อักขรานุกรมขุนนาง : ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

อากาศรุ่มร้อนต้นเดือนเมษายนอย่างนี้ ถึงแม้จะมีวันหยุดประปรายหลายวัน แต่ผมเลือกตัดสินใจที่จะอยู่บ้านตัวเองเป็นหลัก ไม่ร่อนเร่ไปข้างไหน

เมื่ออยู่บ้านแล้วจะทำอะไรได้เล่านอกจากหยิบหนังสือออกมาอ่านทีไรเล่มสองเล่ม

เล่มที่เป็นเหยื่อของผมเล่มแรกเช้าวันนี้คือสำเนาหนังสือเรื่อง “อักขรานุกรมขุนนาง” ที่เพิ่งทำสำเนาสดๆ มาจากห้องสมุดของราชบัณฑิตยสภา

ต้นฉบับที่อยู่ในห้องสมุดที่ว่านั้นก็ไม่ใช่ต้นฉบับแท้ หากแต่เป็นต้นฉบับที่ถ่ายสำเนามาจากหนังสือเล่มจริงซึ่งอยู่ที่ไหนก็ไม่เคยมีใครเห็นเหมือนกัน บรรณารักษ์ของห้องสมุดราชบัณฑิตยสภาเองบอกว่ามืดแปดด้าน

สงสัยว่าต้องอาศัยนักสืบมือฉมังอย่างคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ แห่งสำนักพิมพ์ต้นฉบับ ผู้ที่ผมนับถือว่ารู้จักหนังสือเก่าทุกเล่มของเมืองไทยช่วยดำเนินการกระมัง

แต่เอาเถิดครับ เรื่องนั้นค่อยว่ากันทีหลังก็ได้ วันนี้ผมอยากจะชวนคุยเกี่ยวกับสาระที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้นเป็นหลักก่อนก็แล้วกัน

 

อักขรานุกรมขุนนางเล่มนี้ ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ เพราะต้นฉบับที่เป็นสำเนาถ่ายภาพมา ไม่ครบทุกหน้า แต่เมื่ออ่านเนื้อหาข้างในแล้วพออนุมานได้ว่า เป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ถ้าจะให้กำหนดปีแน่นอนก็น่าจะอยู่ระหว่างพุทธศักราช 2469 ถึงพุทธศักราช 2471 เพราะมีข้อมูลในหนังสือเล่มดังกล่าวระบุถึงปู่ของผมว่า

อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด

ผมก็ใช้ข้อมูลตรงนี้เองเป็นหลักยึดเพื่อบอกอายุของหนังสือ เพราะผมรู้อยู่แล้วว่าปู่ของผมไปรับราชการอยู่ที่จังหวัดนั้นในช่วงเวลาดังกล่าว

สังเกตไหมครับว่า ข้าราชการสมัยโน้นเวลาจะบอกว่าใครเป็นอะไรตำแหน่งอะไรแล้วจะมีข้อความยืดยาวเต็มบรรทัดเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่นปู่ของผม

อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด

คําแรกคือคำว่า “อำมาตย์เอก” นั้นคือยศครับ

สมัยนี้เรารู้จักคุ้นเคยกับยศทหารและยศตำรวจ แต่ข้าราชการพลเรือนไม่มียศเสียแล้ว ในยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 ข้าราชการพลเรือนมียศไม่น้อยหน้าทหารตำรวจเลยครับ

ยศของฝ่ายพลเรือนนั้น ถ้าเป็นรองอำมาตย์ ได้แก่ รองอำมาตย์ตรี รองอำมาตย์โทและรองอำมาตย์เอก ก็เทียบได้กับร้อยตรี ร้อยโท ร้อยเอก ขยับขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เรียกว่า อำมาตย์ตรี อำมาตย์โท อำมาตย์เอก ชั้นนี้เทียบได้กันกับยศนายพัน

