 คนเท่านั้น มีบรรพบุรุษอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
เผ่านี้มีประเพณีการแต่งงานที่น่าสนใจคือ ‘แต่งเหมา’ หมายถึงแต่งครั้งเดียวได้เมียหลายคน หรือได้ผัวหลายคนไปพร้อมๆ กัน
อาจจะสอง สาม สี่ หรือห้าคน ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวนั้นมีเพศตรงข้ามที่อยู่ในวัยพร้อมแต่งงานกี่คน
บางทีก็ใช้วิธีครอบครัวจับคู่กัน เช่น พี่แต่งพี่ น้องแต่งน้อง ถ้าอายุใกล้กันก็แต่งไปพร้อมกันเลยหลายๆ คู่
เมื่อเด็กผู้หญิงเริ่มเป็นสาววัยรุ่น อายุ 12-13 ปี พ่อแม่จะทำพิธีบูชาผี แล้วให้ผู้มีคาถาอาคมมาทำการสักหน้าให้เด็กสาว ประเพณีสักหน้านี้ทำกันมาเนิ่นนาน 200-300 ปี
ผู้ชายเผ่าตู๋หลงเชื่อว่าหญิงสาวที่สักหน้ามีใบหน้าที่งดงาม และมีพลังช่วยป้องกันภัยอันตรายทั้งหลาย แต่เหตุผลที่แท้จริงคือ เขาต้องการแยกหญิงสาวเผ่าตนออกจากเผ่าอื่นๆ
หากอยู่เผ่าตู๋หลง บางทีการแต่งงานเพียงหนึ่งหนก็ทำให้ได้ผัว 5 คนหรือเมีย 5 คนไปในคราวเดียว
ทั้งหมดที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของโลกใบนี้ ตามประเพณีของชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในบางส่วนของแผ่นดินจีนเท่านั้น ยังมีธรรมเนียมประเพณีและวิถีชีวิตที่แตกต่างอีกมากมาย เรื่องราวถูก-ผิดของคนกลุ่มหนึ่งเพียงก้าวขาออกจากชุมชนของตัวเองไปสู่พื้นที่แตกต่างก็อาจไม่ได้ ‘ถูกต้องดีงาม’ เหมือนในพื้นที่คุ้นชินแล้วก็เป็นได้
ในโลกสมัยใหม่ที่เชื่อมโยงทุกคนเข้าหากัน เราเองก็ได้รับค่านิยมและศีลธรรมมาจากอิทธิพลของหลากหลายสังคมต่างยุคต่างสมัยกระทั่งกลายมาเป็น ‘ความดีงาม’ ที่ยึดถือไว้ในใจ ไม่แปลกนักที่เมื่อใครคนหนึ่งเกิดและอยู่กับค่านิยมใดค่านิยมหนึ่งก็อาจเผลอนึกไปว่านั่นคือความจริงแท้หนึ่งเดียวในโลก
มนุษย์คงจะน่ารักและมีความสุขมากขึ้น ถ้าตัดคำหนึ่งออกไปจากประโยคเมื่อสักครู่นี้
จาก ‘ค่านิยมของเราเป็นความจริงแท้หนึ่งเดียวในโลก’
เป็น ‘ค่านิยมของเราเป็นความจริงแท้หนึ่งในโลก’
ตัดคำว่า ‘เดียว’ ออกไป
เพราะยังมี ‘ความจริงแท้’ อื่นๆ อีกมากมายสำหรับทุกเรื่อง