รัฐบาลไทย กับโครงการกระจายวัคซีน / เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

รัฐบาลไทย

กับโครงการกระจายวัคซีน

 

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กลายเป็น “ข่าวดี” จริงจังเพียงอย่างเดียวที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดใหญ่ไปทั่วโลกในช่วงปีเศษที่ผ่านมา

หลายคนอุปมาว่านี่คือ “แสงสว่างปลายอุโมงค์” ที่ชัดเจนที่สุด

แต่เอาเข้าจริง มีเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกเท่านั้นในเวลานี้ที่มีแผนการกระจายวัคซีนที่ชัดเจน และสามารถทำได้ตามแผนที่วางเอาไว้ หรือไม่ก็เร็วกว่าที่คิดกันไว้ตั้งแต่แรก

ทั้งหมดล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ถ้าไม่ใช่เป็นชาติมั่งคั่ง ก็เป็นชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการพัฒนาและผลิตวัคซีนที่ “มีประสิทธิภาพและปลอดภัย” เหล่านี้ทั้งสิ้น

ส่วนที่เหลือ หากไม่เผชิญกับปัญหา “ชาตินิยมวัคซีน” ก็เกิดปัญหาการวางแผนและการปฏิบัติการตามแผนการกระจายวัคซีนด้วยกันทั้งสิ้น

 

ความยุ่งยากลำบากในการกระจายวัคซีนนั้นใหญ่หลวงนักด้วยเหตุผลหลากหลายประการ ตั้งแต่เหตุอันเกิดจากตัววัคซีนเอง เกิดจากผู้ดำเนินการ และเกิดจากตัวผู้รับวัคซีน ปัญหานี้แสดงให้เห็นได้ในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตและเป็นเจ้าของสูตรวัคซีน อย่างจีน ที่เพิ่งฉีดให้กับประชาชนไปราว 114 ล้านคน คิดคร่าวๆ แล้วเพียงแค่ 10-12 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ประเทศที่เป็นแหล่งผลิตวัคซีนใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอินเดีย ยิ่งแย่กว่า เพิ่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้แค่ 4 เปอร์เซ็นต์

ล่าสุดรายงานข่าวเมื่อ 31 มีนาคมนี้ ระบุว่าออสเตรเลียยอมรับชัดเจนว่า โครงการกระจายวัคซีนของตนล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในแผนการถึง 83-84 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การกระจายวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในเวลาเดียวกัน ข้อมูลเหล่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกชาติต้องล่าช้า หรือต้องเจอกับปัญหาเหล่านี้เหมือนๆ กันแต่อย่างใดทั้งสิ้น

พูดง่ายๆ ก็คือ การกระจายวัคซีนเป็นเครื่องวัดประสิทธิภาพของรัฐบาลและหน่วยงานที่เป็นองคาพยพในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีครับ

 

อูมาเอียร์ จามาล ผู้สื่อข่าวของอาเซียนทูเดย์ ร่ายยาวเรื่องโครงการกระจายวัคซีนของไทยเอาไว้ในเว็บไซต์เมื่อ 31 มีนาคม ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า รัฐบาลไทยสั่งซื้อวัคซีนโควิด-19 เอาไว้ทั้งสิ้น 63 ล้านโดส

ในจำนวนนี้แยกเป็น 26 ล้านโดสที่เป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า-ออกซ์ฟอร์ด ซึ่งจะผลิตโดยบริษัท “สยามไบโอไซเอนซ์” ของไทย

อีกส่วน ราว 2 ล้านโดส เป็นวัคซีนที่พัฒนาและผลิตในประเทศจีนอย่างซิโนแวค ส่วนที่เหลืออีก 35 ล้านโดส รัฐบาลสั่งซื้อโดยตรงจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

เป้าหมาย “คร่าวๆ” ที่รัฐบาลไทยประกาศเอาไว้ก็คือ ภายในสิ้นปี 2021 นี้ ประชากรวัยผู้ใหญ่ของไทยต้องได้รับวัคซีนไปแล้วราวครึ่งหนึ่ง