เพราะฉะนั้น เมื่อปู่ผมเป็นอำมาตย์เอก จึงเทียบชั้นได้กับพันเอกของฝ่ายทหารนั่นเอง

ยศพลเรือนที่เทียบได้กับยศทหารชั้นนายพลยังมีอีกครับ เรียกว่ามหาอำมาตย์ มีตั้งแต่มหาอำมาตย์ตรีไปจนถึงมหาอำมาตย์เอก ถ้าเลยเพดานขึ้นไปถึงจอมพลของฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือนก็เรียกว่า มหาอำมาตย์นายก

เช่น มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

ลำดับต่อมาจากยศก็คือ บรรดาศักดิ์ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายความว่า หมายถึง ฐานันดรศักดิ์ที่พระราชทานแก่ข้าราชการหรือบุคคลทั่วไป แบ่งออกเป็น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย โดยมีราชทินนามต่อท้าย เช่น เจ้าพระยายมราช พระยาพลเทพ

ด้วยคำอธิบายเช่นนี้ จึงบรรยายได้ว่า ปู่ของผมมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา ที่ภาษาปากโดยลำลองเรียกกันทั่วไปว่า เจ้าคุณ

 

เคยดูละครหรืออ่านหนังสือกันมามากแล้วไม่ใช่หรือครับว่า ถ้าบรรดาศักดิ์เป็นขุน เขาเรียกกันว่า ท่านขุน เหนือชั้นกว่านั้นขึ้นมา ก็เป็นคุณหลวง คุณพระ แล้วจึงมาถึงท่านเจ้าคุณตามลำดับ

เงื่อนไขสำคัญคือ บรรดาศักดิ์นั้นจะตามมาด้วย “ราชทินนาม” เสมอ ราชทินนามนี้คือชื่อที่พระราชทานกำกับมากับบรรดาศักดิ์ เช่นกรณีปู่ของผมนั้น ราชทินนามคือ “สุนทรเทพกิจจารักษ์” ซึ่งแปลว่า ดูแลรักษาการงานของเทวดาเป็นอย่างดี หมายความว่าทำราชการดีนั่นเอง

ส่วนชื่อตัวและนามสกุลที่อยู่ในวงเล็บนั้นไม่ต้องอธิบายนะครับ

รายการสุดท้ายที่ปรากฏในชื่อปู่ของผมก็คือ ตำแหน่ง ข้อนี้ก็เป็นที่เข้าใจได้อยู่แล้วว่า หมายถึงหน้าที่การงานที่รับผิดชอบ เช่น ปู่ของผมเวลานั้น มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด

ต้องขออภัยที่ยกตัวอย่างปู่ของตัวเองแล้วมาอธิบายอะไรยืดยาวเช่นนี้ เพราะผมนึกว่าเป็นเรื่องที่พ้นไปจากความเข้าใจของคนยุคนี้เสียมากแล้ว แต่สำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือโบร่ำโบราณ หรือเมื่อมีเรื่องราวย้อนไปในประวัติศาสตร์ เรายังต้องพบคำเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง จึงขอยกมาอธิบายรวบยอดเสียคราวเดียว

 

คราวนี้มาเข้าประเด็นหนังสือเรื่อง อักขรานุกรมขุนนาง ที่ผมกำลังอ่านด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจอยู่ในเวลานี้ ผู้จัดทำได้เรียบเรียงรวบรวมราชทินนามของขุนนางที่ปรากฏอยู่ในปีพุทธศักราชดังกล่าวมาเรียงลำดับตัวอักษร ตั้งแต่ ก.ไก่ จนถึง อ.อ่าง จำนวนนับร้อยนับพันชื่อ มาจากทุกกระทรวงทบวงกรม

อ่านแล้วได้ข้อคิดสะกิดใจสองสามอย่างที่ขออนุญาตแบ่งปันดังนี้ครับ

ข้อแรก ราชทินนามนั้นส่วนใหญ่จะมีความหมายเชื่อมโยงถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ ความคาดหวังที่ทางราชการมีมอบหมายให้

ราชทินนามจำนวนมากได้ยินแล้วเข้าใจได้เลยทีเดียวว่า ผู้ได้รับราชทินนามนั้นมีหน้าที่การงานอย่างไร

มาดูตัวอย่างกันนิดหน่อยนะครับ

“พินิจทัณฑเหตุ” จะเป็นอะไรได้นอกจากเป็นพะทำมะรง หรือผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดพระประแดง

“ประสานเวชกิจ” รายนี้เป็นแพทย์หลวงประจำท้องที่จังหวัดอุดรธานี

“ราชทรัพย์บริบาล” สรรพากรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

“แจ่มวิชาสอน” ไม่ต้องเดาก็รู้ว่าเป็นครู ในบัญชีบอกว่าเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

 

อย่างไรก็ดี ยังมีราชทินนามอีกจำนวนหนึ่ง ที่พระราชทานด้วยเหตุผลอื่น สุดแท้แต่ทรงพระราชดำริ เช่นในสมัยรัชกาลที่หก ทรงนำชื่อตัวละครจากมหากาพย์ภาษาสันสกฤตที่ทรงศึกษาค้นคว้าเชี่ยวชาญมาพระราชทานเป็นราชทินนามของพระยาในกระทรวงยุติธรรม เช่น พระยาปุรุราชรังสรรค์ หรือพระยานลราชสุวัจน์

หรือในสมัยรัชกาลที่เจ็ด มีพระราชนิยมที่จะพระราชทานราชทินนามให้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นหัวหน้าสกุลสำคัญเก่าแก่ ที่ได้รับพระราชทานนามสกุลในรัชกาลที่หกมาแล้ว เพื่อเป็นเกียรติยศแก่ครอบครัว โดยใช้นามสกุลนั้นเองมาประกอบเข้าในราชทินนาม

เช่น พระยาโกมารกุลมนตรี ท่านนี้มาจากสกุลโกมารกุล ณ นคร, พระยาสโรบลบดี ท่านนี้มาจากสกุลสโรบล ซึ่งเก่าแก่สืบย้อนหลังขึ้นไปได้จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา, พระยาสิงหเสนี ท่านนี้จะเป็นใครอื่นไปเสียไม่ได้นอกจากเป็นข้าราชการสกุลสิงหเสนีซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบดินทร์เดชาในรัชกาลที่สาม

หรืออีกท่านหนึ่งก็เช่น พระยาอมาตยพงศ์ธรรมพิศาล ท่านนี้เป็นคนในสกุลอมาตยกุล สกุลขุนนางเก่าแก่อีกสกุลหนึ่งของเมืองไทยและมีหน้าที่ราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม

ข้าราชการหนุ่มสืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่าแก่บางรายอาจรับพระราชทานราชทินนามเฉพาะตัวแนวนี้ได้เหมือนกัน เช่น หลวงโกวิทอภัยวงศ์ ที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ นายควง อภัยวงศ์ บุตรชายของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) อดีตผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง เป็นต้น

เพียงแค่อ่านราชทินนามในหนังสือเล่มนี้ก็ได้ความรู้เกี่ยวกับระบบราชการของเมืองไทยในสมัยนั้นแถมมาด้วยอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

 

ผมพบว่าระบบราชการเวลานั้นมีหน่วยงานเกิดขึ้นใหม่ตามเทคโนโลยีที่ก้าวเดินมาถึงเมืองไทยหลายอย่าง เช่น รถไฟ หรือไปรษณีย์โทรเลข เมื่อมีงานใหม่เกิดขึ้นราชทินนามใหม่ก็เกิดขึ้นตามมา เช่น หลวงรัถภาระพิทักษ์ มีตำแหน่งเป็นสารวัตรตรวจบ้านพักและรถเสบียงของกรมรถไฟหลวง

คำว่า “รัถ” ในที่นี้ หมายถึงรถไฟนั่นเอง

หรืออีกชื่อหนึ่ง ราชทินนามว่า ไปรษณีย์ธุรานุรักษ์ ได้ยินแล้วก็เข้าใจซึมซาบเลยทีเดียว ว่ามีหน้าที่เป็นธุระดูแลเกี่ยวกับการไปรษณีย์

ถ้าเป็นสมัยนี้เห็นจะต้องมี หลวงดิจิตอลสมรรถกิจ พระพินิจไอทีการ หรืออะไรต่อมิอะไรต่อไปได้อีกมาก