แต่พ้นจากตัวเลขและการคาดการณ์ที่ว่านั้นแล้ว โครงการกระจายวัคซีนของไทยเราถือว่าสร้างความสับสนและงุนงงได้มากถึงมากที่สุดมาตลอด ตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้ครับ

 

ตัวอย่างเช่น ใครคือคนที่ควรได้รับวัคซีนก่อนอื่น? คำตอบของคำถามข้อนี้มีชัดเจนอยู่อย่างเดียวคือ บุคลากรทางสาธารณสุข แต่หลังจากนั้นแล้ว แกว่งไปแกว่งมาตลอดเวลา

เริ่มต้นจากการบอกว่า คนกลุ่มเสี่ยง (คือผู้สูงอายุ) ควรได้รับก่อน แต่พอมีการพูดถึงท่องเที่ยวกันมากๆ ก็บอกกันว่า จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวควรได้รับก่อน พอมาถึงตอนนี้ที่เกิดปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ก็บอกว่า คนในจังหวัดชายแดนควรได้รับวัคซีนก่อน

“ควรได้รับก่อน” ที่ว่านั้นคือเมื่อใด? มาจากวัคซีนก้อนไหน? ที่ไหนและอย่างไร? กลายเป็นความสับสนชนิดที่จามาลบอกว่า เหมือนกับไม่มีการเตรียมความพร้อม ไม่มีแผนแน่ชัด และไม่ตระหนักถึงความเร่งด่วน

ที่สำคัญก็คือ ความคลุมๆ เครือๆ ที่ว่านี้ ก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง “การนำเข้าของเอกชน” ขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ

ตัวอย่างเช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตอะไรสักอย่าง ต้องการความ “ชัวร์” ว่าพนักงานของตนจะไม่ติด ไม่แพร่เชื้อ ก็จะถามหาวัคซีนชนิดที่ “พร้อมจ่าย” ในราคาสูง เปิดช่องให้สถานพยาบาลบางกลุ่มบางก้อน “แสวงหากำไร” ได้

อย่างที่จามาลบอกว่า มีหลายโรงพยาบาลวางแผนจะชาร์จกันเข็มละ 2,000 บาทก็มี

แถมยังอาจกลายเป็นปัญหา “ความเหลื่อมล้ำทางวัคซีน” ขึ้นตามมา เพราะคนมีสตางค์ก็จะได้วัคซีนก่อน ได้วัคซีนที่ปลอด “ผลข้างเคียง” ในขณะที่สามัญชนคนยากจนก็ต้องร้องเพลง “รอ” กันอย่างเดียวเท่านั้น

ทำนองเดียวกับการแสดงท่าทีเปิดไฟเขียวให้จังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดซื้อวัคซีนเองได้ ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่รายได้น้อย เศรษฐกิจตกต่ำเพราะการแพร่ระบาด ก็จะกลายเป็นอยู่ล้าหลังเอามากๆ อีกครั้ง

ทั้งยังเปิดโอกาสให้เรื่องของวัคซีนที่เป็นเรื่องความเป็นตาย สามารถกลายเป็นเรื่องการแสวงประโยชน์ในทางการเมืองได้อีกต่างหาก

 

การกระจายวัคซีนควรเป็นเรื่องของความเสมอภาค เหมาะสม โปร่งใส ที่ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ในการเข้าถึงของทุกกลุ่มที่ชัดเจน เป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน โดยเฉพาะรายละเอียดของแผนการและระยะเวลา

ประกาศออกมาเถอะครับ แล้วจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ว่ากันไป ตามเหตุและผลที่มี ผมว่าประชาชนมีเหตุมีผลเพียงพอที่จะยอมรับกับการปรับเปลี่ยนด้วยเหตุผลได้

อย่าล้อเล่นกับความรู้สึก “เครียด” และ “คาดหวัง” ของคนทั้งชาติเลยครับ