ข้

อสอง อ่านราชทินนามทั้งหมดแล้ว รู้สึกได้ทีเดียวว่าผู้มีหน้าที่คิดราชทินนามถวายมีความรู้ภาษาไทยแตกฉาน และมีความสามารถในเชิงกวีด้วย ราชทินนามจำนวนมาก นอกจากไพเราะทั้งถ้อยคำและเนื้อความแล้ว ยังมีสัมผัสสระ สัมผัสอักษร ที่คล้องจองกันประกอบด้วย

ตัวอย่างที่เป็นสัมผัสสระคล้องจองกันเป็นชุด ได้แก่ ราชทินนามของข้าราชการที่เป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม อาทิ สุทธิเทศนฤบาล สุทธิธารณ์นฤภัย สุทธินัยนฤนาท และสุทธินาทนฤมัณฑ์ ราชทินนามชุดนี้ใช้คู่กันกับบรรดาศักดิ์ชั้นหลวง ในสมัยนั้น

ตัวอย่างที่เป็นสัมผัสอักษร ก็เช่น ขุนรอนโจรราบ ขุนรอบรู้กิจ หลวงไพรีระย่อเดช ราชทินนามทั้งสามนี้ ใช้ ร เรือ เป็นสัมผัสอักษรได้อย่างงดงามน่าฟังเป็นที่สุด

 

นอกจากหนังสืออักขรานุกรม ซึ่งต้นฉบับสันนิษฐานว่าทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่เจ็ด ที่ผมเพิ่งไปทำสำเนามาอ่านเล่นเล่มนี้แล้ว ในคลังหนังสือของผมยังมีสำเนา อักขรานุกรมขุนนางอีกฉบับหนึ่ง แต่เป็นฉบับที่รวบรวมขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้าตอนปลาย ราวพุทธศักราช 2445

ช่วงเวลาเกือบสามสิบปีจากเล่มแรกมาถึงเล่มสอง ข้าราชการมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากทีเดียว ข้าราชการกรมพระอาลักษณ์ ผู้มีหน้าที่คิดราชทินนามทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระราชทานแก่ข้าราชการคงมีงานทำล้นมือเลยทีเดียว

ราชทินนามต่างๆ เหล่านี้ บางครั้งก็เป็นนามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงคิดด้วยพระองค์เอง ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่กรมพระอาลักษณ์ปฏิบัติถวายเสมอไป

ราชทินนามที่กล่าวกันว่า ทรงคิดหรือทรงผูกคำขึ้นพระราชทานนี้ บางชื่อก็เป็นแต่เพียงเรื่องเล่าลือกันต่อมา

เช่น ราชทินนามหลวงประดิษฐ์บาทุกา กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดพระราชทานเจ้าของร้านเซ่งฮง ซึ่งเป็นร้านตัดฉลองพระบาทด้วยพระองค์เอง จริงเท็จจะเป็นอย่างไรก็ไม่มีใครยืนยันได้

แต่มีอยู่เหมือนกันครับที่บางราชทินนาม ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงคิดด้วยพระองค์เอง เช่น พันปากพล่อย นามนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดขึ้นพระราชทาน “อ้ายกรุดปาราชิก” โดยมีประกาศฉบับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือเรื่องประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ขยายความว่า

“…ก็อ้ายกรุดนี้มันพูดไม่เกรงใจใครเหมือนบ้า มันได้ยินได้เห็นอะไรก็พูดไม่มีประมาณ ในหลวงจึงตั้งให้เป็นอ้ายพันปากพล่อยตามที่มันได้บ้านั้น แลมันว่าอะไร ในหลวงก็ไม่เอาเป็นจริงนัก เอาแต่ที่มีสลักสำคัญจริงๆ…”

ราชทินนาม พันปากพล่อย นี้ นึกดูดีๆ ก็ยังไม่ตกยุคตกสมัยนะครับ

นั่นแน่! คิดเหมือนผมเลย อย่าลอกการบ้านสิครับ

ฮา!